“วิเชียร ขาวขำ” ส.ส. 7สมัย สู่ “นายกฯอบจ.” ชี้อุดรธานีตกงาน 4 หมื่นคน

สัมภาษณ์

“หลังจากโควิด-19 ระบาด ผมกล้าพูดได้ว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี ในการฟื้นเศรษฐกิจ” การกล่าวอย่างฟันธงของ “วิเชียร ขาวขำ” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี เป็นอดีต ส.ส.มาถึง 7 สมัย และดำรงตำแหน่งนายก อบจ. ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบันกว่า 8 ปี

ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากรัฐบาลคลายล็อกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เฟส 3 และประชาชนสามารถออกจากบ้านมาสูดอากาศหายใจได้บ้าง

“วิเชียร” บอกว่า แม้ตนเองจะไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่มองเห็นภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดอุดรธานีซบเซาเช่นเดียวกับหลายจังหวัดในประเทศไทยและในระดับโลก เพราะก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้ว ยิ่งอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ คนยิ่งรัดเข็มขัดมากขึ้น หากมองถึงคนที่ไม่มีเงินสะสมไว้ก่อนหน้านั้นเรียกได้ว่าสาหัสกว่าในยุคต้มยำกุ้งปี 2540 เสียอีก ตอนนี้ทุกคนลำบากหมด การลงทุนไม่เกิดขึ้นด้วยสาเหตุหลัก 2 ข้อ คือ 1.เงินลงทุนน้อยลงเพราะได้รับผลกระทบนานหลายเดือน 2.สภาวะยังไม่มีความแน่นอนให้ตัดสินใจ เพราะเสี่ยงขาดทุนสูง

“ประเมินยากมากว่าทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร มาถึงตอนนี้เรียกได้ว่า หลังโควิด-19 จริงหรือเปล่ายังไม่แน่นอน ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับจังหวัด หลังจากโควิด-19 ระบาด ผมกล้าพูดได้ว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี ในการฟื้นเศรษฐกิจ อย่างจังหวัดอุดรธานีอาจจะยังพอมีโอกาสในระยะ 4 ปี เพราะเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานตอนบน เชื่อมกับหลายจังหวัด ภาคการท่องเที่ยวและบริการไม่ตายสนิท มีคำชะโนดเป็นสถานที่ซึ่งผู้คนนิยมและศรัทธา มีผู้มาเยือนไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านคนต่อปี คาดว่ายังสามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดมหาศาล และมีภาคเกษตรอีกหนึ่งทางเลือก”

“วิเชียร” เล่าว่า โดยพื้นฐานของจังหวัดอุดรธานีส่วนใหญ่อาศัยภาคเกษตรเป็นหลัก ปัจจุบันพืชเศรษฐกิจอันดับ 1.ข้าว 2.อ้อย 3.มันสำปะหลัง และ 4.ยางพารา โดยยางพาราเริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะราคาตกต่ำมาหลายปี ทำให้เกษตรกรโค่นทิ้งบางส่วน แล้วหันมาปลูกอ้อยแทน เพราะในจังหวัดอุดรธานีมีโรงงานน้ำตาลอยู่ถึง 5 แห่ง เป็นโรงงานของทุนในท้องถิ่น 3 แห่ง อีก 2 แห่งเป็นโรงงานของกลุ่มมิตรผล และกลุ่มวังขนาย ทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน และสามารถรับผลผลิตจากเกษตรกรได้เต็มที่ หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวมีปลูกพืชอื่นเสริม เช่น กล้วย ฟักทอง แตงไทย เป็นต้น เรียกได้ว่าเกษตรกรส่วนนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เลย แต่ยังมีเกษตรกรอีกกลุ่มจำนวนไม่มากได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะเน้นปลูกไม้ผลเพื่อส่งออกไปตลาดต่างประเทศ แต่ปัจจุบันไม่สามารถส่งออกผลผลิตไปต่างประเทศได้เลย เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ กล้วยหอมทอง เป็นต้น

“เกษตรกรที่ปลูกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ของอำเภอหนองวัวซอ ที่เคยส่งออกผลผลิตไปทั่วโลกทั้งเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย ต้องสูญรายได้ประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี แม้หน่วยงานราชการจะช่วยซื้อ ทั้งแจกตำรวจ ทหาร บุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดก็ไม่ไหว เพราะผลผลิตเยอะมากจริง ๆ นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรที่ปลูกดอกไม้ส่งออกไปประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ก็ส่งออกไม่ได้ เรียกได้ว่าทุกภาคส่วนตั้งรับกันไม่ทัน ไม่รู้ว่าเมื่อถึงฤดูเก็บผลผลิตในปีหน้าจะยังส่งออกได้หรือไม่ ฉะนั้น ในปีนี้จะต้องหารือกันเพื่อเตรียมการแปรรูปผลผลิตให้เกิดความยั่งยืนต่อไป”

นอกจากพิษโควิดทำให้เศรษฐกิจซบเซาแล้ว ยังทำให้คนอุดรธานีว่างงานกว่า 4.4 หมื่นคน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1.แรงงานที่ไม่สามารถกลับไปทำงานได้อีก 2.แรงงานที่กลับไปทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นที่เดิม หรือที่ใหม่ 3.กลุ่มที่ไม่สามารถกลับไปทำงานได้และไม่มีที่ดินทำกิน จังหวัดมีการพูดคุยหารือกันกับทุกภาคส่วนด้วยว่าจะช่วยสร้างงานให้กับคนที่ไม่สามารถกลับไปทำงานต่างถิ่นได้อย่างไร บางคนเป็นแรงงานฝีมือมีทักษะชำนาญมาจากต่างประเทศ มีการปรึกษาว่าผู้ประกอบการภายในจังหวัดจะสามารถรับแรงงานดังกล่าวได้มากน้อยเท่าไหร่ ส่วนที่มีที่ดินทำกิจการก็สนับสนุนทำการเกษตรโดยมีหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยได้มาก

“ในภาพของการทำงานโรงงาน หากสามารถกลับมาเปิดทำการและแรงงานสามารถกลับไปทำงานได้ ก็คงไม่กลับมาทำได้เต็มรูปแบบนัก ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการคงไม่สามารถจ้างแรงงานได้เหมือนเดิม ภาพรวมไม่น่าจะเกิน 60% ปัจจุบันทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งให้คณะทำงานเร่งสำรวจอยู่ว่าแรงงานในจังหวัดสามารถกลับไปทำงานได้เท่าไหร่ และเหลือเท่าไหร่เพื่อมาบริหารจัดการ”

อย่างไรก็ตาม “วิเชียร” ได้พูดถึงสถานการณ์หลังปลดล็อกมาตรการควบคุมโควิด-19 ว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยภาพรวมเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนของจังหวัดต้องช่วยกัน ลำพัง อบจ.อย่างเดียวแก้ทั้งระบบไม่ได้ ส่วนที่ อบจ.ได้ประสานและเตรียมการไว้แล้วเบื้องต้น คือ การจัดหาเมล็ดพันธุ์ผักเพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับพี่น้องประชาชน ถ้าไม่อยากยึดเป็นอาชีพก็ปลูกกิน และใช้ในครัวเรือนเพื่อลดค่าใช้จ่าย เป็นนโยบายที่จะช่วยประชาชนทั้งหมด ประมาณ 4.4 แสนครัวเรือน โดยร่วมกับหน่วยงานจังหวัดทั้งพัฒนาการจังหวัด เกษตรจังหวัด โดยเราจะเร่งส่งเสริมอาชีพด้านเกษตรแปรรูปและจำหน่ายกับหน่วยงานจังหวัด อำเภอ วิทยาลัยอาชีวะต่าง ๆ เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร เพราะทำการเกษตรแบบปกติอยู่ไม่ได้แล้วในยุคโควิด