ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณโอกาสขึ้นดอกเบี้ยมีน้อยลง

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณโอกาสขึ้นดอกเบี้ยมีน้อยลง

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 11 ตุลาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/10) ที่ระดับ 36.52/53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (10/10) ที่ระดับ 36.82/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าหลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายรายสนับสนุนการยุติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

โดยนายราฟาแอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตาแสดงความเห็นเมื่อวานนี้ (10/10) ว่าเฟดไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกต่อไปเพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% เนื่องจากที่ผ่านมาเฟดได้ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพียงพอ และนายบอสติกยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญภาวะถดถอย

นอกจากนั้นแล้วการแสดงความเห็นของนายบอสติกสอดคล้องกับที่นางลอรี โลแกน ประธานเฟดสาขาดัลลัสกล่าวเมื่อวันจันทร์ (9/10) ว่า เมื่อพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากเพียงพอแล้ว เฟดก็อาจมีความจำเป็นน้อยลงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ซึ่งการแสดงความเห็นดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐชะลอตัวลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ชะลอตัวลงหลังจากไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี เมื่อสัปดาห์ก่อน

สำหรับตัวเลขสหรัฐที่สำคัญเมื่อคืนนี้ (10/10) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งลดลง 0.1% ในเดือน ส.ค.เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากลดลง 0.3% ในเดือน ก.ค. และเมื่อเทียบรายปี สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งลดลง 1.0% ในเดือน ส.ค.

อีกทั้งสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมปรับตัวลงสู่ระดับ 90.8 ในเดือน ก.ย. จากระดับ 91.3 ในเดือน ส.ค.ได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และการขาดแคลนแรงงานข้อมูลล่าสุดจาก PedWatch Tool ของ CME Group ระบุว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 86% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ย.และให้น้ำหนัก 73% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุทมเดือน ธ.ค.

ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่า โดยมีทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ปัจจัยแรกเนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักหลังได้รับแรงกดดันถ้อยแถลงจากสมาชิกเฟด นอกจากนั้นแล้ว ทิศทางของการซื้อขายทองคำในประเทศก็ส่งผลต่อการแข็งค่าของค่าเงินบาท โดย flow ส่งออกทองคำจากราคาทองที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากข่าวสงครามอิสราเอล-ฮามาส จะส่งผลให้มีการขายดอลลาร์และซื้อบาทได้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.40-37.54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.42/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/10) ที่ระดับ 1.0603/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (10/10) ที่ระดับ 1.0602/03 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวในกรอบแคบ โดยวันนี้ (11/10) เยอรมนีเผยดัชนี (CPI) ขั้นสุดท้ายเทียบรายปีเพิ่มขึ้น 4.5% ในเดือน ก.ย.ทรงตัวจากเดือนที่แล้ว และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ส่วนดัชนี CPI ขั้นสุดท้ายเทียบรายเดือนเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน ก.ย. ทรงตัวจากเดือนที่แล้ว และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เช่นกัน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0591-1.0629 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0609/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/10) ที่ระดับ 148.77/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (10/10) ที่ 148.87/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวในกรอบแคบ ผลสำรวจรอยเตอร์เผย ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นทรงตัวในเดือน ต.ค. แต่ความเชื่อมั่นในภาคบริการเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ดีขึ้นช่วยชดเชยผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.41-148.97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.68/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ย.ของสหรัฐ (11/10), รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) วันที่ 19-10 ก.ย. (12/10) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ต.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (13/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10/-9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11/-10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ