หนองคายปรับตัวปลูก “เงาะ” ชูความโดดเด่น ดึงคนเที่ยว

ปัจจุบันเกษตรจังหวัดหนองคายเริ่มปรับตัวจากการปลูกพืชเศรษฐกิจเดิม หันมาปลูกผลไม้หลากหลายชนิดมากขึ้น ซึ่งสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้เศรษฐกิจภายในจังหวัดเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนอกจากเกษตรจะมีความสนใจปลูกเอง ทั้งภาครัฐและส่วนราชการจังหวัดยังให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

อย่างในตำบลนาดี อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย “เตชิต ทรงบุญศาสตร์” นายอำเภอเฝ้าไร่ ได้จัดกิจกรรม “แม่บ้านมหาดไทย เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เปิดสวนเงาะ”

เพื่อประชาสัมพันธ์และสนับสนุนผลผลิตสินค้าเกษตรของตำบลนาดี โดยมี “ประเสริฐ ลือชาธนานนท์” ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดกิจกรรม และเปิดตัวสวนเงาะที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอเฝ้าไร่ ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นมาก คือ มีความสด กรอบ ล่อน น้ำไม่มาก กินง่าย ไม่เปื้อนมือ

“จำเริญ เมฆวัน” และ “รันดร เมฆวัน” เจ้าของสวน “สวนเงาะพ่อจำเริญ” ซึ่งใหญ่ที่สุดในอำเภอเฝ้าไร่บอกว่า เดิมทีใช้ที่ดินกว่า 8 ไร่ปลูกมันสำปะหลังขายต่อมาได้มีโอกาสไปดูสวนเงาะจากเกษตรกรรายอื่นที่อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ (เดิมจังหวัดหนองคาย) จึงลองนำเอาเงาะกว่า 200 ต้นมาปลูกแทนมันสำปะหลัง

ปัจจุบันเงาะที่นำมาปลูกเหลือรอดอยู่ประมาณ 120 ต้น ในแต่ละต้นจะให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี และปีที่ให้ผลผลิตมากที่สุดจะสูงถึง 20 กว่าตัน ราคาส่งหน้าสวนอยู่ที่ 25 บาท/กิโลกรัม

มีพ่อค้า-แม่ค้าทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงเข้าไปรับซื้อถึงสวน ถือเป็นราคาที่ดีพอสมควร และเงาะก็กลายเป็นของดี ของขึ้นชื่อ ของตำบลนาดีไปแล้ว

“เริ่มแรกพอได้ไปเห็นสวนเงาะ ก็คิดว่าพื้นที่ของตนก็สามารถปลูกได้ หลังจากปลูกเงาะได้ 4 ปี เงาะที่ปลูกก็เริ่มให้ผลผลิต และให้ผลผลิตเต็มที่ในปีที่ 6 มีพ่อค้า-แม่ค้าทั้งในอำเภอเฝ้าไร่เองจากตัวจังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดกาฬสินธุ์ และจากจังหวัดใกล้เคียงมารับซื้อถึงสวน ตอนนี้ปลูกมานานรวมระยะเวลาที่ปลูกเงาะมาแล้วกว่า 23 ปี”

อย่างไรก็ตาม “จำเริญ เมฆวัน” บอกว่า ปัจจุบันหลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ได้รับผลกระทบเรื่องตลาดบ้าง พ่อค้า-แม่ค้าที่มารับซื้อเงาะถึงสวนไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ กลุ่มแพบางกอกน้อย และเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลตามเกาะและตามพื้นที่โดยรอบ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย

ก็ได้มีการจัดการท่องเที่ยว “ล่องเรือชมเกาะ กินเงาะในสวน” เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นกัน จากที่เคยมีแพกว่า 50 แพให้บริการในโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน)

มีนักท่องเที่ยวเดินทางมารับประทานอาหาร ตอนนี้นักท่องเที่ยวหายไปเกือบทั้งหมด และต้องหยุดให้บริการชั่วคราว โดยมีการปรับจากการล่องแพเป็นการล่องเรือรับนักท่องเที่ยวไปยังสวนเงาะของเกษตรกรแทน

“สุทธิ อุปฮาด” เลขาฯคณะกรรมการกลุ่มแพบางกอกน้อยกล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มแพบางกอกน้อยปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

รับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็ก ๆ 5-6 คนนั่งเรือไปที่สวนผลไม้ในราคา 149 บาท/คน อย่างไร่บุญจันทร์เป็นเกาะที่อยู่ห่างจากจุดจอดแพประมาณ 1 กิโลเมตรที่ขณะนี้เริ่มให้ผลผลิตแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถกินเงาะสด ๆ จากต้นภายในสวนของเกษตรกรได้ไม่อั้น

“บุญจันทร์ ศรีวรรณะ” เจ้าของไร่บุญจันทร์บอกว่า ที่สวนแห่งนี้มีการปลูกมันสำปะหลังและหาของป่าไปขาย จนกระทั่งปี 2534 ก็ได้มีโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

และได้มีการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2537 เมื่อมีน้ำแล้วก็ได้หันมาปลูกลำไยจำนวน 150 ต้น จนกระทั่งมีคนบอกว่าสามารถปลูกเงาะได้ 9 ปี ที่ผ่านมาจึงได้มาปลูกเงาะในพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4 ไร่

โดยปลูกไม้ผลหลายชนิด เฉพาะเงาะประมาณ 70 กว่าต้น เป็นการใช้กิ่งตอนมาปลูก ปลูกได้ 3 ปีก็เริ่มให้ผลผลิตแต่ยังไม่มากจึงยังไม่ได้ขาย เมื่อเข้าปีที่ 4 เงาะที่ปลูกได้ให้ผลผลิตมากขึ้นจึงได้นำออกไปขายต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ ทุกปี

“เงาะของไร่บุญจันทร์นั้นจะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 บาท หรือ 3 กิโลกรัม 100 บาท ส่วนราคาขายส่งให้กับพ่อค้า-แม่ค้าที่ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่จังหวัดหนองคาย จะขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 25 บาท

จุดเด่นของเงาะที่สวนของตน คือ รสชาติดี กรอบ ร่อน ที่สำคัญคือจะเป็นเงาะปลอดสารพิษ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เป็นเกษตรอินทรีย์จึงปลอดภัยทั้งตนเองและผู้บริโภค”