ม.หาดใหญ่เผย”ชิม ช้อป ใช้” พร้อม 4 มาตรการรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (1 พฤษจิกายน 2562) ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2562 โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความสุขในการดำเนินชีวิต รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว รายได้จากการทำงาน ฐานะการเงิน รายได้หักรายจ่าย

ผศ.ดรวิวัฒน์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกส่วนหนึ่งมาจากเกษตรกร ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในโครงการประกันราคาผลผลิตทางการเกษตร ปาล์มน้ำมันที่ราคา 4 บาท / กก. ราคายางที่ 60 บาท /กก. ไม่เกิน 25 ไร่ / ครัวเรือน ประราคาข้าวและประกันราคามันสำปะหลัง ทำให้ประชาชนเพิ่มการจับจ่ายใช้มากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ระยะที่ 2 มี 4 มาตรการ คือ 1 มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้ 1 และ 2” มี 2 มาตรการลดภาระเพื่อที่อยู่อาศัย 3 มาตรการเพื่อสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. 4 มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งส่งเสริมการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวของประชาชน

ทั้งนี้ เดือนตุลาคม มีวันหยุดชดเชยวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร และวันหยุดปิยมหาราช ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางท่องเที่ยว เพื่อเป็นการพักผ่อนในวันหยุด
นอกจากนี้ ในต้นเดือนตุลาคม เป็นช่วงเทศกาลกินเจของประชาชนเชื้อสายจีน ซึ่งจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ทั้งค่าอาหารเจ และค่าเดินทางไปทำบุญ แต่ประชาชนส่วนใหญ่จะจับจ่ายน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบ และผักต่าง ๆ ราคาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น อีกทั้งส่วนหนึ่งมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น และยังไม่มั่นใจว่าจะฟื้นตัวเมื่อใด จึงจำเป็นต้องควบคุมการใช้จ่ายเงิน

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.70 และ 38.90 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 39.30 และ 37.90 ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 33.70 , 36.80 และ 34.70 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 28.50 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 22.10 และ 14.90 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ

สำหรับบรรยากาศ “ชิม ช้อป ใช้” ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาแม่ขรี ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ต่างเต็มไปด้วยผู้ลงทะเบียน ช้อปชิม ใช้ ไปลงทะเบียนสแกนใบหน้า ค่อนข้างเนืองแน่นตั้งแต่ก่อนเปิดทำการธนาคาร โดยธนาคารเปิดช่องทำการบริการเต็มพิกัดทั้งหมด จำนวน 6 ช่อง บริการให้กับลูกค้าที่มาทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคาร และพร้อมกับใช้บริการชิม ช้อป ใช้ อย่างรวดเร็ว โดยประมาณ 50 นาที ต่อ 100 คน