โซเชียลคอมเมิร์ซ โตติดลม LINE Shopping เร่งอัพสปีดร้านค้า

เลอทัด ศุภดิลก
เลอทัต ศุภดิลก ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ LINE ประเทศไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แอปพลิเคชั่น LINE (ไลน์) แทรกตัวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นทุกที เริ่มจากการเป็นช่องทางในการพูดคุย (Chat) ต่อยอดไปสู่การมีสารพัดบริการ ล่าสุดที่เริ่มเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (ก่อนโควิดไม่เท่าไร) คือ บริการ LINE SHOPPING เพื่อตอบโจทย์คนไทยที่ได้ชื่อว่าไม่แพ้ใครในโลกในเรื่องการช็อปปิ้ง

ส่องเทรนด์นักช็อปไทย

สอดคล้องกับผลการศึกษาเกี่ยวกับเทรนด์การช็อปปิ้ง (Future Shopper) ของวันเดอร์แมน ธอมสัน ในปีที่ผ่านมาที่พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ซื้อสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซสูงสุดในโลก (88%)

และ 95% ของคนไทยยังระบุด้วยว่า การช็อปปิ้งออนไลน์มีส่วนช่วยให้การใช้ชีวิตในช่วงโควิดง่ายขึ้น ทำให้การช็อปปิ้งออนไลน์เติบโตแซงหน้าการช็อปปิ้งออฟไลน์ไปแล้ว โดยเพิ่มจาก 35% ในปี 2564 มาเป็น 65% ในปีนี้ และมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นด้วย

ตาราง Line Shopping

นั่นทำให้ LINE SHOPPING ในประเทศไทยได้กลายเป็นต้นแบบของโซเชียลคอมเมิร์ซของ LINE ในประเทศอื่น ๆ ด้วย จากพฤติกรรมคนไทยที่ชื่นชอบการใช้โซเชียลมีเดียและต่อยอดมายังการซื้อสินค้า

ก่อนหน้านี้ ไลน์ ช้อปปิ้งเคยเปิดเผยมูลค่าธุรกรรมรวมในตลาด (Gross Merchandise Value) อยู่ที่กว่า 5,300 ล้านบาท (ขณะนั้นยังมีจำนวนร้านค้าที่ 3.7 แสนร้านค้า)

เพิ่มดีกรีตอบโจทย์ผู้ซื้อ-ผู้ขาย

ปัจจุบัน (เดือน ก.ค. 2565) มีจำนวนร้านค้าบน ไลน์ช้อปปิ้ง 436,000 ร้านค้าแล้ว โดยประเภทสินค้าที่เติบโตสูงสุด ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเติบโตต่อเนื่องก้าวกระโดดมาตั้งแต่ช่วงโควิด ถัดมาเป็นหมวดสินค้าแฟชั่น ที่มีทั้งแบรนด์โลคอลจากไทยดีไซเนอร์ทั้งรายใหญ่ และรายย่อย ตามด้วยสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม

แต่ที่น่าสนใจและมาแรงมากคือ กลุ่มสินค้าแม่และเด็ก เช่น เสื้อผ้าเด็ก

“เลอทัต ศุภดิลก” ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า LINE SHOPPING ในไทยถือเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่น ๆ เพราะหลายฟีเจอร์ฟังก์ชั่นเป็นการคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบสนองผู้บริโภคชาวไทยโดยเฉพาะ

“ความท้าทายของไลน์คือ เน้นการสร้างฟีเจอร์ให้ตอบโจทย์คนซื้อ เราโชคดีที่พฤติกรรมคนไทยใช้ไลน์ในการซื้อขายสินค้าอยู่แล้ว ที่ผ่านมาจึงประสบความสำเร็จจากการขายโดยใช้เครื่องมือในไลน์ เช่น คนดูสินค้าเข้ามาสอบถามได้ และซื้อได้ทันที เมื่อเกิดการขาย คนขายก็ออกส่วนลดได้ทันทีในแชต เป็นต้น”

ส่วนในแง่ยอดขายในหมวดสินค้าแม่และเด็กที่เติบโตรวดเร็วและมีความน่าสนใจมาจากพฤติกรรมของคุณแม่คนไทยที่ชื่นชอบการพูดคุยกับร้านค้า การเป็น “โซเชียลคอมเมิร์ซ” จึงตอบโจทย์ทำให้ร้านค้าบางแห่งสามารถขายสินค้าคอลเล็กชั่นใหม่มูลค่ากว่า 10 ล้านบาทได้หมดภายใน15 นาที เป็นต้น ทั้งยังพบว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีการซื้อซ้ำมากกว่ากลุ่มอื่นถึง 2 เท่า

“ไลน์ช้อปปิ้ง เป็นโซเชียลคอมเมิร์ซที่คนซื้อ เวลาจะค้นหาสินค้าไม่ได้ค้นจากตัวสินค้า แต่ค้นหาจากร้านค้า กลุ่มร้านค้าหรือสินค้าที่มีฐานแฟนคลับอยู่แล้วจะขายได้มากขึ้นเมื่อขึ้นมาอยู่ไลน์ช้อปปิ้ง เรายังพบด้วยว่าร้านในไลน์ออฟฟิเชียล (ไลน์โอเอ) ถ้ามีแฟนเกินร้อยคนขึ้นไปจะมีโอกาสในการขายเพิ่มขึ้น”

การแข่งขันและเป้าหมาย

ผู้บริหาร LINE SHOPPING กล่าวด้วยว่า เป้าหมายถัดไปที่จะเห็นมากขึ้นในปีหน้าคือ การทำให้ร้านค้าเห็นว่าการขายผ่านช่องทางไลน์มีต้นทุนต่ำกว่าช่องทางอื่น และเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่การปิดการขายได้ง่ายขึ้น และทำให้เกิดการซื้อซ้ำด้วยต้นทุนที่ถูกที่สุด

“สิ่งที่เราต้องทำคือ หาคนที่ใช่ให้กับร้านที่ใช่ โดยปัจจุบันมีฐานคนใช้ไลน์ 53 ล้านคน แต่ใช้บริการไลน์ช้อปปิ้ง 12 ล้านคน และมียอดใช้จ่ายต่อครั้งที่ 1 พันบาท มีร้านค้ากว่า 4.3 แสนร้านค้า และตั้งเป้าว่าในสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นให้ได้อีกอย่างน้อย 30% จากจำนวนออฟฟิเชียล แอ็กเคานต์ที่มี 5 ล้านราย ก็คิดว่าจะขยายได้อีกมาก”

สำหรับกลยุทธ์ในครึ่งปีหลัง 2565 นอกจากโฟกัสการดึงผู้ขายให้มาเปิดร้านและสร้างการรับรู้ให้ไลน์ช้อปปิ้งในฐานะเครื่องมือของร้านค้าแล้วยังต้องการทำให้ร้านค้า ซึ่งกว่า 90% เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน จึงเตรียมจัดงาน “Social Commerce Day 2022” (27 ส.ค. 2565) ในธีม “สปาร์คพลังใจ เติมไฟธุรกิจออนไลน์”

“คิดว่าที่ผ่านมาในช่วงโควิด ร้านค้าน่าจะค่อนข้างเหนื่อยกัน เขาอาจอยากรู้ว่าคนอื่นเป็นยังไงบ้าง เลยอยากปลุกพลังใจ และให้ร้านมาเจอกัน เพราะร้านค้ากลุ่มนี้เขาไม่ค่อยมีโอกาสมาเจอกัน เพราะขายออนไลน์ ทั้งมีเวทีเสวนาให้ความรู้ตลอดทั้งวัน ในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจยุคใหม่จากวิทยากรหลากหลายสาขา”

ทั้งหมดก็เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ Liberty to Win หรือการให้อิสระในการแข่งขัน และเสริมศักยภาพพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ในไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน