“อาฟเตอร์ ยู” แตกไลน์ร้านกาแฟ “มิกก้า คาเฟ่” สตาร์ตแก้วละ 45 บาท ท้าชน “อเมซอน” ปักธงสาขาแรก พัฒนาการ 25 ก่อนเปิดขายแฟรนไชส์เร็ว ๆ นี้ คาดปีแรกเปิดเบาะ ๆ 20 สาขา ด้านแบรนด์หลัก เตรียมควักเพิ่มอีก 100 ล้าน ขยาย 6 สาขา พร้อมผุดโมเดล take away หลังได้พาร์ตเนอร์ใหม่ เมโทรมอลล์ ช่วยเจาะทำเลรถไฟฟ้าใต้ดิน ก่อนเตรียมพร้อม ปรับแผนตั้งรับไวรัสรายวัน เน้นคุมต้นทุน ลดไซซ์ รุกดีลิเวอรี่
นายแม่ทัพ ต.สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้พัฒนาแบรนด์ร้านกาแฟใหม่ “มิกก้า คาเฟ่” ในคอนเซ็ปต์ถูกและดี มีรสนิยม ภายใต้แนวคิดที่จะให้กลุ่มพนักงานออฟฟิศ หรือคนทั่วไป สามารถซื้อทานได้ทุกวัน โดยราคาของเครื่องดื่มจะเริ่มต้นที่ 45 บาท มีเมนู เช่น กาแฟ โกโก้ ชาไทย น้ำแดงโซดา ฯลฯ รวมถึงเบเกอรี่ชิ้นเล็ก โดยร้านจะตกแต่งสไตล์มินิมอล มีความทันสมัย เพื่อรับกับโอกาสในตลาดร้านกาแฟที่เติบโตและยังมีช่องว่าง โดยเฉพาะช่วงระดับราคา 45-65 บาทต่อแก้ว ที่ยังไม่ค่อยมีร้านที่ตกแต่งสไตล์ดังกล่าวและให้คุณภาพของเครื่องดื่มเช่นนี้
“ไอเดียของร้านนี้คือการนำ pain point ของอาฟเตอร์ ยู มาพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาที่เข้าถึงง่ายขึ้น การโอเปอเรชั่นที่ไม่ยุ่งยาก ใช้พื้นที่ไม่มาก และลงทุนง่าย ทำให้โมเดลของร้านนี้มีศักยภาพเหมาะที่จะทำแฟรนไชส์เพื่อขยายสาขา โดยเตรียมจะเปิดเผยรายละเอียดเร็ว ๆ นี้ การลงทุนไม่สูงมาก ต่ำกว่า 1 ล้านบาท มาตัวเปล่าก็ลงทุนได้เลย เพราะเราจะซัพพอร์ตให้ทั้งอุปกรณ์ โนว์ฮาว ฯลฯ แต่ทั้งนี้ เกณฑ์ของเราจะให้ความสำคัญกับโลเกชั่นมากที่สุด”
โดยปีนี้มีแผนที่จะเปิดมิกก้า คาเฟ่ทั้งหมด 20 สาขา สำหรับสาขาที่กำลังจะเปิด ได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซอยละลายทรัพย์ สีลม เป็นต้น
ส่วนแผนการลงทุนของอาฟเตอร์ ยู ในปีนี้ เตรียมที่จะใช้งบฯ 180.8 ล้านบาท แบ่งเป็นการเปิดสาขาใหม่ 6 สาขา มูลค่า 104 ล้านบาท อาทิ เซ็นทรัล แอท เซ็นทรัลเวิลด์, เมโทรมอลล์ จตุจักร, ไบเทค, สามย่าน มิตรทาวน์, เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ฯลฯ โดยการจับมือกับเมโทรมอลล์นั้น จะใช้คอนเซ็ปต์ร้านแบบ take away เน้นสินค้าที่ซื้อกลับบ้าน เพื่อตอบโจทย์กับกลุ่มลูกค้าที่เดินทางโดยรถไฟใต้ดิน และยังมีการพูดคุยถึงการนำร้านอาฟเตอร์ ยู ไปเปิดในพื้นที่อื่น ๆ ของเมโทรมอลล์ด้วยในอนาคต
พร้อมกับการนำโมเดลพ็อปอัพสโตร์เข้าไปทดลองเปิดในพื้นที่ใหม่ ๆ หรือเมืองรองมากขึ้น เพื่อดูกระแสการตอบรับก่อนพิจารณานำสาขาจริงเข้าไป โดยทั้งปีคาดว่าจะมีพ็อปอัพสโตร์ในรูปแบบ semi-permanent กึ่งถาวร ระยะเวลาออกบูท 3-12 เดือน และแบบ kiosk ระยะเวลาออกบูท 1-4 สัปดาห์ ประมาณ 100-120 อีเวนต์ตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ยังมีงบฯสำหรับการขยายกำลังการผลิต 70.5 ล้านบาท และการพัฒนาระบบหลังบ้าน การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์อีก 6.3 ล้านบาท โดยภายในปีนี้ เตรียมที่จะเปิดตัวอาฟเตอร์ ยู แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสื่อสาร และสร้างความใกล้ชิดกับลูกค้า เช่น การค้นหาร้านที่อยู่ใกล้มากที่สุด การสั่งสินค้าล่วงหน้าก่อนไปถึงร้าน รวมถึงการทำลอยัลตี้โปรแกรม เช่น การสะสมคะแนนเพื่อแลกของรางวัล การพัฒนาสู่อีวอลเลต รองรับการชำระเงินผ่านออนไลน์ในเฟสต่อไป
นายแม่ทัพระบุต่อไปอีกว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยอมรับว่ามีผลกระทบในเชิงตัวเลขทั้งลูกค้าและยอดขาย โดยเฉพาะในสาขาที่มีลูกค้าต่างชาติ ซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันลูกค้าคนไทยก็ออกมาเดินห้างน้อยลงตามไปด้วย ทำให้บริษัทต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการที่เน้นหนักในช่วงนี้ก็คือ การควบคุมและลดต้นทุน เช่น ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่จ้างแรงงานเพิ่ม แต่จะใช้วิธีรีโลเคตพนักงานจากสาขาที่คนลดลงไปยังสาขาอื่นแทน หรือหันมาเพิ่มสัดส่วนพนักงานพาร์ตไทม์มากขึ้น เป็นต้น
พร้อมกับเตรียมเพิ่มเมนูที่รองรับการส่งแบบดีลิเวอรี่ เนื่องจากเทรนด์การสั่งอาหารผ่านช่องทางดังกล่าวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีเรื่องไวรัสยิ่งทำให้คนหันมาสั่งเพิ่มขึ้น
ส่วนแผนการเปิดสาขาต่างประเทศแห่งแรกที่ฮ่องกง คาดว่าจะเลื่อนจากกำหนดเดิมที่จะเปิดภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ออกไปก่อน เนื่องจากติดปัญหาด้านการอบรมของบุคลากร ที่ต้องเดินทางเข้า-ออกประเทศในช่วงนี้ จึงยังไม่สามารถเริ่มการเทรนนิ่งได้
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะรีวิวเป้าหมายรายได้ของปีนี้อีกครั้งในช่วงกลางปี โดยปีที่แล้วบริษัทมีรายได้ 1,194 ล้านบาท เติบโต 37%