“ดั๊กกรุ๊ป” ชิงเค้กเวนดิ้งแมชีน ลุยตู้ขายยาควบปรึกษาหมอ

ตู้เวนดิ้งดั๊ก กรุ๊ป

“ดั๊ก กรุ๊ป” เกาะกระแส retail automation ขยายธุรกิจตู้หยอดเหรียญ ร้านค้าไร้พนักงาน เล็งเปิดตัวตู้ขายยาควบบริการปรึกษาแพทย์ทางไกลหวังรับกระแสสุขภาพ ตอบโจทย์ชุมชนต่างจังหวัด พร้อมส่งร้านไร้พนักงาน เจาะออฟฟิศ-คอนโดฯ ตั้งเป้า 2565 ขาย 400 ตู้ รับเม็ดเงิน 140 ล้าน

นายกิตติศักดิ์ รักธรรม ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ดั๊ก กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายตู้หยอดเหรียญขายสินค้าอัตโนมัติ เครื่องแลกเหรียญ รวมถึงร้านสะดวกซัก กล่าวว่า ปัจจุบันวงการค้าปลีกของไทยมีความต้องการตู้ขายสินค้าและบริการแบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยหลายปัจจัยหนุน อาทิ สภาวะขาดแคลนแรงงาน สังคมสูงวัย รวมถึงความคุ้นเคยกับการใช้งานตู้-จ่ายเงินด้วยการสแกน-แอป ที่เกิดจากโครงการต่าง ๆ ของรัฐในช่วงโควิด-19 อีกทั้งยังทำให้คนไทยหันมานิยมการบริการตนเองหรือ self service มากขึ้น สะท้อนจากการซื้อตั๋วหนัง หรือสั่งอาหาร

ขณะเดียวกัน แบรนด์สินค้าต่างกล้าใช้ตู้หยอดเหรียญมากขึ้น หลังช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตู้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ช่วยให้ตู้มีความสามารถใกล้เคียงกับร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นสามารถติดตามข้อมูลการขาย ทำโปรโมชั่น-โฆษณา ตรวจสอบปัญหาและคืนเงินได้ทันที จึงไม่ต้องกังวลว่าการขัดข้องของตู้จะสร้างผลด้านลบกับแบรนด์เหมือนในอดีต

การงานตู้หยอดเหรียญจึงหลากหลายมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะการขายน้ำ-ขนมเท่านั้น แต่รวมไปถึงสินค้าอื่น ๆ เช่น แก็ดเจต เสื้อผ้า ยารักษาโรค รวมไปถึงบริการต่าง ๆ ตามแต่ที่ภาคธุรกิจจะมองเห็นช่องทาง เช่นเดียวกับตำแหน่งตั้งตู้ที่หลากหลาย อาทิ หน้าร้านค้าที่ต้องการขายสินค้านอกเวลาปกติหรือต้องการเพิ่มบริการให้ผู้ที่มาใช้สถานที่ อย่างชุมชน, ตลาด, สนามกีฬา, วัด และธุรกิจที่เปิด 24 ชั่วโมง ไปจนถึงการเบิกจ่ายชิ้นส่วนในโรงงาน เป็นต้น นำไปสู่กระแสการค้าปลีกอัตโนมัติหรือ retail automation

ทั้งนี้คาดว่าปัจจุบันตลาดตู้หยอดเหรียญขายสินค้าจะมีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากจำนวนตู้ 4 หมื่น-5 หมื่นเครื่อง และมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด นับเป็นการเติบโตสูงเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทเริ่มธุรกิจจากการผลิตตู้แลกเหรียญ ในชื่อบริษัท เซอร์บ็อกซ์ จำกัด เมื่อปี 2555 และขยายธุรกิจเพิ่มตู้หยอดเหรียญขายสินค้าอัตโนมัติ ด้วยการพัฒนาแผงวงจรและซอฟต์แวร์เอง ส่วนตัวตู้นำเข้าจากต่างประเทศ ชูระบบออนไลน์ให้สามารถตรวจสอบ-ควบคุมตู้ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ รวมถึงมีธุรกิจร้านสะดวกซักเอ็มโซล และบริการชำระเงินออนไลน์ ทูเอนฮานซ์ ก่อนจะปรับโครงสร้างและตั้งบริษัทดั๊ก กรุ๊ปเป็นโฮลดิ้งคอมปะนีเพื่อรวมศูนย์ธุรกิจเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา

Advertisment

สำหรับทิศทางของดั๊ก กรุ๊ปนั้น นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า จะใช้จังหวะที่ตลาดมีกระแสเติบโตนี้ ขยายธุรกิจทั้งการพัฒนาตู้รุ่นใหม่ ๆ ปั้นโมเดลร้านค้าไร้พนักงาน ขยายแฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก รวมถึงเปิดตัวตู้รุ่นใหม่และทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายตู้ให้เติบโต โดยขณะนี้อยู่ระหว่างร่วมมือกับบริษัท ไดเอทซ์ (Dietz) ผู้ให้บริการการแพทย์ทางไกล พัฒนาตู้ขายยาและให้บริการปรึกษาแพทย์ผ่านหน้าจอของตู้ได้ เพื่อตอบโจทย์การเข้าถึงแพทย์และยาในระดับชุมชน-หมู่บ้าน และรับเทรนด์สุขภาพ รวมถึงสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง 3-4 รายที่ทำตู้ขายยาอยู่เช่นกัน รวมถึงเปิดรับพาร์ตเนอร์ในวงการร้านสะดวกซักมาร่วมพัฒนาตู้แลกเหรียญและตู้ขายน้ำยาซักผ้า จากเดิมที่บริษัทพัฒนาเอง

นอกจากนี้ยังเดินหน้าขยายสาขาร้านค้าไร้พนักงาน “ดั๊ก สโตร์” (Duck Store) ซึ่งเป็นโมเดลร้านค้าไร้พนักงานแบบยืดหยุ่น ที่นอกจากให้ลูกค้าชำระเงินด้วยตนเองแล้ว ยังเปิดให้ผู้บริโภคในพื้นที่ เช่นในอาคารสำนักงานหรือคอนโดฯนั้น ๆ นำสินค้ามาวางขายในร้านได้ โดยอาศัยเครื่อง POS และซอฟต์แวร์บริหารจัดการ-ชำระเงินของบริษัทที่ติดตั้งในร้าน

ส่วนบริษัทจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียม ทั้งนี้แบ่งเป็น 4 โมเดลตามขนาดร้าน ตั้งแต่มินิมีชั้นวางสินค้า 4 จุด ถึงแมสที่มีชั้นวางสินค้า 7 จุด ทั้งนี้ปัจจุบันร้านดั๊ก สโตร์มีสาขาประมาณ 25 สาขา กระจายในอาคารสำนักงาน คอนโดฯ ฯลฯ อาทิ บริษัทเอสซีจี, คอนโดฯ IDEO Q สุขุมวิท 36, อาคาร G Tower เป็นต้น

รวมถึงเปิดตัวตู้รุ่นใหม่เฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง จากปัจจุบันมีไลน์อัพทั้งหมด 10 รุ่น แบ่งเป็นตู้ขายสินค้า 5 รุ่น ตู้ขายน้ำยาซักผ้า 1 รุ่น และมีเครื่องแลกเหรียญอีก 4 รุ่น โดยตู้ขายสินค้าทุกรุ่นเป็นระบบทัชสกรีน ราคาเริ่มต้น 1.35 แสนบาท ตู้ขายน้ำยา ราคา 3 หมื่นบาท และเครื่องแลกเหรียญ ราคาเริ่มต้น 2.5 หมื่นบาท ทั้งนี้ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

Advertisment

พร้อมรับมือการแข่งขันกับผู้ผลิต-บริหารตู้รายอื่น ด้วยการชูบริการหลังการขาย เช่น ทีมช่างทั่วประเทศสามารถเข้าให้บริการใน 48 ชั่วโมง รวมถึงการพัฒนาชิ้นส่วนและซอฟต์แวร์เอง ช่วยให้สามารถเพิ่มความสามารถใหม่ ๆ หรือทำฟังก์ชั่นตามที่ผู้ซื้อตู้ต้องการได้รวดเร็วหลากหลายกว่าคู่แข่ง เสริมด้วยโปรโมชั่น เช่นการขายคู่ในราคาพิเศษ หรือแถมตู้แลกเหรียญ-ขายน้ำยาซักผ้า เป็นต้น

นอกจากนี้บริษัทยังเดินหน้าสร้างทีมช่างสำหรับซ่อมแซมตู้โดยเฉพาะ ด้วยการจับมือกับสถานศึกษาสร้างบุคลากร และลงทุนประมาณ 30-40% ของกำไรในแต่ละปี เพื่อพัฒนาเครื่องมือบริหารจัดการเครือข่ายตู้เพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต เช่นเดียวกับการผลักดันการใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ที่ผลิตในประเทศ เพื่อประกอบตู้ให้เพิ่มขึ้นเป็น 80% ในอีก 5-6 ปี จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 30-60% โดยอาศัยจับมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีจำนวนมากในไทย

ด้านเป้าหมายนั้น นายกิตติศักดิ์ระบุว่า ปี 2565 นี้วางเป้ารายได้ 140 ล้านบาท จากยอดขายประมาณ 400 เครื่อง และร้านสะดวกซัก 50 แห่ง เติบโตเล็กน้อยจากปี 2564 ที่มีรายได้ 132 ล้านบาท ทั้งนี้ปรับลดเป้าลงจากตัวเลขเดิมที่ 132 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาซัพพลายเชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้การเติบโตลดลงเป็นประวัติการณ์ หลังช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโตไม่ต่ำกว่า 100% ทุกปี

ดยปัจจุบันบริษัทขายตู้หยอดเหรียญไปทั้งหมดกว่า 1.2-1.3 พันตู้ในจำนวนนี้เป็นระบบออนไลน์ประมาณ 30% ส่วนเครื่องแลกเหรียญขายไปแล้วประมาณ 5-6 พันเครื่อง