ค้าปลีกสหรัฐแห่อัพสปีด ส่งดีลิเวอรี่ด่วนแต่เช้า ชิงลูกค้าอีคอมเมิร์ซ

ภาพจาก pexels.com โดย Norma Mortenson
ภาพจาก pexels.com โดย Norma Mortenson

ค้าปลีกรายใหญ่ทั้ง Walmart, Target, Kroger ต่างอัพสปีดบริการดีลิเวอรี่ ทั้งรับสินค้าใน 1-2 ชั่วโมง หรือส่งถึงบ้านตั้งแต่ 6 โมงเช้า หวังใช้ความสะดวกเป็นแม็กเนตชิงลูกค้าจากอีคอมเมิร์ซอย่าง Amazon 

จากรายงานของ CNBC ผู้ค้าปลีกออฟไลน์ในสหรัฐหลายราย ไม่ว่าจะเป็น Walmart, Target และ Kroger ต่างประกาศเปิดตัวบริการดีลิเวอรี่ หรืออัพเกรดบริการที่มีอยู่ให้เป็นแบบด่วน ซึ่งทำให้การส่งสินค้ากลุ่มของชำอย่าง ไข่ นม ฯลฯ ถึงบ้านลูกค้านั้นเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม

โดยเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน Target เชนค้าปลีกสัญชาติสหรัฐ เริ่มใช้โปรแกรมสมาชิกรายเดือนตัวใหม่ Target Circle 360 ซึ่งมาพร้อมบริการดีลิเวอรี่แบบได้รับสินค้าในวันเดียวกัน แต่บริษัทเคลมว่าการซื้อบางเงื่อนไขสามารถส่งถึงลูกค้าได้ภายใน 1 ชั่วโมงเท่านั้น

ขณะเดียวกัน Walmart ประกาศอัพเกรดสิทธิประโยชน์ของโปรแกรมสมาชิก Walmart+ โดยเพิ่มตัวเลือกให้ลูกค้าสามารถกำหนดเวลารับสินค้าได้เร็วสุดเป็นตั้งแต่ 6 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น หากสั่งออนไลน์ในคืนก่อนหน้า จากเดิมที่เลือกรับสินค้าได้เร็วสุด 8 โมงเช้า ด้านโปรแกรม Boost ของ Kroger ผู้ค้าปลีกอีกรายมีบริการเดีลิเวอรี่ด่วนภายใน 2 ชั่วโมงหลังสั่งซื้อ

สำหรับสาเหตุเบื้องหลังความฮิตของยุทธศาสตร์นี้ “ไมเคิล เบเกอร์” นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจค้าปลีกของ บริษัทวาณิชธนกิจ ดี.เอ. เดวิดสัน อธิบายว่า ยุทธศาสตร์นี้เป็นการต่อยอดทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว อย่างสาขาจำนวนมากระดับหลายพันสาขาของแต่ละแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Walmart มีสาขา 4,615 สาขา Target มีสาขา 1,956 สาขา ส่วน Kroger มี 1,239 สาขา ให้เป็นจุดแข็งที่อีคอมเมิร์ซไม่มี

ด้วยการใช้สาขาเหล่านี้เป็นฮับส่งสินค้าไปยังบ้านของลูกค้า ช่วยร่นระยะเวลาและระยะทางให้สั้นลง รวมถึงยืดหยุ่นเรื่องเวลาจัดส่งมากขึ้น ต่างจากอีคอมเมิร์ซที่มีศูนย์กระจายสินค้าใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง

สำหรับผลตอบรับของบริการดีลิเวอรี่นั้น Kroger ยืนยันว่าบริการดีลิเวอรี่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันยอดขายในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นยอดขายบนออนไลน์ให้เติบโตได้มากถึง 10% จากปีก่อนหน้า ส่วนยอดขายแบบดีลิเวอรี่เองเติบโตมากถึง 24% ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บริการดีลิเวอรี่แบบด่วนยังช่วยให้ค้าปลีกสามารถรุกเข้าไปปักธงในทำเลใหม่ ๆ ได้ง่ายและประหยัดมากขึ้น ตัวอย่างเช่น Kroger ที่รุกเข้าไปเปิดตลาดในรัฐฟลอริดา ด้วยการตั้งศูนย์กระจายสินค้าแบบอัตโนมัต เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางสำหรับการดีลิเวอรี่ โดยไม่ต้องเปิดสาขาแม้แต่แห่งเดียว จึงช่วยประหยัดต้นทุนลงไปได้มาก

อย่างไรก็ตาม แม้บริการดีลิเวอรี่จะช่วยให้ผู้ค้าปลีกทั้ง 3 รายเพิ่มยอดขายและขยายธุรกิจได้ง่ายและประหยัดขึ้น แต่ยังต้องจับตาดูว่าแต่ละรายจะรับมือความท้าทาย อย่างการชิงฐานผู้บริโภคระดับแมสที่กำลังซื้อไม่มากพอจะจ่ายค่าสมาชิกรายปีกันอย่างไร