ขอนแก่น รุกลงทุนระบบราง-Medical hub เชื่อมเศรษฐกิจอีสาน

เป็นเวลานานกว่า 2 ปีแล้ว ที่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจถดถอย โครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่ควรเดินหน้าหลายโครงการต้องหยุดชะงักลง เพื่อรอให้สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้น ค่อยกลับมาเดินหน้าเป็นรูปธรรม

จังหวัดขอนแก่นเผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน ผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าสร้างความเสียหายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

มีการชะลอตัวด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปัจจุบันต้องวางแผนแก้ปัญหาเฉพาะหน้ารับมือกับโควิด-19 แบบวันต่อวัน

แต่ขณะเดียวกันภาครัฐและภาคเอกชนไม่ได้หยุดนิ่ง โดยทางจังหวัดได้ร่วมกับกลุ่มจังหวัดอีสานตอนกลาง วางแผนโครงการหลักเพื่อเตรียมพร้อมหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

โดยเฉพาะการพัฒนาระบบราง เศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) และการเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพชั้นเลิศ (medical hub) ซึ่งจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคต

“กมลพงศ์ สงวนตระกูล” ประธานหอการค้ากลุ่มอีสานตอนกลาง หรือ “ร้อยแก่นสารสินธุ์” ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด-ขอนแก่น-มหาสารคาม-กาฬสินธุ์ และประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

จังหวัดขอนแก่นมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ประมาณ2 แสนล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นภาคเกษตรอยู่ประมาณ 10% ภาคอุตสาหกรรม 37% และภาคบริการ 53% ในปี 2563 รายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดหายไปกว่า 5%

Bioeconomy เพิ่มมูลค่าเกษตร

เริ่มที่ภาคเกษตร มีแรงงานอยู่ในส่วนนี้กว่า 50% ซึ่งผลผลิตหรือวัตถุดิบ (raw material) ที่ขายในปัจจุบันเป็น raw material ไม่ได้มีการเพิ่มมูลค่า จึงต้องมองหาการแปรรูปเพิ่มมูลค่าในทางอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยจะพัฒนาไปเป็นเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) คือ การนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในการเพิ่มคุณค่าผลผลิต

สอดคล้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NEEC) กำหนดพื้นที่อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา เน้นเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ โดยดำเนินการตามนโยบาย BCG economy ของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (biocircular-green economy : BCG model)

“อีสานถือว่ามีพื้นที่การผลิตมาก แต่ผลผลิตต่อไร่ต่างกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก เพราะฉะนั้นต้องนำเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจังหวัดขอนแก่นมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเกษตรค่อนข้างมาก

ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ หรือ Science Park Promotion Agency : SPA ซึ่งต้องนำผลวิจัยไปปรับใช้กับเกษตรกร

หากเราขายเพียง raw material จะขึ้นกับราคาตลาดโลก เช่น ข้าว น้ำตาล เราไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ แต่หากแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ข้าวญี่ปุ่นราคาหลักร้อย

เมื่อนำไปแปรรูปเป็นเหล้าสาเก ราคาเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันบาทต่อขวด ประเทศไทยมีวัตถุดิบและพืชสมุนไพรต่าง ๆ ที่สามารถนำมาแปรรูปได้จำนวนมาก และเราได้นำเรื่องนี้เข้าไปในบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์จังหวัดแล้วคงมีงบประมาณเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น”

นอกจากเรื่องพืช สัตว์เศรษฐกิจอย่างโคเนื้อของภาคอีสานสามารถทำได้เช่นกัน เพราะในเชิงคุณภาพสามารถทำได้ไม่ต่างจากเนื้อวากิลของญี่ปุ่น เพียงแต่ต้องสร้างเรื่องราวให้น่าสนใจและมีการควบคุมคุณภาพให้ดี

และยังมีแมลงที่เป็นโปรตีนทางเลือก ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนที่ไม่ทานสัตว์ใหญ่ได้ สามารถนำมาแปรรูปเป็นโปรตีนหรืออาหารเสริมได้เช่นกัน

3M เชื่อม 4 จังหวัดหลังโควิด

ในด้านภาคบริการถือว่ามีสัดส่วนการสร้างรายได้ที่สูงที่สุด สรุปออกมาเป็นนโยบาย 3M ได้แก่ 1.mobility หรือการทำเกี่ยวกับด้านโลจิสติกส์ 1) ขนส่งคน การเดินทางนอกจากการใช้ถนน

ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลัก ในอนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูงหรือรถไฟทางคู่ในจังหวัดขอนแก่นมีการวางแผนสร้างรถไฟรางเบา LRT ได้ความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผลิตคนรอโครงการก่อสร้างแล้ว

แต่ยังติดเรื่องที่ดิน ซึ่งการพัฒนาจะพ่วงกับระบบขนส่งมวลชนไปด้วย ขณะนี้ยังขับเคลื่อนกันต่อไม่มีล้มอย่างแน่นอน และมีทั้งนักลงทุนจากจีนและยุโรปสนใจลงทุนอยู่

2) ขนส่งสินค้า ประเทศไทยถือว่าการขนส่งทางรางเรียกว่าแทบจะน้อยมาก ทั้งที่เป็นช่องทางที่ถูกที่สุด ฉะนั้นการคมนาคมช่วงหลังจึงเน้นไปที่ระบบรางค่อนข้างมาก เริ่มที่รถไฟทางคู่

ซึ่งจังหวัดขอนแก่นก่อสร้างเสร็จแล้ว รอเชื่อมกับตัวเมืองนครราชสีมาเพื่อจะเข้าสู่กรุงเทพฯ และปัจจุบันจากนครราชสีมาไปถึงหนองคายสร้างเสร็จแล้ว จากนครราชสีมาไปยังสระบุรียังดำเนินการอยู่ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2564-2565 และมีเป้าหมายในอนาคตที่จะเชื่อมไปยังจังหวัดหนองคายสู่เวียงจันทน์ สปป.ลาว เชื่อมต่อไปถึงจีน

ถัดมาเป็นโครงการท่าเรือบกที่ระบุแล้วว่าจะมีที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นครราชสีมา และขอนแก่น

ขณะเดียวกันขอนแก่นก็มีสถานีกระจายสินค้าคอนเทนเนอร์ยาร์ด (container yard) ต.ท่าพระ อ.เมืองขอนแก่น ที่ได้ดำเนินการแล้ว

“ขอนแก่นมีผู้ผลิตทั้งด้านเกษตร ด้านอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีระบบขนส่ง ท่าเรือบก ซึ่งได้กำหนดพื้นที่ก่อสร้างไว้ที่อำเภอน้ำพองประมาณ 500 ไร่ ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาทเป็นแผนในอีก 4-5 ปีข้างหน้า

ดีมานด์ด้านตู้คอนเทนเนอร์มีพร้อมที่จะส่งออกตรงไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ถ้ามีระบบพิธีการศุลกากรที่ขอนแก่นพร้อมก็ยกขึ้นเรือได้เลย และหากในอนาคตเชื่อมทางทิศเหนือได้ก็ผ่านเข้าจีนตอนใต้ได้เลย แต่ทุกอย่างต้องพิจารณาให้ดี”

2.MICE city ผลักดันการเป็นเมืองประชุมสัมมนา พร้อมรองรับผู้คนทั้งสนามบิน โรงแรม ร้านอาหาร และวัฒนธรรมอันดีงาม ก่อนเกิดการระบาดโควิด มีอัตราการเติบโตหลัก 10%+ต่อปี

3.medical hub ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริการโลจิสติกส์ หรือภาคการพัฒนาด้านต่าง ๆ ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสาธารณสุข โดยแพทย์ในจังหวัดขอนแก่นกำลังคุยถึงการสร้างมาตรฐาน global healthcare accreditation (GHA)

เพื่อสร้างความมั่นใจทั้งคนไทยและต่างประเทศ พร้อมลุยหลังเปิดประเทศหลังโควิด สร้างเป็นเมืองน่าอยู่ที่ปลอดภัยและค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก

กมลพงศ์เผยมุมมองหลังวิกฤตโควิดว่า ตอนนี้ในกลุ่มหอการค้าได้มีการพูดคุยถึงแผนทุกอย่างข้างต้นว่า จะต้องผลักดันโครงการต่าง ๆ เข้าไปเป็นแผนพัฒนาจังหวัดในแต่ละจังหวัดให้ได้ เพราะหากอยู่ในแผนจังหวัด ทางราชการจะสามารถขับเคลื่อนได้

“ขอนแก่นเราคุยกันระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคการศึกษา และสาธารณสุข ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน เพราะไม่มีปัญหาไหนที่แก้โดยศาสตร์ด้านเดียว

และเราต้องเข้าใจว่าทางราชการเดินด้วยตัวหนังสือ เดินด้วยเอกสาร ฉะนั้นต้องมีแผนงบประมาณถึงจะมา และไม่ใช่มีโครงการแล้วจะได้งบประมาณมาทันที

ต้องวางไว้ล่วงหน้าเป็นปี ใช้จิ๊กซอว์ทุกส่วนมารวมกัน แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะทำอะไรไม่ได้มาก แต่ก็ต้องเตรียมแผนไว้ เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้นทุกแผนพร้อมจะลุยได้เลย”