ยักษ์ร้านอาหารเปิดศึกชิง 4 แสนล้าน ทุ่มซื้อกิจการ-ดีลิเวอรี่สปีดรายได้

แฟ้มภาพ
สมรภูมิร้านอาหารระอุข้ามปี ! ค่ายใหญ่เงินหนาส่งสัญญาณกว้านซื้อแบรนด์เติมพอร์ตรัว ๆ หวังขยายฐานลูกค้าคลุมทุกเซ็กเมนต์ “ซีอาร์จี-ไมเนอร์-เซ็น-โออิชิ” เปิดศึกชิงกำลังซื้อ เฟ้นกลยุทธ์รอบด้านเติมรายได้/กำไร พร้อมปรับตัวรุกหนักดีลิเวอรี่ ปั้นแพลตฟอร์มเองไม่ง้อแกร็บฟู้ด/ไลน์แมน

ตลอดปี 2562 แม้ตลาดร้านอาหารมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท จะเผชิญหน้ากับกำลังซื้อที่มีปัญหา แต่ในภาพรวมก็ยังเติบโตได้ 3-4% จากการปรับกลยุทธ์ขนานใหญ่ โดยเฉพาะร้านอาหารค่ายใหญ่ที่เดินหน้าไล่ซื้อแบรนด์หรือปั้นแบรนด์ใหม่ ๆ ควบคู่กับการพัฒนาเมนูใหม่เพิ่มทางเลือก รวมถึงเพิ่มช่องทางจำหน่ายใหม่ ๆ ใช้ฟู้ดดีลิเวอรี่เป็นหัวหอกเพิ่มโอกาสในการขาย นับวันช่องทางนี้ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ก็จะเติบโตเพิ่มขึ้นและแข่งขันมากขึ้น

“ซีอาร์จี” รุกรอบทิศ

นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล ระบุว่า ปี 2563 จะยังเน้นการพัฒนาแบรนด์ใหม่ ทั้งสร้างแบรนด์เอง และควบรวมหรือซื้อกิจการ พัฒนาช่องทางขายดีลิเวอรี่ที่เติบโต 10-15% ต่อปี และจะเพิ่มเมนูใหม่ ๆ ส่งเฉพาะช่องทางดีลิเวอรี่เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค รวมถึงพัฒนาครัวกลาง “คลาวด์คิตเช่น” รวมเมนูร้านอร่อยดี และร้านอาหารแบรนด์ดังกว่า 10 แบรนด์ และให้บริการผ่านแอป “ฟู้ด ฮันต์”

เป้าหมายต่อไปจะมุ่งต่อยอดการสร้าง “ไฮบริดคิตเช่น” มีช่องทางจำหน่าย 4 รูปแบบ ได้แก่ สั่งอาหารนั่งทานที่ร้าน สั่งซื้อกลับบ้าน หรือสั่งล่วงหน้าทางออนไลน์แล้วมารับเองที่หน้าร้าน และดีลิเวอรี่ ซึ่งปัจจุบันดีลิเวอรี่ของทุกแบรนด์ในเครือซีอาร์จี (ยกเว้นเคเอฟซี) มียอดขาย 300 ล้านบาท เป็นโทร.สั่ง 30% และสั่งผ่านแอป 70%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ซีอาร์จีเป็นหนึ่งในเครือร้านอาหารที่เปิดตัวแบรนด์ใหม่มากที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมาเปิดตัว 5 แบรนด์ เป็นร้านที่ซีอาร์จียังไม่เคยทำตลาดมาก่อน แบ่งเป็นแบรนด์ที่พัฒนาขึ้นเอง 4 แบรนด์ ได้แก่ อร่อยดี ร้านอาหารแนวสตรีตฟู้ด, สุกี้เฮาส์, ซอฟต์แอร์ ร้านไอศกรีมแบบซอฟต์เสิร์ฟ, เกาลูน ร้านอาหารจีน และอีก 1 แบรนด์ที่เทกโอเวอร์เข้ามาล่าสุดเมื่อ ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้แก่ สลัด แฟคทอรี่ ทุ่มเงิน 137 ล้านบาท ถือหุ้น 51% บริษัท กรีน ฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด เจ้าของสลัด แฟคทอรี่ มี 7 แห่ง ปัจจุบันซีอาร์จีมีร้านอาหาร 16 แบรนด์ รวมกว่า 1,037 สาขา

“ไมเนอร์ฟู้ด” รุกหนักดีลิเวอรี่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเข้าซื้อกิจการไก่ทอดเกาหลี บอนชอน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านอาหาร อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ ควีน, เบอร์เกอร์ คิง ฯลฯ ได้พัฒนาเมนูใหม่ ๆ และปรับปรุงภาพลักษณ์แบรนด์ที่มีให้ตรงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เพื่อรับกับการแข่งขันที่รุนแรง เพิ่มจำนวนลูกค้าและค่าใช้จ่ายต่อบิล ตลอดจนพัฒนาบริการดีลิเวอรี่ให้ครอบคลุมมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ นางสาวจุฑาทิพย์ อดุลพันธุ์ รองประธานฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้เปิดตัวแอป “1112 ดีลิเวอรี่” เพื่อขยายช่องทางขาย นำร่องจัดส่งในกรุงเทพฯและปริมณฑลและจะทยอยให้บริการทั่วประเทศ พร้อมจับมือกับพาร์ตเนอร์อย่างเก็ท หรือแกร็บฟู้ดและเตรียมพัฒนาเมนูนวัตกรรมใหม่ ควบคู่ไปกับการจัดโปรโมชั่น ซื้อ 1 แถม 1 พร้อมขยายสาขาเดอะ พิซซ่า คอมปะนี แดรี่ควีน เดอะคอฟฟี่คลับ ไซซ์เล็ก เน้นในสำนักงานและปั๊มน้ำมัน ตั้งเป้าใน 5 ปีร้านในเครือไมเนอร์จะมี 4,400 สาขา

“โออิชิ” สร้างแพลตฟอร์มตัวเอง

นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ระบุถึงการตั้งบริษัทใหม่ “โออิชิ ดีลิเวอรี่ จำกัด” เพื่อรุกตลาดดีลิเวอรี่ และพัฒนาแอปพลิเคชั่นภายใต้ชื่อ Bev Food สำหรับสั่งอาหารจากร้านในเครือโออิชิทั้ง 7 แบรนด์ อาทิ โออิชิแกรนด์ โออิชิอีทเทอเรียม โออิชิบุฟเฟต เป็นต้น ก่อนขยายไปสู่ธุรกิจร้านอาหารอื่น ๆ ในเครือของไทยเบฟรองรับกับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น

และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาแบรนด์ใหม่ “โอโยกิ” ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟสไตล์ญี่ปุ่น ปัจจุบันมี 2 สาขาที่สีลมคอมเพล็กซ์ และสามย่านมิตรทาวน์

ZEN-MK ไม่หยุดหาแบรนด์ใหม่

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ให้บริการร้านอาหารเซ็น, ออนเดอะเทเบิล, ตำมั่ว, เขียง ฯลฯ เปิดเผยว่า บริษัทต้องการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ให้ครอบคลุมขึ้น ผ่านสินค้า แบรนด์ และประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ล่าสุดเปิดตัว FOO Flavor ร้านอาหารสไตล์อาเซียน และมีแบรนด์ร้านอาหารจีน DINS ในรูปแบบแฟรนไชส์ที่จะเปิดที่สามย่านมิตรทาวน์

ทั้งมีแผนลงทุนเพื่อพัฒนาครัวกลางรองรับดีลิเวอรี่ทดแทนการเปิดหน้าร้านใช้พื้นที่ 100-200 ตร.ม. ล่าสุดนำร่องแบรนด์ “เขียง” ทีศาลาแดง โดยปี 2563 มีแผนเปิดสาขาเพิ่ม 100 แห่ง เป็นครัวกลาง 40% จากที่ผ่านมาได้เข้าไปจับมือกับแอปพลิเคชั่นฟู้ดแพนด้า, ไลน์แมน, แกร็บฟู้ด ฯลฯ รวมถึงบริการดีลิเวอรี่ที่สั่งผ่านเบอร์โทรศัพท์ของแต่ละสาขา รับกับเทรนด์ที่ตลาดดีลิเวอรี่จะเติบโตสูงในอนาคต

ด้านนายฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ ว่า เอ็มเคจะยังคงให้ความสำคัญกับการมุ่งขยายธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ใหม่ ๆ เพิ่มประเภทของกลุ่มเมนูอาหารให้หลากหลาย ทั้งในรูปแบบการซื้อไลเซนส์ การร่วมทุน และซื้อกิจการ ตลอดจนการพัฒนาแบรนด์ใหม่ ๆ ขึ้นมา จากก่อนหน้านี้ที่เพิ่งซื้อกิจการแหลมเจริญซีฟู้ด ซึ่งเอ็มเคจะเข้าไปช่วยสร้างแบรนด์และทำการตลาด เพื่อบุกตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมมีแผนจะนำเทคโนโลยีใหม่มาให้บริการ ล่าสุดได้นำแอปพลิเคชั่นสำหรับการจองคิวเพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วให้ลูกค้า และเตรียมนำระบบเอไอเข้ามาช่วยวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการได้ตรงจุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารมีการเปลี่ยนมือจากการซื้อขายกิจการกันหลายราย โดยเฉพาะค่ายใหญ่ที่พยายามหาแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมพอร์ตฯอย่างต่อเนื่อง อาทิ ไมเนอร์ กรุ๊ป ที่ซื้อกิจการบอนชอน ไก่ทอดเกาหลีชื่อดังมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท, สิงห์ ซื้อกิจการ ซานตา เฟ่ สเต็ก เฮ้าส์ มูลค่า 1.5 พันล้านบาท, เอ็มเค ซื้อแหลมเจริญซีฟู้ด มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท, ฟู้ดแพชชั่น เจ้าของบาร์บีคิวพลาซ่า ซื้อกิจการร้านอาหารเกาหลี เรดซัน, วีรันดา ซื้อร้านคาเฟ่ขนมหวาน แกรม และพาลโบ จากเครือใบหยกกว่า 110 ล้านบาท เป็นต้น