แมคโดนัลด์ เต็มสูบปั๊มยอด เป้าขึ้นผู้นำร้านอาหาร QSR

แมคโดนัลด์

ตลาดร้านอาหารพลิกฟื้น หลังโควิดคลี่คลาย “แมคโดนัลด์” จัดทัพหลังได้ซีอีโอหญิงคนใหม่ ประกาศ 4 กลยุทธ์ นำระบบ digital food safety เสริมแกร่งคุณภาพอาหาร เร่งพัฒนาเมนูซิกเนเจอร์ใหม่ จัดโปรโมชั่นราคาคุ้มค่าสร้างโอกาสขาย เดินหน้าลงทุนกว่า 100 ล้าน ลุยขยายสาขาใหม่ พร้อมรีโนเวตร้านรองรับลูกค้าไทย-เทศ มั่นใจสิ้นปียอดขายเติบโต 20%

นางสาวกิตติวรรณ อนุเวชสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น 2 ปีเต็ม ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารมีมูลค่าอยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาท ลดลง 11% จากปีก่อนหน้า

ขณะที่ร้านอาหารประเภทเบอร์เกอร์ มูลค่าตลาดราว ๆ 9,000 ล้าน ลดลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากโควิด-19 ทำให้ร้านอาหารถูกจำกัดด้วยมาตรการต่าง ๆ รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง และทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนมากขึ้น

สำหรับแมคโดนัลด์เอง แม้ช่วงโควิดระบาดจะมีความท้าทายอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาส จากเดิมแมคโดนัลด์มีความแข็งแกร่งด้านแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ จึงหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางดีลิเวอรี่ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digital) มาใช้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า และออกแบบแพลตฟอร์ม “แมคโดนัลด์ แอปพลิเคชั่น” ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคใหม่และทำให้แบรนด์เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น

ควบคู่กับการพัฒนาเมนูใหม่ ๆ และจัดโปรโมชั่นผ่านแพลตฟอร์มการสั่งอาหาร รวมถึงการร่วมมือกับแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ต่าง ๆ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างนี้ ทำให้ปี 2564 และครึ่งปีแรกของปี 2565 ยอดขายเติบโต 30% ดีลิเวอรี่ เติบโตขึ้นกว่า 236% ส่วนไดรฟ์ทรูโต 34%

ขณะเดียวกัน หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ผู้คนเริ่มออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น บวกกับนโยบายเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเดินทางเข้ามาในไทย แม้จะยังไม่เท่าเดิม ถ้าเทียบกับก่อนโควิด แต่ถือว่ามีสัญญาณที่ดี ซึ่งทำให้สัดส่วนทราฟฟิกหน้าร้านในบางพื้นที่เริ่มกลับมา และมียอดซื้อต่อบิลเริ่มต้นที่ 100 บาทขึ้นไป ส่วนสาขาที่โฟกัสนักท่องเที่ยวจีน ยังต้องรอเวลาที่จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

นางสาวกิตติวรรณกล่าวต่อถึงกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ แมคโดนัลด์ให้ความสำคัญกับ 4 กลยุทธ์หลัก เริ่มจากการจัดทำระบบ digital food safety สำหรับใช้ในร้านแมคโดนัลด์ เพื่อตรวจสอบคุณภาพอาหารให้ได้ตามมาตรฐานระดับโลกของแมคโดนัลด์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของร้านอาหารในไทยที่มีการนำเทคโนโลยีคลาวด์และ IOT (internet of things) มาใช้ในการเก็บและประมวลผลข้อมูลด้าน food safety

โดยจะนำไปใช้กับสาขาทั้งหมดภายในปี 2565 รวมไปถึงการนำนวัตกรรมอินโนเวชั่นมาใช้พัฒนาเมนูทั้งเมนูหลัก อย่างเบอร์เกอร์และไก่ ตลอดจนเมนูซิกเนเจอร์ใหม่ ๆ ให้มีรสชาติแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ชูจุดขายเรื่องคุณภาพ และราคาเข้าถึงง่าย

พร้อมกับการจัดโปรโมชั่นให้ตรงกับความตรงการของผู้บริโภค ในช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้ ได้จัดโปรโมชั่น “ชุดสุดคุ้ม สุขทุกวัน” ในราคา 99 บาท กับเบอร์เกอร์ถึง 4 ชนิด พร้อมกับเฟรนช์ฟราย และเครื่องดื่มโค้ก ถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และจะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ามากกว่าเงินที่จ่ายไป โดยตั้งเป้าว่าโปรโมชั่นดังกล่าว จะช่วยดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่ร้านเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า

นางสาวกิตติวรรณยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันแมคโดนัลด์ต้องการขึ้นเป็นผู้นำของร้านอาหาร QSR จึงหันมาเน้นบริการเสิร์ฟอาหารที่โต๊ะและเครื่องสั่งอาหารอัตโนมัติ และบริการชำระเงินแบบไร้เงินสดมาช่วยเสริมแกร่งการบริการสั่งอาหาร ให้ได้รวดเร็ว สะดวกมากขึ้น และต้องให้น้ำหนักดิจิทัลสร้าง omnichannel เชื่อมโยงทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารที่ร้าน บริการซื้อกลับบ้าน บริการไดรฟ์ทรู บริการจัดส่งอาหารแมคดีลิเวอรี่ควบคู่กันไป

ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมงบฯลงทุนไว้มากกว่า 100 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายสาขาใหม่ ๆ อีก 2-3 สาขา มุ่งไปที่สาขาไดรฟ์ทรูเป็นหลัก รวมไปถึงการทยอยรีโนเวตร้านเดิม 20 สาขาต่อไป ภายใต้คอนเซ็ปต์ร้านที่ใหม่และทันสมัยขึ้น โดยได้ยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งปลั๊กไฟ และ free WiFi รองรับความต้องการคนรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งในครึ่งปีแรก เปิดไปแล้ว 3 สาขา ในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ขณะที่แมคโดนัลด์ สาขาอัมรินทร์พลาซ่า ซึ่งถือเป็นสาขาแรกในประเทศไทย หลังให้บริการนานกว่า 37 ปี ในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ได้ปิดให้บริการชั่วคราวเพื่อรีโนเวตร้าน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีจะได้เห็นแมคโดนัลด์โฉมใหม่ ปัจจุบันแมคโดนัลด์ประเทศไทยมีทั้งหมด 226 สาขา

“ช่วงก่อนโควิด แมคโดนัลด์เติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวมาตลอด แต่ปี 2565 แม้ธุรกิจจะยังอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน มีปัจจัยด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อเข้ามาเป็นตัวแปร แต่เชื่อว่าจากกลยุทธ์เชิงรุกที่กล่าวข้างต้น จะผลักดันให้แมคโดนัลด์เติบโตกว่า 20% ในปี 2565” นางสาวกิตติวรรณกล่าวย้ำในตอนท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นางสาวกิตติวรรณจะได้รับแต่งตั้งเป็นซีอีโอแมคไทยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และถือเป็นซีอีโอหญิงคนแรกของแมคไทย เคยเป็นที่ปรึกษาทางการตลาดให้กับแมคโดนัลด์ ประเทศไทย มานานกว่า 25 ปี และเคยทำงานร่วมกับนายเดช บุลสุข ผู้ก่อตั้งแมคโดนัลด์ในประเทศไทยด้วย