จี้รัฐตั้งโรงงานยางอัดก้อนทำ ‘แก้มลิง’ แก้ราคาดิ่ง

กลุ่มวิสาหกิจคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยแนะรัฐลงทุนตั้ง “โรงงานยางอัดก้อน” ทำเป็น “แก้มลิง” เก็บสต๊อกแก้ยางราคาดิ่ง

นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกรรมการ กลุ่มวิสาหกิจคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยถ้ำพรรณรา (วคยถ.) และกรรมการสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้แกนนำเกษตรกรยาง วิสาหกิจชุมชนยาง และสหกรณ์ยาง กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนกลาง จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และ จ.พัทลุง จำนวน 20 คน ได้ประชุมร่วมกัน โดยทางกลุ่มมีมติให้มีมาตรการเสริมต่อจากโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางจากรัฐบาล เพราะโรงรมยางของกลุ่มขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีมาตรการควบคุมจำนวนโรงรมยางที่มีการขยายตัวประมาณ 500 แห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันเสนอราคารับซื้อน้ำยางสดเกินความเป็นจริง เพื่อป้อนเข้าสู่โรงรม จนในที่สุดทั้งโรงรมเก่าและใหม่ต้องประสบภาวะขาดทุน ขณะนี้โรงรมยางส่วนหนึ่งทยอยปิดกิจการ อีกส่วนหนึ่งที่เหลือลดกำลังการผลิตเหลือประมาณ 50% แล้วหันมาทำน้ำยางสด ซึ่งเมื่อมีการผลิตน้ำยางสดมีปริมาณมาก จะไม่เกิดความสมดุล น้ำยางสดจะถูกส่งเข้าสู่ลานน้ำยางสดปริมาณมาก ส่งผลกดดันให้ราคาน้ำยางสดถดถอยลงในที่สุด

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ จะต้องดำเนินการออกแบบป้องกัน 1.ต้องประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง 2.ควบคุมคุณภาพการผลิตโรงรมยาง 3.ออกกฎหมายควบคุมโรงรมยาง 4.ควบคุมผู้แปรรูปผลิตยางทุกประเภท 5.พื้นที่ยางทุกแปลงจะต้องจดทะเบียนทั้งหมด โดยออกกฎหมายควบคุม และหากไม่ดำเนินการถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขในการบริหารจัดการยางทั้งระบบ นอกจากนี้ โรงรมยางจะต้องมีการขยายผลต่อยอด คือจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมยางลูกขุน หรือยางอัดก้อน เป็นการสร้างแก้มลิงเก็บสต๊อกรักษายาง แล้วออกขายเมื่อได้ราคาที่พอใจ และเป็นการป้องกันการแกว่งของราคายางได้ เพราะยางลูกขุนสามารถสต๊อกได้ประมาณ 2-3 ปี ขณะที่ยางรมควันสามารถเก็บได้ไม่เกิน 1 เดือน เมื่อราคาแกว่งก็ประสบภาวะขาดทุน แต่เมื่อต่อยอดเป็นยางลูกขุนหรือยางอัดก้อน ราคาแกว่งก็สต๊อกไว้ เมื่อได้ราคาดี ก็ออกขาย เป็นทางออกป้องกันความเสี่ยง”

ทางด้านนายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ยางรมควันต้องแปรรูปเป็นยางลูกขุนหรือยางอัดก้อนส่งขาย ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้ระยะยาว ปัจจุบันภาคใต้มีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นยางลูกขุนประมาณ 10 โรง เช่น จ.กระบี่ พัทลุง สงขลา สุราษฎร์ธานี สตูล และนครศรีธรรมราช ทั้งนี้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางรมควันเป็นยางลูกขุน จะเป็นแก้มลิงเก็บรักษาได้อย่างมีคุณภาพ ยางก็อยู่ในมือของเกษตรกรเอง เมื่อราคาแกว่งก็เก็บสต๊อกไว้ และเมื่อราคาดีนำออกขาย

นายประยูรสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า ส่วนน้ำยางสดก็เช่นกันที่เกษตรกรต้องขายวันต่อวัน เพราะไม่มีแก้มลิงเก็บรักษาคือโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น สถาบันเกษตรกรมีแห่งเดียวทั้งประเทศไทยคือที่ จ.ตราด

“โรงงานอุตสาหกรรมยางลูกขุน พร้อมโกดัง อุปกรณ์ ลงทุนแห่งละประมาณ 20 ล้านบาท ส่วนเงินทุนหมุนเวียนต้องใช้มาก เพื่อนำมาลงทุนซื้อยางเก็บสต๊อก ส่วนน้ำยางสดต้องตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น ซึ่งถ้าจะให้สามารถสต๊อกน้ำยางข้นทั้งภาคใต้ได้ อาจจะต้องลงทุนถึง 200 ล้านบาท เพื่อเป็นแก้มลิง ตรงนี้ทำเป็นเชิงพาณิชย์ได้”

นายประยูรสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับเงินทุนหมุนเวียนดำเนินการได้ โดยจัดตั้งกองทุนยาง ให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน โดยเกษตรกรสามารถนำยางค้ำประกัน เพื่อเอาเงินทุนมาหมุนเวียน ถือเป็นทางออกทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ