“จันทบุรี” แล้ง-น้ำไม่พอแบ่งปันรอบ 2 ให้ EEC

ภัยแล้ง สวนผลไม้ จังหวัดจันทบุรียังขาดแคลนน้ำ
แล้งหนัก - สวนผลไม้ จังหวัดจันทบุรียังขาดแคลนน้ำในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งต้องใช้น้ำวันเว้นวัน แม้จะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ยังมีปริมาณน้อย

ปัญหาวิกฤตน้ำในภาคตะวันออกยังคงทวีความรุนแรงต่อเนื่อง หลังจากที่กรมชลประทานได้ทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนด จ.จันทบุรี เพื่อขอแบ่งปันน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด (ระยอง-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา) โดยใช้ระบบสูบน้ำผ่านสถานีสูบน้ำคลองวังโตนด ไปลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ในปริมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งครบระยะเวลาสูบน้ำตามที่ขอไปแล้ว (26 มีนาคม 2563) เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกลงมาในปริมาณน้อยมาก

เห็นได้จากรายงานสภาพน้ำของโครงการชลประทานระยอง ประจำวันที่ 7 พ.ค. 2563 ระบุว่า อ่างเก็บน้ำหลัก 5 แห่ง เหลือน้ำใช้การรวมกันเพียง 67.723 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 11.33% ได้แก่

1. ดอกกราย มีปริมาณน้ำ 12.683 ล้าน ลบ.ม. หรือ 15.97%

2. หนองปลาไหล มีปริมาณน้ำ 24.672 ล้าน ลบ.ม. หรือ 15.07%

3. คลองใหญ่ มีปริมาณน้ำ 3.772 ล้าน ลบ.ม. หรือ 9.41%

4. ประแสร์ มีปริมาณน้ำ 24.070 ล้าน ลบ.ม. หรือ 8.16%

5. คลองระโอก มีปริมาณน้ำ 2.526 ล้าน ลบ.ม. หรือ 12.85%

ดังนั้นทางจังหวัดจึงอยากขอแบ่งปันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรีอีกประมาณ 10-15 ล้าน ลบ.ม. มาบรรเทาความเดือดร้อนก่อนถึงหน้าฝนอีกครั้ง

ภัยแล้ง “จันทบุรี”

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้พื้นที่บางตำบล เช่น อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ยังอยู่ในภาวะภัยแล้ง ถึงมีฝนตกมาบ้างแต่ยังเป็นปริมาณเล็กน้อย หากจะรอให้พ้นภาวะภัยแล้งจริง ๆ ต้องให้เข้าฤดูฝน ซึ่งปีนี้มาช้าน่าจะปลาย ๆ พฤษภาคม ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมเป็นช่วงที่ผลไม้กำลังให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ต้องให้น้ำวันเว้นวัน ใช้น้ำเพิ่มขึ้นจากปกติ 2-3 เท่า

สำหรับการส่งน้ำให้อ่างประแสร์นั้น หลังจากแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกดที่มีความจุ 60 ล้าน ลบ.ม.ไปตามข้อตกลง 10 ล้าน ลบ.ม. แล้วเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2563 น่าจะมีปริมาณน้ำเหลือไม่ถึง 10 ล้าน ลบ.ม. มีการมาหารือถึงการปันน้ำให้อ่างเก็บน้ำประแสร์เพิ่มเติม แต่ยังไม่ได้เจรจากันเป็นจริงเป็นจังหรือร้องขอเป็นทางการ

ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้จะไม่ได้มีการเจรจาอีก เพราะปีนี้ทางจันทบุรีใช้น้ำเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา คาดว่าปริมาณน้ำที่เหลือน้อยไม่พอที่จะแบ่งปันได้อีก และในข้อตกลงตามมติ ครม. 7 เมษายน 2552 นั้นจะมีอ่างเก็บน้ำครบ 4 อ่าง และผันน้ำในฤดูฝนป้องกันการขาดแคลนน้ำ

ตามมติ ครม. 7 เมษายน 2552 ลุ่มแม่น้ำวังโตนดจะแบ่งปันน้ำไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ปีละ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่ออ่างเก็บน้ำวังโตนด อ่างที่ 4 ความจุ 99.5 ล้าน ลบ.ม.สร้างเสร็จ เพราะจันทบุรีจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ จากอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 อ่าง ความจุทั้งหมด 309 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อเดือนมีนาคมได้แบ่งปันน้ำให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ยามวิกฤต 10 ล้าน ลบ.ม.

โดยโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนดยังไม่ได้ก่อสร้าง จึงต้องการให้คณะกรรมการที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญของโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด ทั้ง EEC นิคมอุตสาหกรรม บริษัท อีสท์วอเตอร์ การเกษตร และชุมชนในจังหวัดจันทบุรี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา

ซึ่งกรมชลประทานมีแผนที่จะเสนอของบประมาณในการก่อสร้างปี 2564 แต่การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ที่เพิ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ซึ่งผิดคาดที่โครงการ EEC มีความจำเป็นต้องใช้แหล่งน้ำ แต่โครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนดกลับไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน จริง ๆ แล้วจันทบุรีมีอ่างเก็บน้ำ 3 อ่าง (อ่างเก็บน้ำหางแมว อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำประแกด) ความจุ 210 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง

“โครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนดไม่ผ่าน EHIA ยังสร้างไม่ได้แม้ว่ากรมชลประทานมีแผนที่จะเสนอของบประมาณปี 2564 จันทบุรีมียังมีน้ำเพียงพอ ถ้าจะผันน้ำไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ต้องมีอ่างเก็บน้ำครบ 4 อ่างตามมติ ครม. 7 เมษายน 2552 ปลายพฤษภาคมระยอง แม้กระทั่งน้ำทำน้ำประปามีแนวโน้มจะขาดแคลน ภาคอุตสาหกรรมจะทำอย่างไร นิคมอุตสาหกรรม บริษัทอีสท์วอเตอร์ EEC ต้องร่วมกันผลักดันโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนดเพื่อจะได้ผันมาช่วยอ่างเก็บน้ำประแสร์ ไม่ใช่ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำวังโตนดและกรมชลประทานผลักดันเพียงหน่วยงานเดียว โดยเห็นว่ากรมชลประทานมีหน้าที่หาน้ำมาใช้ลุ่มแม่น้ำวังโตนดต้องส่งน้ำไปให้ ทั้งที่จันทบุรียังมีความขาดแคลน ต่อไปการต่อรองการปันน้ำกระบวนการต่อรองจะเข้มข้นขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว