ชาวนาตะโหมดชูข้าวอินทรีย์ ตั้งเป้าลดละเลิกสารเคมีปี’65

ภาพ Piixabay

“กลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมด” จังหวัดพัทลุงเลิกใช้สารอันตรายปี 2565 ขณะที่มีเกษตรกรฝ่ายสนับสนุนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ออกมาประท้วงในต่างจังหวัดมีความเคลื่อนไหวที่จะเลิกใช้สารเคมีดังกล่าว

นายอนุชา เพ็ญจำรัส ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมด ซึ่งเคยจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรให้กลุ่มและลูกค้าอื่น ๆ สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มประมาณ 1 ล้านบาท/ปี และได้ทยอยเลิกการจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตร โดยตอนนี้เหลือประมาณ 10% และในปี 2565 ทางกลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมดจะประกาศเป็นเขตปลอดสารเคมี ทั้งนี้ เพราะกลุ่มได้เริ่มดำเนินการทำการเกษตรปลอดสารเคมีมาต่อเนื่องหลายปี โดยหันมาทำนาอินทรีย์ และดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ประมาณ 300 ไร่ และทำนาตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ปลอดสารเคมี แต่ยังใช้ปุ๋ยอยู่ประมาณ 100 ไร่ ก่อนที่จะก้าวสู่การทำนาอินทรีย์ต่อไป และขยายผลถึงสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และสวนผลไม้

“ชาวบ้านในกลุ่มส่วนใหญ่ทำนาข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมือง โดยสามารถสร้างรายได้ประมาณ 18,000-20,000 บาทต่อตัน”

นายฤชัย วงศ์สุวัฒน์ ผู้ประกอบการร้านจำหน่ายสินค้าการเกษตร จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สารเคมีไกลโฟเซต พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ทั้ง 3 ตัว จ.พัทลุง ปริมาณการใช้น้อยมาก เพราะเป็นพื้นที่ทำการเกษตรขนาดเล็ก ขนาดย่อม ไม่ได้ทำการเกษตรแปลงขนาดใหญ่

แหล่งข่าวจากนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรในจ.พัทลุง ได้ลด ละ และเลิกใช้ 3 สารเคมี คือพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในการกำจัดแมลง ฆ่าหญ้า วัชพืช มาร่วม 10 ปีแล้ว เพราะได้ทำเกษตรอินทรีย์ และมีนโยบายเข้าสู่เมืองเกษตรอินทรีย์ ที่สำคัญเกษตรกรได้เลี้ยงผึ้งโพรงไทยทุกอำเภอ จึงต้องเลิกใช้สารเคมี ยังใช้เครื่องตัดหญ้า จ้างตัดหญ้า และคนรุ่นใหม่เข้าทำอาชีพทำการเกษตรเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคเองก็ตื่นตัว

“จ.พัทลุงคาดว่าเหลือคนใช้สารเคมี 30% ส่วนใหญ่ใช้ฆ่าหญ้าในสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน”