“ปราการ นกหงษ์” ทุนภูธร วอนรัฐอัดฉีด 2 ล้านล้านอุ้มภาคธุรกิจ หวั่นเศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง 20-30%

สัมภาษณ์

หลายธุรกิจเคยล้มลุกคลุกคลานในวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 แต่ทว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสกว่าหลายเท่า “ปราการ นกหงษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทในเครือแหลมทองกรุ๊ป หรือ LT Group กลุ่มทุนใหญ่ค้าปลีกแห่งแรกในภาคตะวันออก ดำเนินธุรกิจมากว่า 40 ปี วันนี้ได้สยายปีกมาเปิดธุรกิจ “สวนสนุกในร่ม” ได้มาเปิดใจกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ และอยากให้รัฐบาลแก้ไขสถานการณ์ให้ตรงจุด

Q : โควิดสาหัสกว่าต้มยำกุ้งปี’40

วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ผมคิดว่าหนักหนาสาหัสกว่าคราวต้มยำกุ้งวิกฤต และ hamburger ตอนนี้ผ่านมา 3 เดือน มีผู้ติดเชื้อแล้วหลายจังหวัด และทุกประเทศต่างยังมึนงงกับการจัดการควบคุมสถานการณ์ ที่ทำได้ดี เช่น ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ คือการซื้อเวลาให้ทอดยาวออกไป เรายังไม่ได้พูดถึงระยะการฟื้นตัว (recovery phase) กันเลย รอบนี้ผมว่า 90% ของธุรกิจและประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบมาก หรือมากเป็นพิเศษเท่านั้นเอง ต่างจากวิกฤต 2 รอบที่ผ่านมาที่ผลกระทบเกิดเพียงบางกลุ่ม บางอุตสาหกรรมเท่านั้น และผมคาดว่าการแพร่ระบาดจะจบเดือนกันยายนนี้ แต่คงมีธุรกิจราว ๆ 20-30% ที่ไปต่อไม่ไหว

Q : แนวโน้มโควิดจะยืดเยื้อ

นี่คือการล้างไพ่โลกทั้งใบใหม่ ต่อไปธุรกิจ เศรษฐกิจ และการเมือง รวมไปถึงวิถีชีวิตของเราจะไม่เหมือนเดิม เป็นการกดปุ่มรีเซตประเมินว่าวิกฤตคราวนี้ ส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง และถ้าสถานการณ์ยังลุกลาม นี่คงเป็นวิกฤตใหญ่สุดที่คนเจเนอเรชั่นเราจะได้เห็น ทางออกปลายทางจริง ๆ คือ เมื่อมียารักษา หรือวัคซีน ในราคาที่ทุกคนในโลกเข้าถึงได้ มันไม่ง่าย และไม่เร็ว เมื่อคิดค้นวัคซีนสำเร็จ จะทำให้ประเทศต่าง ๆ เริ่มกลับมาเดินทางติดต่อกันอีกครั้ง ถ้าให้คาดเดาผมว่า อย่างเร็วคือช่วงเดือนกรกฎาคม แต่มีแนวโน้มสูงจะเป็นช่วงกันยายนถึงสิ้นปี ส่วนภาคธุรกิจบริการคงจะฟื้นตัวและกลับมาอย่างเร็วคงเป็นช่วงต้นปีหน้า

Q : รัฐเยียวยาน้อยกว่าวิกฤต

ก่อนอื่นขอชมภาครัฐในเรื่องความตั้งใจ และความเร็วในการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือในขั้นต้น แต่เมื่อเทียบกับขนาดของวิกฤต รัฐต้องมีมาตรการช่วยเยียวยาตามออกมาอีกมากถึงจะช่วยประคับประคองทั้งภาคธุรกิจ และประชาชน ให้ผ่านพ้นไปได้ อยากร้องขอให้รัฐบาลปรับเพิ่มมาตรการที่ต้องขยายครอบคลุมกลุ่มคนให้กว้างขึ้น รวมถึงเพิ่มเม็ดเงิน ที่สำคัญต้องให้ทันท่วงที ถ้าช้าไปอาจจะไม่เหลือธุรกิจให้ช่วย วันนี้ประเทศไทยมีระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ต่ำมาก ราว ๆ 42% ของ GDP ถือว่าอยู่ในสถานะที่ดี สถานการณ์ตอนนี้บนสมมุติฐานว่า ถ้ารัฐไม่ทำอะไรเลย ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจเราจะหดตัวมากกว่า 20% ซึ่งรุนแรงมาก ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ตอนต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจหดตัว 10% แทบตายแล้ว ครั้งนี้รุนแรงและกระทบเป็นวงกว้างกว่ามาก ขนาดของเม็ดเงินที่เหมาะสม รวมทุกรอบของไทย ควรมีมากกว่า 10-15% ของ GDP คือ ประมาณ 2-2.5 ล้านล้านบาท

ตัวเลขนี้เมื่อเทียบกับขนาดมาตรการของสิงคโปร์ หรือสหรัฐอเมริกาที่ออกมา ช่วงเริ่มต้นจนถึงตอนนี้ มีขนาดรวม ๆ กันราว 10% ของ GDP แล้ว นี่เป็นเพียงมาตรการชุดแรก ๆ เพื่อประคองสถานการณ์และธุรกิจเท่านั้น ยังไม่รวมมาตรการตอนที่สถานการณ์เริ่มจะคลี่คลาย เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเริ่มเดินได้อีกครั้ง เศรษฐกิจของไทยพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยว มากกว่าทั้ง 2 ประเทศนี้ ไทยจึงได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า

ในส่วนมาตรการช่วงแรก ๆ พยายามช่วยคนให้ได้เยอะที่สุด ดีแล้ว แต่เงินที่ช่วยควรมากกว่านี้อีก 3-4 เท่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าจะมีเงินใช้จ่ายจนผ่านปัญหาไป ถ้าไม่อยากให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง 20-30% จนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเสียหายจนกลับมาใหม่ไม่ได้ และจะต้องประเมินงบฯให้ครอบคลุมระยะเวลาจนจบสถานการณ์ ที่อาจยาวข้ามปี ก็ต้องช่วยให้ตลอด ประเทศไทยรักษาวินัยทางการเงินกันมานาน เพื่อสถานการณ์แบบในวันนี้ ถ้าเทียบวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นการวิ่งมาราธอน นี่เราเพิ่งเริ่มออกตัวในกิโลเมตรแรกกันเอง ถ้าเราประเมินต่ำไป เรายังต้องเจอความเจ็บปวดกันอีกมหาศาล

นอกจากนี้ ขอเพิ่มเติมอีก 3 ประการ คือ “คุณหมอนำ-เราหยุดเชื้อ-รัฐประคอง” ดังนั้นเมื่อ คุณหมอนำ เป็นหน้าด่านต่อสู้กับโรคนี้ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกัน ต้องพร้อม ต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มให้มากเพียงพอ

เราหยุดเชื้อ ด้วยการปิดประเทศ ซึ่งเราได้ทำแล้วโดยพฤตินัย ส่วน social distancing ที่ทำแล้ว แต่ต้องยกระดับความเข้มข้น โดยต้องมีบทลงโทษที่รุนแรงเหมือนในต่างประเทศ โดยที่มาตรการอาจต่างกันไปในแต่ละเมือง ยิ่งเข้ม ยิ่งจบเร็ว เศรษฐกิจยิ่งมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว

รัฐประคอง ในส่วนมาตรการสำหรับภาคธุรกิจ วันนี้แทบทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบหนักมากกว่าที่รัฐคาดการณ์ไว้ รัฐต้องช่วยประคองธุรกิจโดยลดรายจ่ายที่ธุรกิจต้องจ่ายให้ภาครัฐ ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น เป็นเวลา 1 ปี ได้แก่ 1.ปรับลดค่าไฟฟ้าให้ธุรกิจทุกประเภท และทุกครัวเรือน เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้าเป็นค่าใช้จ่ายหลัก 1 ใน 3 อันดับของแทบจะทุกธุรกิจ และทุกครัวเรือน ทำได้โดยการลดค่า Ft และค่าไฟฟ้าฐานลง ไม่ใช่เพียงแค่ตรึงราคา หรือลด 3% ให้ 3 เดือน ส่วน “ค่าน้ำ” ไม่ควรปรับลด เพราะมีปัญหาภัยแล้งรออยู่ การปรับลดอาจซ้ำเติมปัญหา

2.ยกเลิกการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากกฎหมายประกันสังคมเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อดูแลธุรกิจและลูกจ้างในภาวะวิกฤต วันนี้เรามียอดเงินคงค้างในบัญชีประกันสังคมกว่า 2 ล้านล้านบาท ถ้าไม่นำมาใช้เพื่อประคองทุกคนในวันนี้ จะใช้วันไหน ?

3.ยกเว้นการจ่ายภาษีท้องถิ่นทุกประเภท ทั้งภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

4.ให้ยืดระยะเวลาการจ่ายภาษีของแต่ละเดือนออกไป โดยให้จ่ายภายใน 6 เดือน โดยยกเว้นการคิดเบี้ยปรับ+เงินเพิ่ม ของภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และ VAT

5.ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจเฉพาะที่ไม่สามารถปิดได้ เนื่องจากมีแขกเข้ามาพักอยู่บ้าง จึงทำให้ยังต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานทั้งหมดอยู่ 75% แต่ในที่สุดหากสถานการณ์ลากยาวไปอีก 2-3 เดือน หรือจนถึงสิ้นปี โรงแรมต้องดำเนินการให้คนออกอีกจำนวนมาก ตรงนี้จึงอยากให้รัฐมีมาตรการพิเศษเฉพาะเพื่อบรรเทาปัญหาของธุรกิจประเภทนี้โดยเฉพาะ

 

"ฮาร์เบอร์ แลนด์"กระอัก แผนลงทุนชะงัก คาดสิ้นปีสูญ1.7พันล้าน

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อ 4 กลุ่มธุรกิจหลักในกลุ่มแหลมทอง

กลุ่มแรก คือ กลุ่มศูนย์การค้า มีทั้งหมด 8 แห่ง กลุ่มเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์อีก 2 แห่ง กลุ่มออฟฟิศสำนักงานอีก 3 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มธุรกิจสนามเด็กเล่นในร่ม (indoor playground) ดำเนินการภายใต้บริษัท ฮาร์เบอร์ แลนด์ จำกัด เปิดให้บริการไปแล้ว 10 สาขาทั่วประเทศ โดยกลุ่มธุรกิจสนามเด็กเล่นใน กทม. มีทั้งหมด 5 สาขา คือ สาขาเมกา บางนา, แฟชั่นไอส์แลนด์, เกตเวย์ เอกมัย, เกตเวย์ บางซื่อ และสาขาสินธร มิดทาวน์ ส่วนต่างจังหวัดมี 5 สาขา คือ เทอร์มินอล 21 โคราช, ฮาร์เบอร์ พัทยา, ตึกคอม ชลบุรี, ตึกคอม ศรีราชา และสาขาตึกคอม ขอนแก่น โดยบริษัทมีแผนจะเปิดเพิ่มอีก 5 แห่ง ภายในปี 2563 ซึ่งเปิดไปแล้ว 1 ที่ คือ สินธร มิดทาวน์ หลังสวน ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วนที่ดำเนินการใกล้เสร็จแล้ว ตามกำหนดจะเปิดปลายเดือนมีนาคมนี้ คือ ที่เซ็นทรัล พลาซา เวสต์เกต ต้องเลื่อนออกไป ส่วนที่อื่น ๆ ได้เจรจาเพื่อชะลอไว้ทั้งหมดแล้ว

คาดรายได้สูญ 1.7 พันล.

สถานการณ์ปกติบริษัทมีรายได้รวมทุกธุรกิจ ประมาณเดือนละ 150-160 ล้านบาท ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สถานการณ์เริ่มส่อเค้าให้เห็นถึงผลกระทบโดยตรง จีนประกาศปิดประเทศ รายได้ลดลงเหลือประมาณ 80 ล้านบาท สิ้นเดือนนี้คงอยู่ราว ๆ 40-50 ล้าน เพราะตั้งแต่มีประกาศปิดสถานบริการครั้งแรกใน กทม. ยังไม่เข้าข่ายที่สั่งปิด แต่ให้ความร่วมมือ โดยคาดหวังว่ารัฐจะควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว จึงตัดสินใจปิดบริการทันที

ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป คาดว่ารายได้จากธุรกิจยังพอดำเนินไปได้ คือยังไม่ถูกรัฐสั่งปิด จะเหลือไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 10% จากปกติ โดยธุรกิจที่ยังอยู่ คือ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 2 แห่ง ขณะนี้เหลือเพียงแต่กลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นที่พักแบบรายปี ส่วนลูกค้ารายวันไม่มีเลย ส่วนศูนย์การค้ายังพอเปิดได้ ในส่วนร้านอาหาร, ซูเปอร์มาร์เก็ต และอาคารสำนักงานบางส่วนเท่านั้น ซึ่งยังคงกังวลอยู่ ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงอีกในเดือนต่อ ๆ ไปหรือไม่ ซึ่งอาจมีคำสั่งปิดธุรกิจเพิ่มอีก ณ วันนี้ รายได้หายไปแน่ ๆ ประมาณ 140 ล้านบาทต่อเดือน แต่ถ้าเหตุการณ์ลากยาวต่อไป คาดว่าจะหายไปราว ๆ 1,700 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบันบริษัทมีภาระหนี้อยู่กับ 4 ธนาคาร ทุกธนาคารได้ปรับเงื่อนไขช่วยเหลือ ตามกรอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วรอบหนึ่ง แต่ตอนนี้สถานการณ์ทั่วโลก โดยเฉพาะไทยทรุดลงเร็วและแรงกว่าเมื่อตอนที่เจรจากับแต่ละธนาคารเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ตอนนั้นฝุ่นยังตลบ สถานการณ์ไม่ชัด พิจารณาเหตุการณ์ที่จีนแล้วก็หวังกันว่าจะจบเร็วได้ภายใน 2 เดือนเหมือนจีน แต่วันนี้ไม่ใช่ สถานการณ์แย่ลงมากทั้งโลก ไม่มีใครรอด จีนที่เคยแย่ กลับกลายเป็น safe zone ของโลกไปแล้ว บริษัทเองก็กำลังอยู่ในช่วงหารือถึงเรื่องการปรับเงื่อนไขกับทุกธนาคารอีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ผนึกพนักงานฝ่าวิกฤต

กลุ่มแหลมทองมีพนักงานรวมกันกว่าพันคน เมื่อเห็นว่าสถานการณ์นี้จะลุกลามขยายกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจไปทั่วโลก และคงจะยืดเยื้อยาวนาน

“ตัวผมเองเคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้ว 2 รอบใหญ่ ๆ คือ วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 และ Hamburger Crisis ปี 2551 บทเรียนสำคัญ คือ ต้องจัดการทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว และชัดเจน ต้องชี้แจงพนักงานให้เข้าใจถึงปัญหา และวางแผนรับมือ เพื่อทำให้พวกเรารอดไปได้ ผมตั้งใจพาพนักงานทุกคนฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน โดยไม่มีการ lay off แต่ทุกคนต้องสู้ อดทน และเสียสละ” ปราการกล่าว

มาตรการหลัก ๆ ที่ทำไปแล้ว คือ 1.ลดเงินเดือนลง 50% โดยให้มาทำงานครึ่งเดือน สลับกันหยุด 2.ปิด office โดยให้ work from home 100% ยกเว้นในส่วนงานบริการ

3.ขอให้พนักงานในส่วนธุรกิจที่ถูกคำสั่งปิด ย้ายไปช่วยธุรกิจอื่นที่ยังเปิดได้ หรือในสาขาใกล้เคียง แต่รายได้พนักงานลดลง จึงมี 2 มาตรการช่วยเหลือ โดยแจกอาหารฟรี 20 มื้อต่อสัปดาห์ และจัดหาหอพัก หรือพักที่โรงแรมของบริษัทฟรี