อุดรธานีเตรียมรับภัยแล้ง ปี’63

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอุดรธานีว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563 ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) กับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ในการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

ในส่วนของ ฝ่ายเลขานุการ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี รายงานการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดอุดรธานี ว่า สถานการณ์ในจังหวัดอุดรธานี ยังไม่มีสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ โดยในพื้นที่เสี่ยง หรือคาดว่าจะเกิด จังหวัดเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังในทุกพื้นที่

โดยมีการเตรียมความพร้อม 15 ข้อ ได้แก่ 1.ได้จัดประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้องประชุมสบายดี และครั้งที่ 1/ 2563 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 โดยมีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาในประเด็นการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ และการเตรียมด้านการเกษตร และแนวทาง/ แผนให้การสนับสนุนทรัพยากรในการดำเนินการในพื้นที่ที่คาดว่าจะเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ทันที กรณีหากมีสถานการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่

2.ปรับปรุงแผนเผชิญเหตุภัยแล้งจังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2563 ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสถานการณ์ปัจจุบัน มุ่งเน้นการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และทันเหตุการณ์

3.จัดตั้งศูนย์บัญชาการภัยแล้งจังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2563 ณ สำนักงานปัองกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ ประสานการปฏิบัติ และสนับสนุนการปฏิบัติงาน ตามกลไกของระบบบัญชาการเหตุการณ์ (ICS) โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้ ส่วนอำนวยการ ทำหน้าที่ควบคุม กำกับดูแล และติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามแผนเผชิญเหตุฯ รวมทั้งประสานการปฏิบัติกับศูนย์บัญชาการอำเภอและศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ส่วนปฏิบัติการ ทำหน้าที่ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และทั่วถึงในทุกพื้นที่ ได้แก่

ฝ่ายติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ทำหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำท่า และระดับน้ำในแหล่งเก็บน้ำขนาดต่างๆ ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุน ความต้องการใช้น้ำในด้านต่างๆ เพื่อประกอบการวางแผนบริหารจัดหารน้ำ, ฝ่ายบริหารจัดการน้ำ ทำหน้าที่วางแผนการใช้น้ำต้นทุน ความต้องการใช้น้ำในด้านต่างๆ เพื่อประกอบการวางแผนบริหารจัดการน้ำ และฝ่ายปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทำหน้าที่กำหนดแบ่งพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ โดยมอบหมายหน่วยงานหลักและหน่วยสนับสนุนให้ครอบคลุมในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และทันเหตุการณ์

4.มอบหมายให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ ได้แก่ สำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำอุปโภค บริโภค และมาตรการรับมือ, ดำเนินมาตรการควบคุมการใบ้น้ำในพื้นที่ โดยขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรทำการปิดกั้นลำน้ำ หรือ สูบน้ำเข้าพื้นที่การเพาะปลูก เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค, รณรงค์ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำ และทราบถึงมาตรการบริหารจัดหารน้ำของภาครัฐ รวมถึงเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง/ซ่อมแซมแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า และรายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานตามแผนเผชิญเหตุภัยแล้งอำเภอ ให้กองอำนวยการป้อฝกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานีทราบ เป็นประจำทุกวันจันทร์ ก่อนเวลา 10.00 น. จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

5.กำหนด Water Zoning พื้นที่รับผิดชอบในการในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในการป้องกันแกัไขปัญหาอุทกภัย (น้ำท่วมและน้ำแล้ง) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบูรณาการ การปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนในการป้องกัน แก้ไข ช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติ และใช้เป็นกรอบในการขอรับการสนับสนุนทรัพยากรในการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้กำกับดูแลพื้นที่ ในการประสานการปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 และแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ.2562 โดยให้ทุกพื้นที่ประสานการขอรับการสนับสนุนผ่านทางฝ่ายเลขาฯ (ปภ.) เพื่อจะได้ประสานหน่วยงานตาม Water Zoning ดำเนินการได้อย่างทันท่วงที

6.จัดเตรียมทรัพยากรในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (กรณีหากเกิดภัยแล้งในพื้นที่) กำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย รถยนต์บรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ รถผลิตน้ำดื่ม ฯลฯ แบ่งมอบภารกิจให้ภาคีเครือข่ายรับผิดชอบในการช่วยเหลือประชาชนในแต่ละพื้นที่แบบบูรณาการ ตาม Water Zoning

7.แจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ สำรวจบ่อบาดาลที่ไม่สามารถใช้งานได้และความต้องการในการขุดเจาะบ่อบาดาลใหม่

8.ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจปรับปรุงภาชนะเก็บกักน้ำ แหล่งน้ำ ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ รวมทั้งการขุดลอกคู คลอง แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อให้เก็บกักน้ำได้อย่างเพียงพอ และกำจัดวัชพืชบริเวณแหล่งเก็บกักน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

9.รณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการจัดหาภาชนะ และใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคอย่างประหยัด ถูกวิธี ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งทำความเข้าใจและแนะนำให้เกษตกรปลูกพืชที่ใบ้น้ำน้อย หรือพืชชนิดอื่นทดแทนในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนบริหารจัดการน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพในลักษณะของประชาคมตามที่ได้มีการจัดตั้งไว้

10.วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ รณรงค์ ส่งเสริม ให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย การเฝ้าระวังป้องกันศัตรูพืชระบาด สำรองเมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ

11.การจัดหาหญ้าแห้ง อาหารสัตว์ โดยได้ดำเนินการสำรองอาหารสัตว์ไว้แล้ว จำนวน 10 ตัน และได้จัดเตรียมวัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาโรค

12.เตรียมประสานในเบื้องต้น ในการปฏิบัติการสร้างฝนหลวง หากมีสถานการณ์ในพื้นที่ และจะเริ่มตั้งฐานปฏิบัติการ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป หรือเมื่อสภาพอากาศมีความพร้อม

13.เฝ้าระวังโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จำนวน 9 แห่ง คือ โรงพยาบาลอุดรธานี, กุมภวาปี, ประจักษ์ศิลปาคม, พิบูลย์รักษ์, เพ็ญ, หนองแสง, หนองหาน, ทุ่งฝน และโรงพยาบาลกู่แก้ว ที่มีความเสี่ยงในการขาดแคลนนี้ โดยได้เตรียมความพร้อมทรัพยากรในการปฏิบัติให้ความช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์

14.สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 10 เตรียมความพร้อมทรัพยากรในการให้ความช่วยเหลือ และบริการน้ำ ณ จุดแจกน้ำที่กำหนด

15.กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี ได้ติดตามการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทราบว่าหลายพื้นที่ยังคงสามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และน้ำ เพื่อการเกษตรโดยหน่วยงานในพื้นที่เองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจังหวัดยังคงติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์โดยใกล้ชิด พร้อมให้มีการรายงานผลการดำเนินงานผ่านเครือข่าย Application Line ของจังหวัดและสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้าน สำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยทหารพัฒนา ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี รายงานในที่ประชุมว่า พันเอก ชัยวัฒน์ พูลธนสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ตรวจความพร้อมและเป็นประธานปล่อยขบวนยานพาหนะและยุทโธปกรณ์ พร้อมกำลังพล ออกให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้งในพื้นที่รับผิดชอบ และแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนผู้ประสบภัยแล้ง ที่บ้านหนองไผ่ หมู่ 1 ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองอุดรธานี

โดยพันเอก ณพัฒน์ ปกป้อง รองเสนาธิการ สำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยทหารพัฒนา กล่าวว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้ทุกเหล่าทัพติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด พร้อมลงพื้นที่สำรวจและให้การช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเน้นย้ำให้หน่วยทหารในพื้นที่ประสานการปฏิบัติ พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้สั่งการให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งในทุกภูมิภาคที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผลการปฏิบัติงานเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน ในการนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้สั่งการให้หน่วยขึ้นตรง เตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ต่างๆ ออกให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเร่งด่วน

สำหรับพิธีปล่อยขบวนยานพาหนะและยุทโธปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ทางกองบังคับการสำนักงานพัฒนาภาค 2 และหน่วยช่างพัฒนา ได้จัดกำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 31 นาย พร้อมด้วยยานพาหนะและยุทโธปกรณ์ จำนวน 15 คัน ประกอบด้วย รถบรรทุกน้ำ, รถผลิตน้ำดื่ม, รถขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล, รถขุดเจาะบ่อน้ำตื้น, รถพัฒนาบ่อน้ำบาดาล, รถกึ่งพ่วงชานต่ำ, รถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและรถยนต์บรรทุกสัมภาระเครน ออกให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะจบภารกิจ

สำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีหน้าที่ในการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนทั้งยามปกติ ตลอดจนภัยพิบัติต่างๆ ขอให้กำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัยที่จะออกปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง ได้ตระหนักถึงภารกิจที่ทุกคนรับผิดชอบว่า ท่านเป็นตัวแทนของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ในการช่วยเหลือประชาชนที่ยังขาดโอกาส และได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต หน้าที่ของท่านเป็นการทำหน้าที่ที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ และต่อประเทศชาติ

พร้อมนี้ คณะได้ลงพื้นที่นำน้ำอุปโภคบริโภคไปแจกจ่ายเพื่อเป็นบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ประสบภัยแล้ง ที่บ้านหนองไผ่ หมู่ 1 ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองอุดรธานี จำนวน 220 ครัวเรือน 1,600 คน ประกอบด้วย น้ำอุปโภค 75,000 ลิตร น้ำบริโภค 3,000 ลิตร และน้ำดื่มบรรจุขวด 500 ขวด