4 ค่ายค้าปลีกลงขันตั้งบริษัท รับสิทธิ์เอเย่นต์คืนภาษีในห้าง

ค้าปลีกพักรบ 4 ยักษ์รีเทล “สยามพิวรรธน์-เซ็นทรัล-เดอะมอลล์-โรบินสัน” ฟอร์มทีมตั้งบริษัท “แวตรีฟันด์ ไทยแลนด์” หวังรับสิทธิ์เป็น “เอเย่นต์” คืนภาษีนักท่องเที่ยวในพื้นที่กลางเมือง นำร่อง 5 จุดหลัก พารากอน-เซ็นทรัลเวิลด์-เซ็นทรัลชิดลม-เอ็มโพเรียม-โรบินสัน อโศก หลังสรรพากรไฟเขียวเปิดทาง ดีเดย์ระบบ 1 ต.ค. 61 หวังเงินนักท่องเที่ยวสะพัด หมุนในระบบเศรษฐกิจ

การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวถือเป็นกลไกที่ทั่วโลกใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งในเมืองไทยที่ผ่านมา กรมสรรพากรเปิดให้บริการคืนภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเปิดทำการอยู่ที่สนามบิน อาทิ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, ภูเก็ต, หาดใหญ่, อู่ตะเภา, กระบี่ และสมุย ล่าสุดกรมสรรพากรประกาศเปิดรับสมัครตัวแทนเพื่อให้บริการคืนแวตรีฟันด์ในกลางเมือง ระหว่างวันที่ 7-17 กันยายน 2561 และให้เปิดบริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ถึง 31 มีนาคม 2562กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เขย่าสีสันในธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากนักท่องเที่ยวสามารถขอรับเงินคืนได้ทันที สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มค้าปลีกที่ฟอร์มทีมตั้งบริษัทเพื่อรับสิทธิ์เป็นตัวแทน

ค้าปลีกพักรบฟอร์มทีมบุก 

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ 4 ราย คือ กลุ่มเซ็นทรัล, กลุ่มเดอะมอลล์, สยามพิวรรธน์ และโรบินสัน ได้จับมือและร่วมทุนตั้งบริษัท ภายใต้ชื่อ “แวตรีฟันด์ ไทยแลนด์” เพื่อเข้าไปสมัครเป็นตัวแทนในการเปิดจุดคืนภาษีนักท่องเที่ยวในพื้นที่กลางเมือง โดยผู้ประกอบการจะเป็นผู้ลงทุนในการตั้งเคาน์เตอร์จุดให้บริการและวางระบบข้อมูลเชื่อมกับทางสรรพากรในรูปแบบเรียลไทม์

“การที่นักท่องเที่ยวสามารถคืนเงินได้ทันที จะกระตุ้นให้เกิดเงินหมุนในระบบได้หลายรอบ และกระจายไปในหลาย ๆ ธุรกิจ ที่ผ่านมาเราก็มีร้านค้าในลักษณะ VAT free แต่ไม่เต็มรูปแบบ เพราะลูกค้าจะต้องนำเอกสารไปขอคืนที่สนามบิน เมื่อได้รับคืนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้จ่ายในสนามบินมากนัก เพราะมีเวลาช็อปปิ้งเหลือน้อย และขึ้นเครื่องกลับบ้าน เงินก็ออกไปแล้ว”

นำร่อง 5 ทำเลดาวน์ทาวน์

แหล่งข่าวรายนี้ขยายความต่อว่า สำหรับจุดนำร่อง 5 ทำเลใจกลางเมืองที่จะเลือกตั้งศูนย์ให้บริการคืนเงินภาษีนักท่องเที่ยว คือ สยามพารากอน, เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลชิดลม, เอ็มโพเรียม และโรบินสัน อโศก โดยดูจากยอดขอคืนภาษีของนักท่องเที่ยว ซึ่งกว่า 60% มาจากยอดซื้อและขอคืนเงินใน 5 ศูนย์การค้านี้ และอีก 40% มาจากทั่วประเทศ

ทั้งนี้ จีนเป็นอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาขอคืนภาษีจำนวนมากที่สุดตามมาด้วยรัสเซีย, เวียดนาม, อินเดีย และไต้หวัน สอดคล้องกับตัวเลขในปี 2560มีนักท่องเที่ยวต่างชาติขอคืนภาษีจำนวน 1.8 ล้านคน และซื้อสินค้าตามมูลค่าใบกำกับภาษี 34,357 ล้านบาท

จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยใช้จ่ายเงินวันละ 4,000 กว่าบาทต่อคน และใน 4,000 บาท ประกอบด้วย ค่าโรงแรม ค่าอาหาร เป็นส่วนใหญ่ ในจำนวนนี้มีค่าช็อปปิ้ง 1,200-1,500 บาทเท่านั้น และการคืนแวตในเมืองจะเพิ่มความสะดวกและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายต่อเนื่อง

ไฟเขียวเทสต์ตลาด 6 เดือน

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ลงนามในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 224 โดยเปิดรับสมัครตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเมือง ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถมายื่นคำร้องขอประกอบธุรกิจคืนภาษีนักท่องเที่ยวได้ตั้งแต่วันที่ 10-17 กันยายน 2561 และกรมสรรพากรจะแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบภายในวันที่ 28 กันยายน 2561 จากนั้นให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติ จะสามารถเปิดให้บริการเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562

ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 6 เดือนที่เป็นโครงการนำร่องคืนภาษีแวตนักท่องเที่ยวในเมืองนั้น กรมสรรพากรจะประเมินผลและตรวจวัดประสิทธิภาพการดำเนินงานจาก 4 เรื่อง คือ 1.มูลค่าเงินที่จะหมุนกลับเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับเงินภาษีคืนและนำไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าเพิ่มเติม ทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้มากขึ้น 2.การเจริญเติบโตของยอดขายสินค้า มูลค่าการซื้อ-ขายสินค้าที่ผู้ประกอบการขายได้เพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจและอัตราการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว และ 3.ปริมาณนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการขอคืน VAT ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมืองลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการทั้งหมด และ 4.ตรวจสอบคุณภาพการดำเนินการ

รายงานข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า การเปิดรับสมัครตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ และต้องการเพิ่มช่องทางให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้เดินทางไปนอกประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าในประเทศเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สมัครให้บริการที่เป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว จะต้องเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาทขึ้นไป นอกจากนี้ ผู้สมัครยังจะต้องเป็นผู้จัดหาพื้นที่ในการให้บริการในกรุงเทพฯและปริมณฑล ต้องจัดหาบุคลากรสำหรับการให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่จะเดินทางออกไปต่างประเทศ และจะต้องมีเครื่องมือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และมีการจัดทำระบบการคืนภาษีให้นักท่องเที่ยวและมีการเชื่อมโยงข้อมูลแบบ real time กับกรมสรรพากร