BDMS กางโรดแมปใหม่ บุกหนักย้ำเฮลท์แคร์เบอร์ 1

รพ.กรุงเทพ

กลับมามีรายได้และกำไรในระดับเดียวกับช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 แล้วสำหรับ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่มีเครือข่ายสาขาในประเทศมากถึง 57 โรง จาก 4 แบรนด์ กรุงเทพ สมิติเวช พญาไท เปาโล ด้วยจำนวนเตียงมากกว่า 8,700 เตียง

ล่าสุด ปี 2565 ที่ผ่านมา บีดีเอ็มเอส มีรายได้รวม 92,968 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปี 2564 และมีกำไรสุทธิ 12,606 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 59%

หากสังเกตจะพบว่า รายได้ 92,968 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นเป็นตัวเลขที่สูงกว่าปี 2562 หรือช่วงก่อนจะเกิดโควิด-19 ที่มีรายได้ 83,393 ล้านบาท

“นฤมล น้อยอ่ำ” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ในงาน Opportunity Day (28 มี.ค.) โดยระบุว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ดีมาก โดยในแง่รายได้โตขึ้นมา 23% หรือประมาณ 92,000 ล้านบาท

ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากธุรกิจ รพ. 88,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นรายได้จากกลุ่มสนับสนุน เช่น บริษัทยา ร้านขายยา แล็บ เป็นต้น โดยเฉพาะรายได้จากคนไข้ต่างประเทศที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 30% จากเดิม 24% โดยคนไข้ต่างชาติหลัก ๆ มาจาก กัมพูชา ลาว เมียนมา และตะวันออกกลาง สำหรับจีน แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้มากนัก แต่ก็ติดอันดับท็อปเทนของผู้ป่วยต่างชาติ

ปีนี้น่าจะเป็นปีของต่างชาติที่ทยอยกลับเข้ามา ซึ่งจะเป็น key growth drivers เนื่องจากที่ผ่านมายังพบว่ามี pent-up demand จากคนไข้ตะวันออกกลาง จีน และ CLMV นอกจากนี้ ยังมีแผนการขยายตลาดใหม่ ๆ ไปยังซาอุดีอาระเบีย บังกลาเทศ รวมทั้งการขยายกลุ่มคนไข้ไปยังกลุ่มประกันสังคมที่จะมี รพ.ในเครือให้บริการเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมี 9 แห่ง ล่าสุดที่เปิดรับคือ รพ.ดีบุก รพ.กรุงเทพ สุราษฎร์ เป็นต้น และตั้งเป้าผู้ประกันตนลงทะเบียนกับ รพ. 700,000 คน

“คนไข้ประกันสังคมไม่ใช่เรื่องใหม่ของบีดีเอ็มเอส ที่เราสนใจตลาดนี้เพราะเป็นตลาดที่สามารถทำงานร่วมกับตลาดพรีเมี่ยมได้ดี แล้วก็เป็นตัวส่งต่อให้กับโรงพยาบาลในเครือข่าย หรือในแง่ค่าใช้จ่ายต่อหัว สนง.ประกันสังคมก็มีการปรับเพิ่มขึ้น ถ้าบริหารได้ดีไม่ได้ด้อยไปกว่าตลาดพรีเมี่ยม

“แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ” ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ ย้ำถึงแผนการดำเนินงานจากนี้ไปว่า ตามแผนภายในปีนี้ยังมีนโยบายจะเพิ่มจำนวนเตียงให้ได้ไม่ต่ำกว่า 9,000 เตียง ภายในปี 2569-2570 จากปีนี้ที่มีประมาณ 8,700 เตียง

โดยปีนี้ที่จะเปิดเพิ่ม อาทิ พญาไท ศรีราชา 100 เตียง (ส่วนต่อขยาย รับประกันสังคม) และกรุงเทพ ปลวกแดง 239 เตียง (รับประกันสังคม) ปีหน้าจะมี รพ.เด็ก สมิติเวช อินเตอร์เนชั่นแนล (102 เตียง) ที่สมิติเวช ศรีนครินทร์ ตอนนี้เริ่มก่อสร้างแล้ว ปีถัดไป พญาไท 1 จะขยายเตียงเพิ่มอีก 160 เตียง ต่อจากนั้นก็จะเป็น กรุงเทพ เชียงใหม่ ที่จะเพิ่มอีก 75 เตียง และภายในปี 2026-2027 จำนวนเตียงจะเพิ่มเป็นประมาณ 9,000 เตียง

กลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพิ่งเปิด รพ.กรุงเทพ มะเร็ง ระยอง เป็นศูนย์มะเร็งของกลุ่มในภาคตะวันออก และรองรับกลุ่มคนไข้ทั้งประกันสังคม 30 บาท และคนไข้พรีเมี่ยม และจะเป็นโมเดลต้นแบบที่จะขยายไปตามต่างจังหวัด หรือหัวเมืองใหญ่ ๆ จากเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้กลับมาเปิด โมเวนพิค บีดีเอ็มเอส รีสอร์ท ที่ถนนวิทยุ (211 ห้อง) ให้บริการ wellness รองรับนักท่องเที่ยว และกำลังสร้างห้องประชุม เป็นอาคาร 5-6 คาดว่าจะเสร็จภายในปลายปี เพื่อรองรับกลุ่มประชุมสัมมนา (MICE)

จากแนวโน้ม silver age ที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จะใช้ center of excellence ศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศ ที่ปัจจุบันมี 13 โรงพยาบาล เป็นตัวรองรับ โดยจะโฟกัสในเรื่องของอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ และกระดูกสันหลัง โรคมะเร็ง โรคทางสมองและระบบประสาท โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งมีแผนจะขยาย product ไปในโรงพยาบาลเครือข่ายให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังจะขยายสาขาร้านขายยา Dr.Pharma ที่เป็นบริษัทย่อยของ บีดีเอ็มเอส ร่วมทุนกับบริษัทย่อยของ COM7 ตั้งบริษัท ด็อกเตอร์ฟาร์มา เฮลท์ เทคโนโลยี จำกัด คอนเซ็ปต์เป็นเหมือนซูเปอร์สโตร์ที่มีสินค้าขายจำนวนมาก Save Drug และราคาเข้าถึงได้ ตอนนี้เปิดไปแล้ว 3 สาขา ที่เซ็นเตอร์ พอยต์ ทองหล่อ เซฟวัน นครราชสีมา ปั๊ม ปตท.พระราม 4 และกำลังจะเปิดที่ศรีนครินทร์ และปีนี้จะเปิดอีกมากกว่า 10 สาขา

ขณะที่ “บุรณัชย์ ลิมจิตติ” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ด้านการตลาดต่างประเทศ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ กล่าวถึงแนวทางการทำตลาดในต่างประเทศว่า นอกจากกลุ่มลูกค้าจากกัมพูชา ลาว และเมียนมา และตะวันออกกลาง จากนี้ไปจะให้น้ำหนักกับกลุ่มลูกค้าจากประเทศจีนมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการกลับมาพูดคุยกับ ผิงอัน เฮลท์ หลังจากที่ได้จับมือเป็นพันธมิตรกันตั้งแต่ปลายปี 2019 แต่หลังจากนั้นก็มีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น ซึ่งทำให้แผนต่าง ๆ สะดุดลงไป

ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมแพ็กเกจต่าง ๆ ออกมารองรับ เช่น โปรแกรมการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย (immune booster) ที่มีดีมานด์สูง เป็นต้น พร้อมกันนี้ก็จะมีการทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถานทูต เอเย่นต์ สายการบิน บริษัทประกัน ฯลฯ ผ่าน BDMS collaboration center ที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เฉิงตู คุนหมิง

“อีกตลาดหนึ่งที่บีดีเอ็มเอสจะให้น้ำหนักมากขึ้นก็คือ กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council & GCC) 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน”

จากแนวทางและนโยบายของ BDMS ดังกล่าว สะท้อนถึงการเร่งจัดทัพเพื่อรองรับธุรกิจการให้บริการทางการแพทย์ที่จะกลับมาเติบโต จากการฟื้นตัวของผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รวมทั้งการเติบโตจากสังคมผู้สูงอายุ เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว