TDRI จี้แก้กฎหมายคุมเหล้าเบียร์ แก้ไม่ตรงจุด-เด็กเข้าถึงง่าย

TDRI จี้แก้กฎหมายคุมเหล้าเบียร์ แก้ไม่ตรงจุด-เด็กเข้าถึงง่าย

“ทีดีอาร์ไอ” กางผลวิจัย ฟันตรงประเด็น กม.ควบคุมเหล้า-เบียร์ใช้มา 15 ปี แก้ไม่ตรงจุด อุบัติเหตุไม่ลด เมาแล้วขับ ต้นเหตุ เด็ก-เยาวชนหาซื้อง่าย แนะปรับปรุงกฎหมาย-กำกับควบคุม ย้ำต้องป้องกันเด็กเยาวชนอันดับแรก ชี้ควบคุมการโฆษณาได้ผลน้อยที่สุด จี้ยกเลิกสินบนรางวัล ห่วงใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานสัมมนาสาธารณะ “ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จุดสมดุลเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ” ที่จัดโดย ทีดีอาร์ไอ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างรายได้จากการขายให้กับเศรษฐกิจเกือบ 6 แสนล้านบาท และภาครัฐมีรายได้จากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 1.5 แสนล้านบาท แต่อีกด้านหนึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ได้สร้างต้นทุนทางสังคมไม่ต่ำกว่า 1.7 แสนล้านบาท

จากการประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยปี 2564 พบว่าส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านสุขภาพมากที่สุด ในสัดส่วนถึง 55% คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 9.4 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ ผลกระทบจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนน 31% กว่า 5.3 หมื่นล้านบาท ตามด้วยผลกระทบจากปัญหาการบาดเจ็บต่าง ๆ 10% คิดเป็น 1.7 หมื่นล้านบาท และผลกระทบจากปัญหาอาชญากรรม 4% คิดเป็น 7 พันล้านบาท

“รัฐบาลมีกฎหมายควบคุมเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใช้มา 15 ปี เพื่อต้องการลดผลกระทบ โดยใช้มาตรการทั้งด้านราคาและมาตรการที่ไม่ใช่ราคา แต่ความเห็นของคณะวิจัยเชื่อว่าการกำกับดูแลยังแก้ไม่ตรงจุด เนื่องจากสัดส่วนของกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 15-19 ปี ที่เข้าถึงสุราไม่ได้ลดลง อีกเรื่องคือจำนวนผู้เสียชีวิตจากเมาแล้วขับยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงยกเว้นในช่วงโควิด ซึ่งตรงนี้เป็นตัวที่ยากมากที่จะพิสูจน์ให้ชัดเจน ว่ามาตรการการกำกับควบคุมมีผลทำให้สามารถลดอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้มากน้อยแค่ไหน”

ดร.นิพนธ์ยังระบุด้วยว่า จากการที่ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่สำรวจร้านค้าและผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งเมืองใหญ่อย่างขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต พบว่ามีร้านค้าถึง 30% ที่ขายเหล้า-เบียร์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และยังพบด้วยว่ามีการขายเหล้า-เบียร์ใกล้สถานศึกษากว่า 23% ขณะเดียวกัน พบข้อมูลที่น่าสนใจ ว่าเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้านของชำมากที่สุด คิดเป็น 36% ตามมาติด ๆ คือร้านสะดวกซื้อ 35% ซื้อที่ร้านอาหาร 26% และซื้อทางออนไลน์ 3%

ทีมวิจัยคิดว่าจากประเด็นดังกล่าวจึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายและกำกับควบคุม โดยเฉพาะเรื่องการกำกับควบคุมจะต้องมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และมีธรรมาภิบาลควบคู่กันไป ซึ่งผลการวิจัยทั้งในต่างประเทศและในประเทศให้ข้อสรุปที่ตรงกันเรื่องลำดับความสำคัญของการกำกับควบคุมเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะการควบคุมการเข้าถึงสุราของเด็กและเยาวชน อันนี้ทุกประเทศไม่มีใครปฏิเสธ

เรื่องที่ 2 ก็คือการลดความเสี่ยง หรือความสูญเสีย หรือความเสียหายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราโดยมาตรการแทรกแซงที่มีประสิทธิผลสูงสุด ที่จะสามารถลดการบริโภคและลดความเสี่ยงจากโรค NCDs (Noncommunicable diseases) ที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราได้มากสุด งานวิจัยต่าง ๆ เชื่อว่ามาตรการทางภาษีมาอันดับ 1 แต่ภาษีมีข้อจำกัด เนื่องจากตัวเลขรายได้จากภาษี ที่ผ่านมารายได้จากภาษีสุราเป็นรายได้หลักของกรมสรรพสามิต

แต่มาวันนี้เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตเริ่มกังวล ว่ารายได้จากภาษีสุราจะไม่ใช่รายได้หลักของรัฐอีกต่อไป เพราะว่าภาษีสุราไม่เข้าเป้า และมีแนวโน้มว่ายอดขายสุราเริ่มมีแนวโน้มลดลง ถัดมาเป็นมาตรการทางด้านจิตวิทยา โดยเฉพาะกับคนที่ติดสุราแล้ว และมาตรการควบคุมการเข้าถึงสุรา ส่วนมาตรการเรื่องการควบคุมการโฆษณาน่าจะได้ผลน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ข้อเสนอหลักของคณะวิจัยคือ การมุ่งเน้นการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งที่ผ่านมาผมคิดว่าตรงนี้เรายังทำได้ไม่ดีพอ ส่วนเรื่องที่ 2 คือ การเพิ่มมาตรการการลดผลกระทบทางลบต่อสังคม ที่ควรจะมีมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวด และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในเรื่องนี้ให้มากขึ้น

เพราะว่าเวลานี้สังคมไทยมีประชากรน้อยมาก เชื่อมั้ยประชากรไทยลดลงแล้วครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ลดลงก่อนประเทศจีน แล้วยังจะต้องมีคนมาตายเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์เพิ่มอีกหรือ ไม่คุ้มค่าเลย เพราะฉะนั้น ต้องมีมาตรการลดผลกระทบตรงนี้ให้มากที่สุด ทั้งเรื่องการที่มีปัญหาเรื่อง Alcoholism มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน อันนี้จำเป็นต้องมีมาตรการตรงนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นตัวตนที่ชัดเจน

“ประเด็นต่อไปคือ ในกรณีของไทยมีความจำเป็นต้องลดหรือเลี่ยงการใช้ดุลพินิจในการบังคับใช้กฎหมาย ใช้ดุลพินิจเกินขอบเขต มันมีพระราชบัญญัติวิธีการจัดทำร่างกฎหมาย ซึ่งออกตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ บอกว่าในการที่จะจัดทำร่างกฎหมายใหม่นั้น การใช้ดุลพินิจต้องมีขอบเขต ต้องมีกฎเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจ แต่บ้านเราข้อมูลที่เรามีอยู่มีการใช้ดุลพินิจที่เกินขอบเขต และมันไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้ แล้วผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย ต้องเป็นเรื่องสำคัญ” ดร.นิพนธ์ย้ำในตอนท้าย