นายจ้างอ่วม! ค่าใช้จ่ายขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว หัวละเฉียดหมื่น

ปัญหาคนงานประมง ขาดแคลน
FILE PHOTO: by NICOLAS ASFOURI/AFP

นางจงกล สุวรรณานนท์ จัดหางานจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบ ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่

โดยนายจ้าง/สถานประกอบการ/คนต่างด้าวทั้ง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีนายจ้างทะเบียนถูกต้อง กลุ่มที่ยังไม่มีนายจ้าง และผู้ติดตามที่เป็นบุตรอายุไม่เกิน 18 ปี ต้องยื่นเอกสารหลักฐานตามที่กรมการจัดหางานกำหนด ผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 15 มกราคม – 13 กุมภาพันธ์ 2564

โดยการผ่านการตรวจคัดกรองโควิด-19 และโรคต้องห้าม ซื้อประกันสุขภาพระยะเวลา 2 ปี และยื่นขออนุญาตจากกรมจัดหางาน ขึ้นทะเบียนแรงงาน (ถ้าเป็นแรงงานที่ยังไม่มีนายจ้างต้องทำทะเบียนประวัติ ทร 38/1) แรงงานประมงต้อไปขอหนังสือคนประจำเรืออีกครั้ง และทำงานได้ระยะเวลา 2 ปีถึง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566

“ขั้นตอนมีไทม์ที่ต้องปฏิบัติชัดเจน ให้นายจ้างและแรงงานได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง เงื่อนไขสำคัญคือต้องเป็นแรงงานที่เข้ามาอยู่ก่อนมีมติ ครม. 29 ธันวาคม 63 สำหรับค่าใช้จ่ายระยะเวลา 2 ปี แรงงานทั่วไป 9,180 บาท ถ้าเป็นแรงงานประมง 9,380 บาท (เสียค่าตรวจโรคเพิ่ม 100 บาท และค่าหนังสือคนประจำเรือ 100 บาท เป็นค่าตรวจโรค 6 โรค 1,000 บาท ค่าตรวจโควิด 3,000 บาท ค่าทำทะเบียนประวัติ 20 บาท ค่าบัตรชมพู 60 บาท ค่าขอใบอนุญาตทำงาน 1,900 บาท)

ส่วนผู้ติดตามอายุไม่เกิน 18 ปีไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาตทำงาน สำหรับแรงงานที่ที่เข้ามาก่อนและขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ใบอนุญาตการทำงานยังไม่หมดอายุสิทธิเดิมยังมีอยู่ไม่ต้องมาขึ้นทะเบียน เนื่องจากจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น”  นางจงกลกล่าว

นายสว่าง ชื่นอารมณ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.ตราด กล่าวกับ ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ทำให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเกษตรกรได้แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ระดับหนึ่ง เพราะแรงงานต่างชาติยังไม่สามารถเข้า-ออกได้ในขณะนี้

ประกอบกับใกล้ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม แต่ปัญหาของนายจ้างที่ต้องบริหารจัดการใน 3 เรื่องหลัก ๆ ในขณะนี้ คือ 1) ค่าใช้จ่ายที่ตกหัวละ 9,180 บาท ที่นายจ้างต้องรับภาระ แม้ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย 2 ปี แต่แรงงานภาคเกษตรที่ต้องใช้จำนวนมากเป็นตามฤดูกาลปีละ 3-4 เดือน 2) ผู้ติดตามแรงงาน อายุไม่เกิน 18 ปี น่าจะมีจำนวนไม่น้อยที่นายจ้างต้องแบกรับอีกหัวละ 7,180 บาท

และ 3) แรงงานที่เข้ามาก่อนและขึ้นทะเบียนใบอนุญาตการทำงานยังไม่หมดอายุ น่าจะมีจำนวนไม่น้อย ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องตรวจโควิด-19 เกรงว่าจะมีการติดเชื้อและพร่กระจายเชื้อ เพราะแรงงานเหล่านี้มีการเคลื่อนไหวสัมผัสผู้คน

“ตอนนี้สภาเกษตรจังหวัดตราด มีการตั้งรับปัญหาขาดแคลนแรงงานช่วงฤดูกาลผลไม้ มุ่งหวังทั้งแรงงานภายในประเทศและแรงงานต่างชาติที่อยู่ในประเทศที่สามารถจะหมุนเวียนมาใช้ได้ เช่นแรงงานเก็บลำไย จ.จันทบุรี แรงงานตัดอ้อยที่ จ.สระแก้ว โดยทำข้อเสนอให้จังหวัดพิจารณาแล้วเมื่อปลายเดือนธันวาคม เมื่อมี มติ ครม.ผ่อนผันให้

แต่นายจ้างต้องรับภาระหนักทั้งค่าใช้จ่ายแรงงานและผู้ติดตามและยังมีปัญหาแรงงาน ไม่ทราบว่ามีแรงงานต่างชาติจำนวนเท่าใดทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องในขณะนี้ จะเพียงพอกับความต้องการหรือไม่” นายสว่างกล่าว