หมากราคาสูงรอบ 22 ปี ต้นกล้าผลิตไม่ทัน

“หมากอ่อน” ราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 25 บาท/กก. “ต้นกล้าหมาก” ราคาพุ่ง ยอดสั่งซื้อทะลักหลายพันต้น แต่ผลิตไม่ทัน ตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบันขายไป 40,000 ต้น

นายวิชัย ดำเรือง เจ้าของสวนสละลุงถันรายใหญ่ภาคใต้ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์การค้าหมากและต้นกล้าหมากอ่อนหรือหมากเขียว ราคาสูงเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปลูกหมากมากว่า 22 ปี

โดยราคาหมากอ่อนเคลื่อนไหวสูงสุดประมาณ 23-25 บาท/กก. โดยราคาเริ่มกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 มาถึงปัจจุบัน เทียบกับในอดีตราคาเคลื่อนไหวประมาณ 8-20 บาท/กก. หรือบางครั้งแทบไม่มีราคา

ขณะที่ต้นกล้าหมากได้เริ่มขยับสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 อยู่ที่ 15 บาท/ต้น และตลาดยังต้องการจำนวนมาก แต่ไม่สามารถผลิตต้นกล้าได้ทัน ขณะนี้ยอดสั่งซื้อยังค้างอยู่ประมาณ 3,000 ต้น โดยยอดขายสะสมมาตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบันประมาณ 40,000 ต้น มีคำสั่งซื้อตั้งแต่รายละ 200-500 ต้น ทั้งพื้นที่ จ.พัทลุงและจังหวัดอื่น ๆ ทั้งนี้ การปลูกหมากใช้ระยะเวลา 3 ปีจะให้ผลผลิต

นายวิชัยกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันหมากกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญตัวใหม่ของไทย และมีทิศทางที่ดีเพราะตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูงทั้งประเทศจีน อินเดีย ไต้หวัน มาเลเซีย

ขณะเดียวกันทราบข้อมูลว่าทางนักลงทุนต่างประเทศ เช่น จีน ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปหมากอ่อนหรือหมากเขียวเป็นผลิตภัณฑ์ที่ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา จึงส่งผลให้ผลผลิตหมากและต้นกล้ามีทิศทางที่ดี

“ทางมหาวิทยาลัยทักษิณ จ.พัทลุง น่าจะสนับสนุนทำการวิจัยว่ามีคุณค่า คุณภาพ และคุณประโยชน์ ข้อดี-ข้อเสียอย่างไร เพราะตั้งแต่อดีตผู้บริโภคฟันคงทนสุขภาพดีขึ้น ที่ต่างประเทศน่าจะทราบข้อมูลคุณค่าของหมากที่สามารถชูจุดขายได้ ผมเคยไปไต้หวันพบมีการส่งเสริมบริโภคหมากอ่อน แม้กระทั่งวัยหนุ่มสาวก็บริโภคเคี้ยวหมากกันเป็นล่ำเป็นสัน โดยนำมาผ่าซีกหน้าเปียก หน้าขาว หน้าอ่อน มีปูนพลูเป็นส่วนผสม 1 ชิ้น 1 คำ”

นายวิชัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับสวนสละลุงถันปลูกหมากประมาณ 3,000 ต้นผสมผสานกับสวนสละ ซึ่งมีการเก็บเกี่ยวทุกสัปดาห์ และ 15 วันตามสถานการณ์ราคาหมาก โดยเฉลี่ยเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 2 ตัน/เดือน เฉลี่ยตันละ 10,000 บาท ภาพรวมทั้งปีมียอดขายประมาณ 24 ล้านบาท/ปี

ในอดีตที่สวนมีการปลูกหมากเตี้ย หมากใหญ่ และปลูกผลไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกหลายชนิดร่วมด้วย เช่น สละ ทุเรียน มังคุด ลองกอง แต่ปรากฏว่าหมากให้ผลผลิตดีกว่าพืชชนิดอื่น และการปลูกหมากไม่ต้องใส่ปุ๋ยได้อานิสงส์จากการใส่ปุ๋ยในสวนสละ ทุเรียน มังคุด ลองกอง ตอนหลังตัดทิ้งโดยทุเรียนเป็นโรคไฟทอปทอรา รากเน่า มังคุด ลองกอง ร่มไม่มีแสงแดด ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตลดลง