“ยาง” ราคาร่วงสวนทางปี’64ดีมานด์พุ่ง

ราคาดิ่ง - เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ต่างประสบปัญหาราคายางมีทิศทางปรับตัวลง เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามาส่งผลกระทบ ขณะเดียวกันปริมาณน้ำยางลดลง ความต้องการในตลาดยังมีสูง แต่กลับไม่ได้ทำให้ราคายางเพิ่มขึ้น

ยางราคาร่วง เหตุตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน-น้ำยางพีก ไซโลไม่พอเก็บ-ผลิตยางรมควันไม่ได้ แรงงานเอ็มโอยูขาด เก็บเข้าสต๊อกแก้มลิงไม่ได้-หนาวมากทำน้ำยางออกมาก “สวนทาง” ยางเกิดโรคยางใบร่วง ฝนตกยาว ภัยแล้งยาว ยางปริมาณน้อย

แต่ความต้องการปริมาณมาก เหตุผลิตถุงมือยาง ล้อยาง ถุงมือใช้มากและสิ้นเปลือง ล้อรถมีการเปลี่ยนหันมาใช้รถส่วนตัว เลิกใช้บริการรถโดยสาร จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ชาวสวนยางภาคใต้ตอนล่าง ตอนกลาง ตอนบน รวมพื้นที่ประมาณ 1 ล้านไร่

ต่างประสบปัญหาโรคยางใบร่วงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล พัทลุง และที่หนักสุด คือ จ.นราธิวาส จังหวัดเดียวมีพื้นที่ประสบปัญหาหลายแสนไร่ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐมีความพยามดูแลรักษา

แต่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ บางแห่เกิดขึ้น 3 รอบแล้ว โดยฉีดยาพ่นยารอบแรกหายไป พอเริ่มฟื้นแตกใบอ่อนจะไม่เกิดโรคใบร่วง แต่พอยางใบแก่กลับร่วงหล่นอีก ทั้งนี้ หากฉีดพ่นยาหลาย ๆ รอบ หวั่นวิตกว่าต้นยางจะได้รับความเสียหายตายได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นส่งผลให้ปริมาณน้ำยางสดหายไปประมาณ 60%

ปริมาณยาง 1 ล้านไร่ ที่เกิดโรคใบร่วง โดยยาง 1 ไร่ จะให้น้ำยางประมาณกว่า 2 กก./วัน 1 ล้านไร่ ประมาณ 2,500,000 กก./วัน เมื่อเกิดโรคใบร่วง น้ำยางจะหายไปประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์/ไร่/วัน ส่งผลให้รายได้จากยางหายไปปริมาณมากเช่นกัน

นอกจากนี้ ในช่วงมรสุมฝนตกน้ำท่วมมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563 และมาจนถึงเดือนมกราคม 2564 รวมกว่า 2 เดือน ยังไม่สามารถกรีดยางได้เต็มที่ในบางพื้นที่ รายได้ชาวสวนยางหดหายไปปริมาณมาก

นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานกรรมการกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง สกย.นาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา กล่าวว่า ชาวสวนยางทางภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยตะวันออก หลายพื้นที่ยังไม่สามารถกรีดยางได้ จากภาวะฝนตกยาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563

ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากยางใบร่วงที่เกิดจากการถูกน้ำท่วมขัง และกับยางที่เกิดโรคยางใบร่วงระบาด ซึ่งมีเกือบหลักหลายแสนไร่ โดยเฉพาะที่ อ.นาทวี จ.สงขลา โรคยางใบร่วงระบาดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จนถึงขณะนี้เดือนมกราคม 2564 ต้นยางยังไม่แตกยอดออกใบ ได้ส่งผลต่อปริมาณน้ำยางสดหดหายไปมากกว่าครึ่ง โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 จ.สงขลา และจังหวัดใกล้เคียง เป็นช่วงยางพีกให้น้ำยางปริมาณมาก

นายสมพงศ์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สำนักงานเกษตร สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และหน่วยงานอื่น ๆ ได้วิเคราะห์ผลกระทบเรื่องโรคยางใบร่วง แต่ไม่สามารถหาสรุปในเรื่องการสนับสนุนว่าจะทำอย่างไรให้ต้นยางกลับคืนสู่สภาพเดิม

เพราะขาดงบประมาณในการดำเนินการ และในเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 เข้าสู่หน้าแล้งยางผลัดใบ และเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จะพิสูจน์ได้ว่าต้นยางรอดหรือจะยืนต้นตาย ทั้งนี้ ต้นยางที่ใบร่วงจากถูกน้ำท่วมขังและเกิดโรคยางใบร่วง คาดว่าจะส่งผลให้ให้ปริมาณน้ำยางปี 2564 จะหายไปประมาณครึ่งหนึ่งจากปริมาณน้ำยางที่เคยกรีดได้

ทางด้านนายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยถ้ำพรรณรา (วคยถ.) เปิดเผยว่า วคยถ.ประมาณ 250 กลุ่มในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด สวนยางไม่ได้เกิดโรคใบร่วง แต่ในขณะเดียวกันยางเริ่มใบร่วงสู่ฤดูกาลผลัดใบ

และประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ใบจะร่วงหมดต้องปิดหน้ากรีด และยังมีบางส่วนเปิดกรีด และจะไปเปิดหน้ากรีดเต็มประมาณกลางเดือนพฤษภาคม

ในระยะนี้เกิดภาวะภูมิอากาศหนาวเย็นมากทำให้น้ำยางมีผลผลิตปริมาณมาก จนส่งผลให้ยางราคาทยอยลงวันละ 1-2 บาท จากราคา 52 บาท/กก. น้ำยางสดในบางพื้นที่ และยางรมควัน 65 บาท/กก.

โดยราคาขายวันที่ 21 มกราคม 2564 ได้ลดลงมาที่ถึงมือชาวสวนยางทั่วไปในกลุ่มประมาณ 39 บาท/กก. ที่ ดีอาร์ซี.กว่า 30% และในบางพื้นที่ลานรับซื้อน้ำยางสดจะรับซื้อที่ราคาตั้งแต่ 40-41.50-42-43 บาท/กก. ต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และแต่ละจังหวัด

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าราคาน้ำยางสดจะทยอยมาอยู่ที่ 37-38 บาท/กก.ในระยะใกล้นี้ หรือประมาณ 2 สัปดาห์ แต่คาดว่ารัฐบาลน่าจะไม่ให้ราคามาลงอยู่ที่ 3 กก. 100 บาท

นายเรืองยศกล่าวต่อไปว่า ปัจจัยที่ราคาทยอยลง ทางกลุ่มผู้ค้ายางอ้างอิงว่าปริมาณน้ำยางมาก ส่งผลไซโลเก็บน้ำยางไม่เพียงพอรองรับการส่งออกยางไม่ได้

เพราะตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน สาเหตุเพราะอยู่ต่างประเทศ ไม่มีสินค้าไม่สามารถขนส่งสินค้าเข้ามาได้ หากนำเข้าเป็นตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจะต้องบวกเอากับราคายาง ส่งผลให้ราคายางถูกกดลง

ในกลุ่มโรงรมยาง ที่จะนำน้ำยางสดมาแปรรูปเป็นยางแผ่น ยางรมควัน ยังไม่สามารถผลิตได้ เพราะยังขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานเอ็มโอยูจากประเทศ สปป.ลาว กัมพูชา ยังไม่สามารถเข้ามาได้

และสต๊อกแก้มลิงเก็บยาง ที่เอาเงินของ กยท.มาดำเนินการสำรองจ่ายให้กับสมาชิกก่อนยังไม่สามารถดำเนินการ ส่งผลให้ยางที่กรีดได้จะต้องนำออกขายทั้งหมดไม่สามารถสต๊อกแก้มลิงได้เพื่อออกขายตอนราคาดี เพราะไม่มีเงินทุนสำรองจ่ายไปก่อนให้กับสมาชิก ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเงื่อนไขทำให้ราคายางตกลง

นายเรืองยศกล่าวต่อไปว่า ในปี 2564 น้ำยางสดจะมีปริมาณน้อย ราคาจะมายืนที่ 50 บาท/กก.ได้ เนื่องจาก 1.สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เพราะมีการใช้ยางปริมาณมาก ที่จะต้องนำไปแปรรูปผลิตถุงมือยาง 2.มีการงดใช้บริการรถสาธารณะรถโดยสารปริมาณมาก

โดยหันใช้รถส่วนตัวกันมาก จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีการเปลี่ยนล้อยางรถใหม่ 3.ที่ผ่านมาแล้งจัดและยาว และทางภาคใต้ฝนตกยาวและน้ำท่วมมาก และ 4.เกิดเชื้อราโรคยางใบร่วง

ปัจจัยทั้งหมดส่งผลต่อการผลิตน้ำยางได้ปริมาณน้อย แต่ความต้องการยางปริมาณสูง ส่วนราคายางกลับลดลง

นายเรืองยศกล่าวอีกว่า ขอฝากไปยังรัฐบาลว่าในเดือนพฤษภาคม 2564 จะถึงฤดูกาลเปิดหน้ากรีดยางทั่วภาคใต้ จึงอยากให้รัฐบาลอนุญาตเปิดหน้าด่านชายแดน นำเข้าแรงงานเอ็มโอยูประเทศ สปป.ลาว กัมพูชา และประเทศเมียนมา ทั้งแรงงานโรงรมยาง และกรีดยาง