บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อู้ฟู่ โควิดหนุน “ดีมานด์-ยอดขาย” พุ่ง

ท่ามกลางการประกาศผลประกอบการครึ่งปีแรกของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกซึ่งต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก จนรายได้หาย-กำไรหดไปตาม ๆ กันนั้น

แต่กลุ่มผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในภูมิภาคเอเชีย กลับโดดเด่นขึ้นมาด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยบางรายผลกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่า 90%

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” รายงานถึงปรากฏการณ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบูมว่า ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมายอดขายของบรรดาผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในภูมิภาคเอเชียต่างเติบโตแบบก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นนิชชิน (Nissin) ของญี่ปุ่น ติงยี (Tingyi) ของจีน ยูนิ-เพรสซิเดนท์ (Uni-President) ของไต้หวัน นงชิม (Nongshim) ของเกาหลีใต้ และอินโดฟู้ด (Indofood) ของอินโดนีเซีย ด้วยอานิสงส์จากความต้องการอาหารที่ปรุง-ทานได้ง่ายซึ่งพุ่งสูงขึ้นทั่วโลกในช่วงการระบาดของโควิด-19

โดย “ติงยี” เจ้าของแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยอดนิยมในแดนมังกร “มาสเตอร์ คอง” (Master Kong) นั้น ยอดขายเติบโตมากเสียจน “เว่ย ฮอง หมิง” ประธานบริษัท กล่าวว่า ผลประกอบการช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นี้ เหมือนบริษัทกลับไปสู่ยุครุ่งโรจน์อีกครั้ง โดยแม้รายได้เพิ่มขึ้นเพียง 8% เป็น 3.29 หมื่นล้านหยวน (1.49 แสนล้านบาท) แต่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 58.4% เป็น 2.38 พันล้านหยวน (7 แสนล้านบาท)

ผลกำไรที่พุ่งสูงนี้เป็นเพราะผลงานของกลุ่มธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่รายได้เติบโต 29.2% และกำไรสุทธิเติบโต 93.7% สวนทางกับธุรกิจอื่น ๆ ในพอร์ตโฟลิโอของบริษัท อาทิ กลุ่มเครื่องดื่มที่บริษัทถือสิทธิเป๊ปซี่ในประเทศจีน ซึ่งรายได้ลดลง 4.1% ในขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 9.9%

ประธานบริษัทติงยีอธิบายว่า ความสำเร็จเป็นเพราะบริษัทจับสัญญาณ และเข้ารับดีมานด์บะหมี่กึ่งกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งพุ่งสูงขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว หลังมาตรการล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่าง ทำให้ผู้บริโภคต้องหันมาทำอาหารกินเองมากขึ้น เช่นเดียวกับกระแสแห่กักตุนอาหารช่วงเริ่มการระบาดใหม่ ๆ ที่มีส่วนช่วยเพิ่มยอดขาย

นักวิเคราะห์ของสถาบันการเงิน ที่มองว่าติงยีน่าจะสามารถรักษาโมเมนตัมการเติบโตนี้ไว้ได้อีก 1-2 ปี เพราะดีมานด์ในจีนแผ่นดินใหญ่จะยังสูงต่อเนื่อง

ไปในทิศทางเดียวกับ “ยูนิ-เพรสซิเดนท์” ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งฯรายใหญ่อีกรายหนึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งรายได้จากธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้น 22% เป็น 5.21 พันล้านหยวน (2.36 หมื่นล้านบาท) และกำไรเพิ่มขึ้น 30% เป็น 448 ล้านหยวน (2 พันล้านบาท) สวนทางกับธุรกิจเครื่องดื่มที่รายได้ลดลง 7.4% ส่วนกำไรโตเพียง 1.2% เท่านั้น

“โล ซี-เชียน” ประธานของยูนิ-เพรสซิเดนท์ ไชน่า โฮลดิ้ง อธิบายว่า ความกังวลเรื่องโรคระบาดทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงจุดเด่นด้านความปลอดภัยของบะหมี่กึ่งฯ เมื่อรวมกับรสชาติที่อร่อยด้วยแล้ว ก็ช่วยให้ทุกแบรนด์เติบโตกันอย่างพร้อมเพรียง

สอดคล้องกับข้อมูลของบริษัทวิจัยนีลเส็น ระบุว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 นี้ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีนเติบโต 11.5%

ด้านอินโดนีเซีย “อินโดฟู้ด ซีบีพี ซุกเซส มากมอร์” ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งฯแบรนด์อินโดมี (Indomie) ระบุในรายงานผลประกอบการว่า บะหมี่กึ่งฯเป็นสินค้าหลักที่ช่วยผลักดันรายได้ช่วง 6 เดือนแรกให้เติบโต 4.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยยอดขายบะหมี่กึ่งฯเพิ่มขึ้น 6.3% เป็น 15.4 ล้านล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 3.29 หมื่นล้านบาท และมีอัตรากำไร 22.6% สูงกว่าเดิม 1.1 จุด เนื่องจากราคาแป้งสาลีปรับตัวลง แต่ราคาสินค้าสูงขึ้น

“เจนนิเฟอร์ วิดจาจา” นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ซูคอร์ คาดว่าดีมานด์สินค้ากลุ่มเกี่ยวกับการทำอาหารทานเอง เช่น บะหมี่กึ่งฯ ซอสปรุงรส ในอินโดนีเซียมีแนวโน้มจะยังคงสูงต่อเนื่อง

สำหรับประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้น จะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนยิ่งกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะผู้ผลิตใน 2 ประเทศนี้ อย่างนิชชิน, โตโยซุยซัง และนงชิม ต่างมีธุรกิจบะหมี่กึ่งฯ เป็นแหล่งรายได้หลักต่างจากผู้เล่นในประเทศอื่น ซึ่งมีบะหมี่กึ่งฯเป็นแหล่งรายได้รอง

โดยกำไรสุทธิช่วงไตรมาสแรก (เม.ย.-มิ.ย. 63) ของนิชชิน เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าเป็น 1.2 หมื่นล้านเยน (3.56 พันล้านบาท) เช่นเดียวกับคู่แข่งร่วมชาติ “โตโย ซุยซัง” ซึ่งกำไรเพิ่มขึ้น 76% เป็น 8.4 พันล้านเยน (2.47 พันล้านบาท) เป็นผลจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นทั้งในตลาดหลักของแต่ละบริษัท โดยนิชชินมีตลาดหลักเป็นสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ส่วนโตโยซุยซังมีตลาดหลักที่สหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก

ฝั่งเกาหลีใต้นั้น “นงชิม” ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งฯ ที่มีสินค้าเด่นเป็นบะหมี่รสเผ็ดแบรนด์ “ชิน ราเมียน” (Shin Ramyun) รายได้ครึ่งแรกของปีเติบโต 17.2% เป็น 1.35 ล้านล้านวอน (3.53 หมื่นล้านบาท) โดยยอดขายในต่างประเทศโตขึ้นถึง 34% ด้วยดีมานด์จากจีนและสหรัฐอเมริกา ส่วนรายได้ในประเทศโตขึ้น 12%

อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นในอินเดียพลาดจังหวะสำคัญนี้ไปอย่างน่าเสียดาย หนึ่งในนั้น คือ “เนสท์เล่ อินเดีย” ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งฯแบรนด์แม็กกี้ (Maggie) ซึ่งรายได้ช่วงเมษายน-มิถุนายนโตเพียง 2% เชื่อว่าเป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กำลังผลิตลดลงจนไม่เพียงพอกับดีมานด์

การเติบโตนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงศักยภาพของโซนเอเชียในอุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งด้านการผลิตและการบริโภค สอดคล้องกับข้อมูลของสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก ปัจจุบันจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงเป็นตลาดใหญ่สุดของบะหมี่กึ่งฯ ด้วยอัตราการบริโภคถึง 4.15 หมื่นล้านชิ้น คิดเป็นเกือบ 40% ของการบริโภคทั้งโลกในปี 2562

ด้านตลาดเอเชียเองไม่น้อยหน้า เพราะใน 10 ประเทศที่มีการบริโภคสูงสุดนั้นเป็นประเทศในเอเชียถึง 7 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม