คลัสเตอร์โรงงานนาเมืองเพชร ติดโควิดเพิ่ม 52 ราย โยงคลัสเตอร์ศรีตรังฯ

ตรังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มอีก 34 รายขากคลัสเตอร์โรงงานศรีตรังโกลฟส์ฯทั้งหมด ขณะที่คลัสเตอร์โรงงานนาเมืองเพชรพาราวู๊ด ผลตรวจออกเพียง 50% พบติดเชื้อ52 ราย พบเป็นคนไทย 5 รายเป็นพม่า 47 ราย ผู้บริหารโรงงานสั่งกักตัวพนักงานในโรงงานทั้งหมด ขณะที่ รพ.สิเกา สั่งปิดแล้ว

วันที่ 4 มิถุนายน 2564 นายแพทย์ตุลกานต์ มักคุ้น นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลตรัง ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า วันที่ 4 มิถุนายน 2564 ตรังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 34 ราย รวมยอดสะสม 967 รายเป็นเพศหญิง 8 ราย เพศชาย 26 ราย เป็นชาวไทยทั้ง 34 ราย รักษาหายเพิ่ม 315 รายคิดเป็น 32.5%

สำหรับผู้ป่วยทั้ง 34 รายเป็นผู้ป่วยจากคลัสเตอร์โรงงานศรีตรังโกลฟส์ฯทั้งหมดทำให้คลัสเตอร์โรงงานศรีตรังฯมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 587 ราย เป็นชาวเมียนมาร์ 239 ราย จากชาวเมียนมาทั้งหมดที่อยู่ในโรงงาน 291 คน ส่วนที่เป็นคนไทย 358 รายจากยอดคนไทยในโรงงานทั้งหมด 1,300 ราย

ความคืบหน้าในการ Swap เนื่องจากว่าเครื่องการตรวจเรียลไทม์ซีพีอาร์ที่ รพ.ตรัง ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมงตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม เป็นต้นมาทำให้เมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาเครื่องเกิดขัดข้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการซ่อมวันพรุ่งนี้ตอนเย็นน่าจะเริ่มดำเนินการตรวจเพิ่มเติมได้ เพราะฉะนั้นจะมีผลตรวจของผู้ป่วยที่อยู่ในโรงงานศรีตรังฯส่วนหนึ่งที่รอการยืนยัน เพราะว่าการตรวจยังไม่แล้วเสร็จจะต้องรอเดินเครื่องต่อ

สำหรับการตรวจคลัสเตอร์โรงงานนาเมืองเพชรพาราวู๊ด ก็ได้ส่งไปที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรัง

ส่วนคลัสเตอร์ร้านกาแฟภาสิณี ส่งไปสำนักป้องกันและควบคุมโรคที่ 12 สงขลา แต่เนื่องจากผลออกมาวันนี้เวลา10.00 น.เลยเวลาที่จะส่ง ศบค.ส่วนกลางคือตี 1 เมื่อคืนนี้ ทำให้ยอดวันนี้จะถูกนำไปรวมเป็นยอดพรุ่งนี้ แต่เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่กำลังรอทราบผลด้วยความกังวลใจจึงนำมาแจ้งให้ทราบก่อน

ผลของคลัสเตอร์ร้านนกาแฟภาสีณี ที่ตรวจผู้สัมผัสไปทั้งหมด 348 ราย ผลออกแล้ว 180 รายพบเป็นบวก 3 ราย ส่วน ที่เหลือผลจะออกเย็นนี้ ถ้าออกทันเวลาก็จะรายงานในวันพรุ่งนี้

ส่วนคลัสเตอร์โรงงานนาเมืองเพชรพาราวู๊ด 314 รายที่ส่งไปตรวจเป็นชาวเมียนมา 207 ราย คนไทย 107 รายทำแล็ปไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่งคือประมาณ 160 รายพบเป็นผลบวก 52 ราย พบเป็นคนไทย 5 รายเป็นเมียนมา 47 ราย ขอย้ำว่านี่เป็นผลที่จะรวมรายงานในวันพรุ่งนี้ (5มิ.ย.64)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลสิเกา อ.สิเกา จ.ตรัง ได้ประกาศปิดโรงพยาบาลเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมาเป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยเปิดให้บริการเพียงแค่แผนกผู้ป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 64 มีแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา เพศหญิง ซึ่งทำงานในโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา บริษัท นาเมืองเพชรพาราวู้ด เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสิเกา โดยแพทย์ได้วินิจฉัยเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นไข้เลือดออก และแอดมิท โดยได้รักษาตามอาการ แต่ปรากฏว่าไข้ไม่ลด จึงนำผู้ป่วยเข้าเอ๊กซเรย์ปอด ปรากฏว่ามีอาการปอดบวม จึงได้ Swab หาเชื้อโควิด-19 ปรากฏว่ามีผลเป็นบวก ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เป็นผู้ป่วย ซึ่งรักษาตัวในหอผู้ป่วยใน จำนวน 13 ราย พยาบาล จำนวน 2 คน นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว จำนวน 18 คน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ ซึ่งทั้งหมดต้องกักตัวภายใน รพ.สิเกา โดยบรรยากาศทั่วไปภายในโรงพยาบาลเป็นไปด้วยความเงียบเหงา

ด้าน นายอดิศร ตันเฮงชวง ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทนาเมืองเพชรพาราวู้ด ที่เกิดคลัสเตอร์ใหม่ เปิดเผยว่า เบื้องต้นทราบว่าพนักงาน ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ สัญชาติเมียนมาเข้ารับการรักษาที่ รพ.สิเกา เนื่องจากป่วยเป็นไข้เลือดออก หลังจากนั้น ทาง รพ. ได้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นตนคิดว่าน่าจะติดเชื้อโควิด-19 มาจากพนักงงานโรงงานศรีตรังโกลฟส์ และคาดว่าน่าจะติดกันมาจากพนักงานและแรงงานแบบเช้าไปเย็นกลับ ซึ่งพนักงงานเหล่านี้จะมีคนในครอบครัว เช่น สามี ภรรยา พี่ น้อง ทำงานอยู่ในโรงงานศรีตรังโกลฟส์ และนำเชื้อเข้ามาในโรงงานของตน ในส่วนแรงงานเมียนมาร์ ของโรงงานนาเมืองเพชรฯ เป็นแบบแรงงานประจำ พักอาศัยในโรงงานตลอด ซึ่งหลังทราบว่าแรงงานในโรงงานนาเมืองเพชรฯ ติดเชื้อ ทางโรงงานได้ดำเนินการให้พนักงงานและแรงงานทั้งหมด จำนวนกว่า 300 คน กักตัวภายในโรงงาน และทางโรงงานจะดูแลอาหารการกินให้พนักงานทั้ง 3 มื้อ

ทางโรงงานเองได้ประสานสาธารณสุขอำเภอสิเกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพ่นฆ่าเชื้อภายในโรงงาน โดยบรรยากาศด้านหน้าโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา บริษัท นาเมืองเพชรพาราวู้ด มีรถขนส่งข้าวสาร และแก๊สหุงต้ม กำลังลำเลียงข้าวสารเข้าไปภายในโรงงาน เพื่อประกอบอาหารสำหรับพนักงาน และแรงงานที่กักตัวอยู่ภายใน ส่วนร้านค้าและตลาดใกล้กับโรงงาน ได้ประสานให้มูลนิธิสถานตรังเข้าฉีดพ่นฆ่าเชื้อ

ส่วนที่ รพ.กันตัง พบว่า ทาง รพ. ต้องประสานขอรถทหารจากค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์ จ.ตรัง มาช่วยลำเลียงผู้ป่วยติดเชื้อที่รถตู้ของโรงพยาบาลกันตัง ไปรับคนงานที่ติดเชื้อจากโรงงานถุงมือยางตลอดทั้งวัน ๆ ละนับร้อยราย เพื่อนำตัวมาที่โรงพยาบาลมาจอดหน้าตึก รพ. จากนั้น ต้องลำเลียงลงจากรถทีละคนให้นั่งภายในรถเข็นที่ทำเป็นกระโจมหุ้มพลาสติกรอบคัน เข็นส่งตัวเข้าห้องเอกซเรย์ปอด เพื่อคัดแยกผู้ป่วยสำหรับส่งต่อไปรักษาตัวในโรงพยาบาล ทั้งนี้ หากผู้ติดเชื้อมีอาการทางปอด จะต้องส่งเข้ารักษาตัวใน รพ.กันตัง และบางส่วนส่งไป รพ.สนาม ภายใน รพ.ตรัง หากผู้ติดเชื้อมีสภาพปอดปกติจะถูกแยกส่งไปรักษาตัวที่ รพ.สนาม จึงต้องใช้รถทหารช่วยขนลำเลียงวันละ 3 เที่ยวทุกวัน