3 หมื่นรายแจ้งรุกลำน้ำ ลุ้น “ใบอนุญาต” “ตราด” แชมป์ให้ความร่วมมือเกิน 90%

ภายหลังหมดเขตการแจ้งข้อมูลสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำวันสุดท้าย วันที่ 1 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ข้อมูลจากกรมเจ้าท่า ระบุว่า ทั่วประเทศมีผู้มาแจ้งประมาณ 30,000 ราย ถือเป็นตัวเลขที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นจำนวนที่มากน้อยเพียงใด เนื่องจากยังไม่มีตัวเลขสิ่งล่วงล้ำลำน้ำอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่หมดเขตผู้ที่มาแจ้งแต่หลักฐานไม่ครบ สามารถนำมายื่นให้ครบภายใน 180 วัน ซึ่งจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาตรวจสอบหลักฐานในการขึ้นทะเบียน

โดยรายละเอียดได้ระบุในประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการพิจารณาอนุญาตปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 มีดังนี้

เจ้าท่าพิจารณา 180 วัน

สิ่งล่วงล้ำที่เจ้าท่าสามารถขึ้นทะเบียนได้เลย คือ สิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำทุกพื้นที่ ที่สร้างตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2456-วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2515 ยกเว้นกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ

ส่วนที่ต้องรอการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่นั้นมี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. สิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ที่สร้างตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2456-วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2515 2. สิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั่วประเทศที่สร้างตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2515-วันที่ 23 สิงหาคม 2537 3. สิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั่วประเทศ ที่สร้างตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2537-วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560

โดยการพิจารณาประเภทสิ่งปลูกสร้างก่อนปี 2515 และระหว่าง 18 กุมภาพันธ์ 2515-23 สิงหาคม 2537 ไม่จำกัดประเภท ส่วนสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำที่สร้างตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป กำหนดให้อนุญาตได้มีเพียง 17 ประเภท ได้แก่ 1. ท่าเทียบเรือ 2. สะพานปรับระดับ และโป๊ะเทียบเรือ 3. สะพานข้ามแม่น้ำ หรือสะพานข้ามคลอง 4. ท่อ หรือสายเคเบิ้ล 5. เขื่อนกันน้ำเซาะ

6. คานเรือ 7. โรงสูบน้ำ 8. กระชังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 9. ท่าเทียบเรือชนิดทางลาดในแม่น้ำโขง 10. ปะการังเทียม 11. ท่อลอด 12. แพสูบน้ำ 13. เขื่อนกันทรายกันคลื่น 14. ฝายน้ำล้น 15. สะพานทางเดิน 16. อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้สำหรับวิถีชุมชนดั้งเดิม การประกอบอาชีพในภาคการเกษตร และศาสนสถาน และ 17. สิ่งปลูกสร้างสำหรับส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ ตามประกาศกระทรวงคมนาคม มีดังต่อไปนี้ 1. สิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำต้องไม่มีลักษณะ หรือสภาพที่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ หรือทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลงไป หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2. การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ล่วงล้ำลำแม่น้ำ ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น และสมควรตามวัตถุประสงค์ 3. การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ล่วงล้ำลำแม่น้ำต้องไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการประมง และ 4. สิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำต้องมีสภาพเหมาะสม และปลอดภัยในการใช้งาน

ส่วนกรณีที่เจ้าท่าเพิกถอนการขึ้นทะเบียน หรือเพิกถอนการอนุญาต เจ้าของสิ่งล่วงล้ำลำน้ำต้องดำเนินการรื้อถอนต่อไป

ขณะที่สิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 การขออนุญาตต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ผู้ได้รับอนุญาตต้องชำระค่าตอบแทนรายปีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สิ่งปลูกสร้างนั้นตามที่กำหนด ขณะที่กระชังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำสำหรับการประกอบอาชีพในภาคเกษตรไม่เก็บค่าตอบแทนรายปี

เกาะช้างลุ้นชาวบ้านขึ้นทะเบียน

จังหวัดตราด ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการรุกล้ำมาก ประมาณ 5,000 กว่าหลังคาเรือน รวมพื้นที่ประมาณ 350,000-400,000 ตารางเมตร ทำให้กรมเจ้าท่าตราดต้องออกไปให้บริการนอกพื้นที่ เป็นผลให้ยอดผู้แจ้งสูงถึง 90%

“จักรกฤชณ์ สลักเพชร” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะช้างใต้ กล่าวว่า อบต.เกาะช้างใต้ได้สำรวจบ้านในน้ำจำนวน 5 หมู่บ้าน มีบ้านที่ได้รับผลกระทบ 271 ครัวเรือน พื้นที่ 79,699 ตารางเมตร ตั้งแต่ก่อนยื่นเอกสารได้ส่งเจ้าหน้าที่ อบต.ไปช่วยชาวบ้านวัดพื้นที่บ้าน ถ่ายรูป และคัดสำเนาการขอใช้ไฟฟ้าจากอำเภอ เพื่อนำไปยื่นให้เจ้าท่า และนำเรื่องให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณา เช่น บางครอบครัวอยู่มานานแต่บางรายเพิ่งมาขอใช้ไฟฟ้าในปี 2538 หรือการรับรองสำเนาทะเบียนบ้านก่อนปี 2515 ซึ่งเดิมไม่มีระบุปี พ.ศ.ไว้ อาทิ หมู่บ้านสลักเพชร หมู่ที่ 2 รุ่นแรกอยู่กันมาร่วม 80-100 ปี ขณะที่รุ่นหลังมาอยู่ประมาณปี 2516 ทำอาชีพประมง ทำสวน เป็นต้น

“ขณะนี้ อบต.เกาะช้างใต้ได้ทำข้อมูลทั้งตำบลเพื่อให้คนที่อยู่ปัจจุบันอยู่ได้ แต่ห้ามสร้างเพิ่มขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตามใน อบต.เกาะช้างใต้ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 3 เกือบทั้งหมดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างที่ประกาศทับซ้อนที่ของชุมชน ปัจจุบันมีทั้งบ้านเรือน และรีสอร์ต ตอนนี้ได้ยื่นเรื่องให้หน่วยงานรัฐบาลแก้ไขให้ชาวบ้านทั้งหมดตั้งแต่ปี 2541 แต่ยังรอการพิสูจน์สิทธิ ต้องเป็นชาวบ้านที่อยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานวันที่ 31 ธันวาคม 2525” นายจักรกฤชณ์กล่าว

ทับซ้อนพื้นที่ป่าสงวนต้องแจ้ง

ด้าน “ไตรรัตน์ เรือนนาม” หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 4 (น้ำเชี่ยว-ตราด) กล่าวว่า พื้นที่ป่าสงวนเป็นสภาพป่าชายเลน มีชาวบ้านได้สร้างบ้านที่อยู่อาศัยก่อนมีมติคณะรัฐมนตรี 23 กรกฎาคม 2534 จะอนุญาตให้ชาวบ้านที่ยากจนได้อยู่อาศัยได้ แต่ต้องมาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าแต่อย่างใด ซึ่งต่อไปคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

ผู้ว่าราชการจังหวัดประธาน คทช.จังหวัด จะได้แก้ไขบริหารจัดการที่ดินให้ชุมชน ที่ผ่านมาสำนักงานได้ส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการสำรวจแล้ว มอบให้ผู้นำหมู่บ้านเป็นผู้ดำเนินการด้านเอกสารให้ชาวบ้านกรอกข้อมูล แต่ในสภาพจริง ๆ แล้วชาวบ้านยังให้ความร่วมมือน้อย และเมื่อพื้นที่ไปทับซ้อนกับที่ของกรมเจ้าท่า เช่น บ้านอ่าวกรูด ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมืองตราด บ้านปากคลองน้ำเชี่ยว บ้านยายม่อม อ.แหลมงอบ บ้านไม้รูด อ.คลองใหญ่ ตอนนี้ชาวบ้านบางรายสับสนกับหลายหน่วยงานเข้าใจว่าขออนุญาตกรมเจ้าท่าแล้ว ไม่ต้องแจ้งสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่มีจำนวน 4 แห่งในจังหวัดตราด

“ประดิษฐ์ คุ้มชนม์” นายกองค์การบริหารตำบลแหลมกลัด อ.เมืองตราด จ.ตราด กล่าวว่า อบต.แหลมกลัด มีประชากรประมาณ 3,000 ครัวเรือน 10 หมู่บ้าน โดย 5 หมู่บ้าน 322 หลังคาเรือน ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ มีเจ้าหน้าที่มารับแจ้งในพื้นที่น่าจะเกิน 90% อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้มีปัญหาในอนาคต ควรมีการจัดทำผังหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน โดยให้มีตัวแทนในสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หมู่บ้านละ 2 คน คณะกรรมการหมู่บ้านต้องเป็นผู้สำรวจข้อมูล จัดทำผังชุมชน เพื่อให้ท้องถิ่นดูแลกันเองเพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด

งานนี้ลุ้นไม่นานอีก 180 วัน เป็นอันรู้ผล