หวั่นช็อปปลายปีดาบ 2 คม ! “สหรัฐ” ห่วงหนี้บัตรเครดิตพุ่ง

สหรัฐห่วงหนี้บัตรเครดิต
ภาพจาก : pexels
คอลัมน์ : Market Move

ตามปกติช่วงเทศกาลช็อปปิ้งปลายปีจะเป็นจังหวะทำรายได้สำคัญของธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐ ทั้งห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ ต่างคาดหวังกับกระแสจับจ่ายซื้อของขวัญ ทั้งให้ตนเองและครอบครัว เพื่อนฝูง รวมถึงอาหารและของตกแต่งบ้าน

แต่ปีนี้ผู้ค้าปลีกกลับมองช่วงเวลาสำคัญนี้ด้วยความกังวล เนื่องจากแม้ผู้บริโภคจะยังจับจ่าย แต่ด้วยหลายปัจจัยลบต่าง ๆ ทำให้ผู้บริโภคมีเงินในกระเป๋าน้อยลง จนต้องหันไปพึ่งเงินอนาคตอย่างบัตรเครดิต หรือบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังกันมากขึ้น แต่ด้วยแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น เรื่องนี้อาจกลายเป็นระเบิดเวลาที่จะระเบิดออกมาในช่วงต้นปี 2567 เมื่อนักช็อปจะต้องจ่ายหนี้

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า แม้ช่วงปลายปี 2566 นี้ค้าปลีกสหรัฐจะมีแนวโน้มคึกคัก สะท้อนจากการจับจ่ายต่าง ๆ เช่น บัตรชมคอนเสิร์ต เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่หมดอย่างรวดเร็ว และการเติบโตของเม็ดเงินค้าปลีกในเดือนกันยายน

แต่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐ เช่น เมซี่ส์ วอลมาร์ต รวมถึงสถาบันการเงิน เวลส์ ฟาร์โก และแบงก์ออฟอเมริกา ต่างแสดงความกังวลและจับตาปัญหาที่อาจตามมาหลังเทศกาลช็อปปิ้งปลายปี 2566 นี้ อย่างการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ใช้บัตรเครดิตและบริการซื้อก่อนจ่ายที่หลัง ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อน ๆ เนื่องจากนโยบายขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้ผู้ที่ไม่สามารถปิดยอดบัตรได้ในเดือนเดียวจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น

“อาทิตยา บาเว” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของแบงก์ออฟอเมริกา กล่าวว่า ปลายปีนี้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจะเลือกเป็นหนี้ในช่วงเวลาที่เสี่ยงมากกว่าปกติ จากทั้งภาระค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยกรณีค้างชำระ สถานการณ์นี้ทำให้ผู้ค้าปลีกคาดการณ์ได้ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อถึงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปีหน้า โดยคำถามสำคัญในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ก็คือ จำนวนผู้ผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตและบริการผ่อนต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นไปมากแค่ไหน

ด้านผู้ค้าปลีกหลายรายมีความกังวลเช่นกัน “เอเดรียน มิทเชลล์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและประธานฝ่ายปฏิบัติการ ของเชนห้างสรรพสินค้าเมซีส์ กล่าวเมื่อเดือนสิงหาคมว่า ขณะนี้ตัวเลขจำนวนผู้ผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ เช่นเดียวกับรายได้จากบัตรเครดิตของบริษัทที่ลดลงเนื่องจากปริมาณหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น

“แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ภาระอย่างหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้ซื้อรถยนต์ และหนี้จำนองกลายเป็นภาระก้อนใหญ่ขึ้นไปอีก”

ไปในทิศทางเดียวกับวอลมาร์ต โดย “ดั๊ก แม็กมิลลอน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารระบุว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกกำลังเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับภาวะหนี้ของผู้บริโภคทั้งค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมที่สูงขึ้น และหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งแม้แต่การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน การขึ้นค่าแรงและภาวะเงินฝืด ก็สามารถช่วยลดความท้าทายนี้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

ขณะที่ “จิล ทิมม์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของโคห์ลส์ ยอมรับว่า ช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภคจ่ายหนี้บัตรเครดิตในแต่ละงวดน้อยลง แต่เชื่อว่าเป็นเรื่องปกติในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคืองอย่างในปัจจุบัน และมูลค่าที่ผู้บริโภคแบ่งจ่ายในแต่ละงวดยังสูงกว่าช่วงปี 2562

“ทิม ควินแลน” นักเศรษฐศาสตร์ของ เวลส์ ฟาร์โก ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันผู้ใช้บัตรเครดิตยังไม่รับรู้หรือตื่นตัวกับการขึ้นดอกเบี้ยมากนัก ทำให้ยังไม่ตระหนักว่าตนเองจะได้รับผลกระทบอย่างไรจนกว่าจะได้เห็นยอดดอกเบี้ยในใบแจ้งหนี้

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ ไตรมาสที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตในสหรัฐอเมริกาโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 21% ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยเพียง 16%

และสำหรับบัตรที่ออกโดยผู้ค้าปลีกนั้น แบงก์เรต บริษัทผู้ให้บริการด้านการเงินกับรายย่อย ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยอาจพุ่งสูงได้ถึงเกือบ 30% นับว่าสูงทำลายสถิติเดิม

สำหรับแนวโน้มการจับจ่ายในช่วงปลายปี 2566 นี้ ผลสำรวจของหลายสำนักยังคงขัดแย้งกัน โดยการสำรวจชาวอเมริกัน 8.1 พันคน เมื่อต้นเดือนตุลาคมของสหพันธ์การค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐ พบว่าผู้บริโภคตั้งงบฯสำหรับของขวัญ ของตกแต่ง อาหาร และอื่น ๆ ไว้ประมาณ 875 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 42 ดอลลาร์สหรัฐจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 5 ปี

ส่วนผลสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ เซปเทมเบอร์ มอร์นิง คอนเซาต์ ที่สำรวจชาวอเมริกัน 2.2 พันคน พบว่าเกือบ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างวัยผู้ใหญ่ระบุว่า จะใช้เงินในช่วงช็อปท้ายปีนี้ลดลง สัดส่วนนี้มากกว่าผลการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว 20%

นอกจากนี้ ยังพบว่า 36% ของกลุ่มตัวอย่างวัยผู้ใหญ่กำลังพิจารณาใช้บริการผ่อนชำระ อย่างซื้อก่อนจ่ายทีหลัง เพื่อซื้อสินค้าในช่วงปลายปีนี้ เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 26% ของเมื่อปีที่แล้วด้วยเช่นเดียวกัน

สถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาและผลวิจัยเหล่านี้ทำให้ช่วงช็อปปิ้งปลายปี 2566 นี้ ไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 กลายเป็นจังหวะเวลาที่วงการค้าปลีกและการเงินของสหรัฐอเมริกาต้องจับตาอย่างใกล้ชิด