โคเนื้อล้านนาปรับตัวรับเปิดเสรีไทย-ออสซี่ปีหน้า

นายสัตวแพทย์พืชผล น้อยนาฝาย รักษาการปศุสัตว์ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อใน จ.เชียงราย และภาคเหนือ ได้ร่วมกันพัฒนาการบริหารจัดการสายพันธุ์และการตลาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทางกรมปศุสัตว์ซึ่งให้การสนับสนุนเกษตรกร ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเครือข่ายโคเนื้อล้านนา มีกำหนดจัดงาน “โคบาลล้านนา ครั้งที่ 2” ขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 ม.ค.นี้ เพื่อให้เกษตรกรแต่ละรายที่ทำการเลี้ยงโคเนื้อได้นำมาประกวดกันและมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มอีกหลายรายการ ณ บริเวณลานข้างสี่แยกแม่กรณ์ ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงรายติดกับถนนพหลโยธิน เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไปอีก

นายสัตวแพทย์พืชผลกล่าวว่า การจัดงานจะมีการแสดงนิทรรศการเพื่อให้ความรู้จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงโคเนื้อ การจัดร้านหรือบูทแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสินค้าเกี่ยวกับการเลี้ยงโคเนื้อ การนำโคเนื้อพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มาจัดแสดงให้ดูความสมบูรณ์ของสายพันธุ์ต่าง ๆ โดยวันแรกหรือวันที่ 10 ม.ค. จะมีีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการและมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย จากนั้นในวันถัด ๆ ไปจะมีการจัดการประกวดโคเนื้อพันธุ์ลูกผสมยุโรปทั้งเพศผู้และเพศเมียในหลายช่วงอายุ การประกวดโคเนื้อพันธุ์ลูกผสมบีฟมาสเตอร์ทั้ง 2 เพศ ในหลายช่วงอายุเช่นกัน การสาธิตการทำอาหารจากเนื้อโคให้กับผู้เข้าร่วมงานได้ชิม การประกวดหนูน้อยคาวบอย-คาวเกิร์ล การแสดงดนตรีจากนักร้องเพื่อชีวิต โดย “อ้น ธวัชชัย ชูเหมือน” จากนั้นในวันสุดท้ายจะมีการประกวดการปรุงอาหารจากผลิตภัณฑ์เนื้อโคคุณภาพต่อไป

ด้านนายนเรศ รัศมีจันทร์ ประธานเครือข่ายโคเนื้อล้านนา กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรในเครือข่ายโคเนื้อล้านนาได้มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น โดยมีการพัฒนาสายพันธุ์หลากหลาย โดยเฉพาะพันธุ์บีฟมาสเตอร์ ซึ่งการผสมผสานที่ลงตัว มีความทนทาน เลี้ยงง่ายเหมาะกับสภาพภูมิประเทศและอากาศของประเทศไทย สามารถใช้พ่อพันธุ์ผลิตโคขุนทดแทนการผสมเทียมในรูปแบบเดิมได้ รวมทั้งมีการสร้างตลาดแบบเป็นระบบโดยมีการขึ้นทะเบียนโคแม่พันธุ์ของสมาชิกทุกตัวด้วยการฝังไมโครชิป โดยปัจจุบันเกษตรกรมีโคเนื้ออยู่รวมกันประมาณ 2,000 ตัว ซึ่งได้มีการบริหารจัดการเลี้ยงให้ได้มาตรฐานและมีตลาดในประเทศที่มีพันธสัญญา มีราคาประกันที่แน่นอนด้วยการซื้อขายแบบชั่งน้ำหนักด้วย ดังนั้นการจัดงานครั้งนี้จึงสามารถช่วยส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรกรในภาคเหนือตอนบนเพื่อให้มีความสามัคคีกันมากขึ้น และจะได้ร่วมกันยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงจากเดิมให้ไปสู่การทำเป็นอุตสาหกรรมโคเนื้อปิดเสรีทางการค้าเนื้อโคระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ในปี 2564 นี้ ทั้งนี้ ทราบว่าจะมีเกษตรกรในเครือขายเข้าร่วมในงานจำนวน 350 ราย โดยจะนำโคเข้าร่วมประกวดจำนวน 120 ตัวด้วยต่อไป