“ห้วยยอด” ตรังปรับผังเมืองใหม่ วางพื้นที่ 5.3 หมื่นไร่บูมท่องเที่ยว

ถ้ำเลเขากอบ อ.ห้วยยอด

ห้วยยอด จ.ตรังเร่งปรับผังเมืองใหม่ เปิดเวทีประชาพิจารณ์รอบ 2 พื้นที่ 7,475.66 ไร่ ให้สอดรับเศรษฐกิจ พร้อมวางผังแม่บทการท่องเที่ยวพื้นที่ชุมชนเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยว 53,477 ไร่ หวังกระตุ้นรายได้ท่องเที่ยว

นายวุชญุตม์ ทองแป้น ปลัดอาวุโส รักษาราชการแทนนายอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นการศึกษาและออกแบบวางผังเมืองในพื้นที่เฉพาะชุมชนห้วยยอด ครั้งที่ 2 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรประชาชน และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่วางผังเฉพาะชุมชนห้วยยอดกว่า 100 คนเข้าร่วม เพื่อระดมความคิดเห็นในการออกแบบและวางผังเมืองให้มีความเหมาะสมและเพิ่มศักยภาพในการใช้พื้นที่

สำหรับการดำเนินงานโครงการศึกษาและออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะชุมชนห้วยยอด มีพื้นที่ประมาณ 11.96 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,475.66 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.60 ของพื้นที่ และพื้นที่ผังแม่บทการท่องเที่ยวพื้นที่ชุมชนห้วยยอดและพื้นที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยว ครอบคลุมเทศบาลตำบล1 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 4 แห่ง รวมพื้นที่ผังแม่บทการท่องเที่ยว 85.56 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 53,477 ไร่

เขาหัวแตก ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด

“ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการเพื่อให้มีผังพื้นที่เฉพาะ ที่สามารถเชื่อมโยงทิศทางการพัฒนาทางผังเมืองจากระดับผังประเทศ ผังภาค ผังอนุภาคกลุ่มจังหวัด และผังเมืองรวมจังหวัด เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ภายในประเทศ มีการส่งเสริมให้พัฒนาโครงข่ายการเชื่อมโยงการคมนาคม และการขนส่งให้สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ มีการกำหนดแนวทางพัฒนาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับข้อจำกัด และศักยภาพของแต่ละพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่ออำนวยประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น” นายวุชญุตม์กล่าว

รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังจังหวัดตรังประจำเดือนกันยายน 2562 เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัว พิจารณาจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน (การผลิต) ขยายตัว จากภาคบริการ ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ด้านอุปสงค์ (การใช้จ่าย) ขยายตัว ตามดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน และดัชนีการใช้จ่ายภาครัฐ สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวเพิ่มขึ้น การจ้างงานขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาเศรษฐกิจด้านอุปทาน (การผลิต) พบว่า มีสัญญาณขยายตัว เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากดัชนีผลผลิต ภาคบริการ ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากการเพิ่มขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมภัตตาคาร ร้อยละ 12.6 ดัชนีผลผลิต ภาคเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.8 ตามปริมาณผลผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไมที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.6 จากการขยายตัวของทุนจดทะเบียนอุตสาหกรรมใหม่ และจำนวนโรงงาน ร้อยละ 18.3 และ 3.2 ตามลำดับ

ทั้งนี้ในส่วนมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ชิม ช้อป ใช้ ที่ผ่านมาพบว่า จังหวัดตรังมีนักท่องเที่ยวมาใช้สิทธิ 128,509 คน ในขณะที่คนตรังไปใช้สิทธิในจังหวัดอื่น 170,388 คน มีร้านค้าเข้าร่วม 1,068 ร้านค้า (ร้านชิม = 582 ร้านช้อป = 106 ร้านใช้ = 58 ร้านทั่วไป = 322) มียอดการใช้จ่ายรวม 107.22 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 8 ของภาคใต้ และลำดับที่ 38 ของประเทศ แบ่งเป็นการใช้จ่ายจากกระเป๋าตังค์ 1 จำนวน 101.03 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78.62 ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายที่ร้านค้าช้อป (ร้าน OTOP วิสาหกิจชุมชน ร้านธงฟ้าประชารัฐ) 75.08 ล้านบาท รองลงมาเป็นร้านค้าทั่วไป 12.73 ล้านบาท ร้านชิม (ร้านอาหารและเครื่องดื่ม) 12.07 ล้านบาท และร้านใช้ (โรงแรม/รีสอร์ต โฮมสเตย์) 1.15 ล้านบาท

สำหรับกระเป๋าตังค์ 2 มียอดใช้จ่าย 6.19 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ1.62 ของเป้าหมายการเบิกจ่าย เป็นการใช้จ่ายที่ร้านช้อป จำนวน 3.88 ล้านบาท ร้านชิม 1.72 ล้านบาท และร้านใช้ จำนวน 0.58 ล้านบาท