“สมศักดิ์ จังตระกุล” ผู้ว่าฯขอนแก่น ดึงเครือข่ายโลจิสติกส์ เชื่อมการค้า-ลงทุน ดันจีพีพีโต 4%

สัมภาษณ์

หลายโครงการของเมืองขอนแก่นเริ่มเห็นแนวทางชัดเจนมากขึ้นในปี 2562 โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ที่กำลังเดินหน้าก่อสร้างอย่างเต็มกำลัง เช่น การก่อสร้างสนามบิน สถานีกระจายสินค้าคอนเทนเนอร์ยาร์ด Container Yard แต่หลายโครงการยังคงชะลอตัวและต้อง

เตรียมความพร้อมก่อนดำเนินการ อาทิ โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อผลักดันให้ขอนแก่นเป็นแหล่งธรณีโลกในประเทศไทย เป็นแห่งที่ 2 (ขอนแก่นจีโอพาร์ค) รวมไปถึงอีกหลายด้านที่ “สมศักดิ์ จังตระกุล” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ฉายภาพทิศทางของจังหวัดในช่วงครึ่งปีหลังกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขอนแก่นอยู่ในระหว่างการตบแต่งเมืองก่อนออกไปสู่สายตาชาวโลก

เตรียมยุทธศาสตร์รับ นทท.

ยุทธศาสตร์ในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 ของจังหวัดขอนแก่นจะยังคงอยู่ในช่วงพัฒนา หลังจากภาพรวมของระบบรางรถไฟดีพร้อมไม่มีปัญหา รอแค่รถไฟรางคู่ (ครม.มีมติอนุมัติสายบ้านไผ่-นครพนม เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 62) รถไฟความเร็วสูงที่จะเข้ามาเท่านั้น ซึ่งมีแผนงานของจังหวัดรองรับไว้แล้ว หากมีความชัดเจนของโครงการเมื่อไหร่สามารถเคาะระฆังเดินหน้าได้ทันที นอกจากนี้ ยังเร่งเตรียมผู้คนในเรื่องภาษาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์เด่น เช่น ศูนย์หัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่ ที่ได้ผ่านการประเมินจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) แล้ว รวมถึงการผลักดันแหล่งฟอสซิลไดโนเสาร์ ที่อำเภอภูเวียง และเวียงเก่า เตรียมจัดตั้งโครงการอุทยานธรณีขอนแก่น (จีโอพาร์ค) ในอนาคตอีก 3 ปี โดยจะเสนอ ครม.เพื่อให้รองรับการเป็นอุทยานธรณีในระดับประเทศก่อนในช่วงเดือนตุลาคมนี้

ด้านโลจิสติกส์ ปัจจุบันระบบการขนส่งทางถนน จังหวัดขอนแก่นถือว่ามีความสะดวกและปลอดภัยในการสัญจร สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่นแห่งที่ 3 กำลังลงตัว โครงการก่อสร้างระบบมอเตอร์เวย์จากนครราชสีมา-ขอนแก่น ก็เริ่มมีความชัดเจน ขณะเดียวกัน การปรับปรุงสนามบินก็ก่อสร้างเข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว จากสัญญา 30 เดือน ด้วยงบประมาณ 2,500 ล้านบาท ในการขยายอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับคนจาก 1.5 ล้านคน มาเป็น 5 ล้านคน และมีงบประมาณอีกกว่า 500 ล้านบาท เพื่อขยายหลุมจอดเครื่องบินจาก 5 หลุม เป็น 11 หลุม ที่จะเสร็จภายใน 27 เดือน ซึ่งจะมีการประเมินศักยภาพและวางระบบทางเดินอากาศควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรม สร้างศูนย์ซ่อม-สร้างเครื่องบินขนาดกลางและขนาดเล็กด้วย

“เราถือว่าเป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จในเรื่องถนนหนทาง จากการประเมินในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 นักท่องเที่ยวมาเที่ยวในจังหวัดขอนแก่นมากขึ้น เงินสะพัดในช่วงนั้นประมาณ 200 ล้านบาท เที่ยวบินทุกไฟลต์เต็ม และต้องเพิ่มไฟลต์บินอีกประมาณ 20% รถไฟเพิ่มมาอีก 1 เที่ยว ส่วนรถบัสขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งสนามบินขอนแก่นยังรับได้อีก แต่มีข้อจำกัดทางกายภาพของพื้นที่ที่ต้องขยายเพิ่มขึ้น และเรากำลังแสวงหาสายการบินที่เชื่อมต่อไปยังต่างประเทศด้วย แต่ไม่อยากเปิดตลาดเร็วเกินไป เพราะเราจะต้องตกแต่งเมืองเสียก่อนเพื่อให้พร้อมทุกด้านจะเกิดผลดี หากเราไม่พร้อมแล้วนักท่องเที่ยวมาไม่ประทับใจอาจจะทำให้สถานการณ์พลิกกลับและซบยาว”

โครงการระหว่างดำเนินการ

ทั้งนี้ โครงการสำคัญที่ยังชะลอตัวอยู่ คือ การก่อสร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) มีปัญหาอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.ที่ดินที่จะเป็นพื้นที่โดยรอบสถานี หรือจุดจอด transit oriented development (TOD) ของ LRT ที่จะขอใช้ที่ดินจากกรมการข้าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อรองแลกเปลี่ยน 2.การขอใช้เกาะกลางถนนมิตรภาพ ซึ่งจะเป็นเส้นทางของรถไฟฟ้า LRT สายแรก ระยะทาง 22.6 กิโลเมตร โดยกรมทางหลวงได้ตอบประสานงานเบื้องต้นแล้ว แต่จะต้องแก้จุดตัดเสาไฟฟ้าร่วมกับเทศบาล และโครงการยังเปิดกว้างสำหรับผู้ลงทุน

ในปี 2562 จะมีโครงการที่เริ่มการก่อสร้าง คือ ทางรถไฟรางคู่ (North-South Economic Corridor) โดยมีจุดตัดอยู่ที่บ้านไผ่เป็นสี่แยกใหญ่ของระบบราง ขณะเดียวกัน โครงการท่าพระคอนเทนเนอร์ (Container Yard) คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ภายใน 1-2 เดือนนี้ และโครงการท่าเรือบกได้รับอนุมัติให้สร้างแล้วที่อำเภอน้ำพอง ซึ่งเป็นพื้นที่อีกหนึ่งจุดที่จะมีการขยายตัวของเมืองมากขึ้น โดยท่าเรือบกทั้ง 4 แห่งในประเทศไทยจะเริ่มก่อสร้างจุดแรกที่แปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจากนั้นในปี 2565-2568 จะก่อสร้างที่จังหวัดนครราชสีมา กับจังหวัดขอนแก่น และก่อสร้างจุดสุดท้ายที่จังหวัดนครสวรรค์

นอกจากนี้ จังหวัดขอนแก่นยังมีแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ โดยการรถไฟฯ transit oriented development (TOD) เพื่อสร้างสวนสนุก ออฟฟิศบิลดิ้ง ซึ่งจุดนี้จะเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงในอนาคต สอดรับกับแบบสอบถามความคิดเห็นของทางจังหวัด ที่ได้รับอนุมัติให้พัฒนารถไฟฟ้ารางเบา LRT เป็นการเชื่อมโยงระบบรถไฟจากเมืองไปสู่ชุมชน และเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ

ตั้งเป้าจีพีพีโต 4%

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดขอนแก่น ล่าสุดอยู่ที่ 5.27 ล้านคน โดยทางจังหวัดขอนแก่นจะมีกิจกรรมและเทศกาลงานต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น งานเทศกาลหมอลำคาร์นิวัล (MOR LUM Carnival) งานรำบวงสรวงเทศกาลงานไหม รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ผานกเค้า ปรากฏการณ์ที่ค้างคาวนับล้านตัวที่อาศัยอยู่ในถ้ำค้างคาว ตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติภูผาม่านบินออกหากินพร้อมกันในช่วงเย็นเป็นทางยาวหลายกิโลเมตร และสวนสัตว์ ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์

“ปัจจุบันรายได้ประชากรของขอนแก่นอยู่ที่ประมาณ 119,000 บาท/คน/ปี เป็นรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่สูงที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เรายังไม่พอใจ จะต้องพยายามหากิจกรรม เพื่อเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น ปัจจุบันตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) อยู่ที่ประมาณ 197,000 ล้านบาท

และคาดว่าในปี 2562 น่าจะขยายตัวที่ 4% จากปีที่ผ่านมาเติบโต 3% มาจาก 3 ส่วน คือ 1) ภาคอุตสาหกรรม 45% 2) ภาคการเกษตร 30% 3) ภาคพาณิชยกรรม การศึกษา และการบริการ โดยภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับประชาชนได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปลูกข้าวสามารถทำได้เพียง 1 รอบ/ปี ฉะนั้น ระบบเมืองของเราจะเน้นการพัฒนาให้เป็นจุดสนใจของการลงทุน การบริการ การท่องเที่ยว การค้าขาย รวมไปถึงการสร้างงานในระบบอุตสาหกรรม เพื่อจะผลักดันรายได้ของประชาชนให้เพิ่มมากที่สุด”