“เชียงใหม่เฟรชมิลค์” รุกอาเซียน เล็งใช้ FTA ดันส่งออกผลิตภัณฑ์นม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อติดตามการพัฒนาศักยภาพฟาร์มโคนมไทยในการรับมือการค้าเสรีของฟาร์มโคนมของบริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด ที่เคยเข้าร่วมโครงการ “จัดทัพโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศด้วย FTA” ในช่วงปี 2561-2563

เพื่ออบรมพัฒนาศักยภาพและความพร้อมในการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ไปต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในกลุ่มประเทศผู้นำเข้าที่ได้ยกเลิกไม่เก็บภาษีศุลกากรกับนมและผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกจากไทยแล้ว ถือเป็นการเปิดมุมธุรกิจสามารถนำผลผลิตจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไปขายยังต่างประเทศได้

“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมนมโคแปรรูปของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) มูลค่าการค้าและการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยเพิ่มขึ้นในปี 2562 ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมสู่ตลาดโลกมูลค่า 536 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% จากปี 2561 โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียน เช่น กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ ลาว และสิงคโปร์ ส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 82.7% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมดของไทย ขณะที่จีนมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 5.4% และฮ่องกงอยู่ที่ 3.4%

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ นมพร้อมดื่มยูเอชที นมเปรี้ยว โยเกิร์ต และนมจืด ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.) ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์สู่ตลาดโลกมูลค่า 335 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมีอาเซียน จีน และฮ่องกง เป็นตลาดส่งออกหลัก

ปัจจุบันประเทศไทยมีคู่ FTA กับ 14 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้านมและผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกจากไทยแล้ว เหลือเพียง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และชิลี ที่ยังเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าดังกล่าวบางรายการกับไทย เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีศุลกากรกับผลิตภัณฑ์นมอยู่ที่ 21.3-25.5% เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด ผู้ผลิตนมรายใหญ่ของภาคเหนือ มีพื้นที่เลี้ยงวัวกว่า 200 ไร่ ได้เข้าร่วมโครงการ “จัดทัพโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศด้วย FTA” ของกรม นำความรู้และประสบการณ์มาพัฒนาศักยภาพกระบวนการเลี้ยงโคนม การผลิตนมดิบและผลิตภัณฑ์นม เพื่อเตรียมพร้อมส่งออกและใช้ประโยชน์จาก FTA โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดอาเซียนและจีน

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตนม UHT และนมพาสเจอไรซ์ 180 ตัน/วัน มีการป้อนนมให้กับโครงการนมโรงเรียนและโรงงานในประเทศ ทั้งยังส่งออกไปประเทศเมียนมาด้วย

“บัลลพ์กุล ทิพย์เนตร” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด กล่าวว่า ได้ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2535 ต่อมาถึงปี 2537 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยน เพราะได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน โดยจัดส่งนมอยู่ 3 อำเภอ ได้แก่ สันป่าตอง จอมทอง และฮอด จึงเริ่มมีการผลิตนม UHT เมื่อปี 2546 และส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยังประเทศเมียนมาปี 2556

ปัจจุบันฟาร์มเชียงใหม่เฟรชมิลค์มีโคทั้งหมด 2,300 ตัว โคที่รีดนมมีประมาณ 1,100 ตัว กำลังการผลิตนมพาสเจอไรซ์ 60 ตันต่อวัน นม UHT 120 ตันต่อวัน ซึ่งในปี 2562 โรงงานซื้อนมจำนวน 48,240 ตันจากกลุ่มเกษตรกรทั้งหมด 700 กว่าครัวเรือน โดยแบ่งการดูแลออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรกรที่เป็น contract farming กับทางฟาร์มโดยตรงประมาณ 230 ฟาร์มและกลุ่มเกษตรกรที่ขึ้นตรงกับสหกรณ์โคนมโดยตรง

สำหรับผลิตภัณฑ์เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ได้แก่ 1.นม UHT คุณภาพสูงล้านนาตราเชียงใหม่เฟรชมิลค์ 2.นมพาสเจอไรซ์ คุณภาพสูงล้านนาตราเฟรชมิลค์ 3.นม UHT ตรามายด์ด้า 4.นมพาสเจอไรซ์ ตราเชียงใหม่เฟรชมิลค์ 5.ไอศกรีมนม Freshy ผลประกอบการมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3-5% ซึ่งปีที่ผ่าน 2562 มีรายได้ประมาณ 1,400-1,500 ล้านบาท ยังเน้นขายตลาดในประเทศเป็นหลัก มีสัดส่วนการขายอยู่ที่ 92-93% และมีการส่งออกไปยังประเทศเมียนมา 7-8%

“บัลลพ์กุล” กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้โอกาสเข้าร่วมโครงการ “จัดทัพโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศด้วย FTA” กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในช่วงปี 2561-2563 เพื่ออบรมพัฒนาศักยภาพและความพร้อมในการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ไปต่างประเทศ และกรมเจรจาฯได้เข้าช่วยในการสนับสนุนการเปิดมุมธุรกิจและมองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ และนำผลผลิตจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนการเปิด FTA ในปี 2568 ถือเป็นโอกาส เพราะทำให้เกษตรกรในประเทศตื่นตัวและต้องรีบพัฒนาศักยภาพตัวเอง

“ปัจจุบันมีการเลี้ยงโคนมทั้งประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 6,945 ฟาร์ม มีน้ำนมดิบ รวม 3,540 ตันต่อวัน การเปิด FTA ไม่ใช่มีเพียงอุตสาหกรรมนมอย่างเดียว แต่ยังมีสินค้าประเภทอื่นอีกด้วย จึงมองว่าเป็นโอกาสที่จะเติบโตและเปิดตลาดส่งออกได้มากยิ่งขึ้น ตอนนี้เชียงใหม่เฟรชมิลค์มีความคิดอยากจะเพิ่มขนาดของฟาร์มให้มีต้นทุนต่อหน่วยในการผลิตต่ำลง และสามารถเติบโตได้ในอนาคต เพราะมีเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากการเปิด FTA ในปี 2568 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ในอนาคตอยากเติบโตในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มอาเซียน”