บิ๊กซีซุ่มปั้นโมเดลใหม่ “ดีโป้” รุกธุรกิจค้าส่งประเดิม 5 แห่ง

Big C

บีเจซี เคลื่อนทัพสู้วิกฤตโควิด-19 ชูธุรกิจโมเดิร์นเทรดฟื้นรายได้ งัดโปรดักต์เพิ่มความหลากหลาย สินค้าจำเป็นไม่ขาดเชลฟ์-เพิ่มน้ำหนักออมนิแชนเนลประกาศลงทุนต่อเนื่อง ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต 2 สาขา มินิบิ๊กซีอีก 240 สาขา พร้อมขยาย “บิ๊กซี ฟู้ด เพลส” ล่าสุดซุ่มเปิดโมเดลใหม่ “Big C Depot” คอนเซ็ปต์ศูนย์ค้าส่ง ขนสินค้า 1,800 รายการ เจาะกลุ่มผู้ประกอบการ เปิดสาขานำร่อง 5 แห่ง เจาะช่องว่างตลาดระดับอำเภอ เดินหน้าอัดแคมเปญ-โปรฯแรง รับการแข่งขันระอุ

นางสาวรวิภา บุญอยู่ ผู้บริหารนักลงทุนสัมพันธ์อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี (BJC) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น รวมถึงปัจจัยภาวะทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและกิจการต่าง ๆ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น

หลังจากรัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ปิดสถานที่บริการและศูนย์การค้า เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจของบีเจซี เริ่มจากกลุ่มบิ๊กซีที่อยู่ในพอร์ตธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ได้ปรับลดเวลาการเปิด-ปิดให้บริการ และได้ปิดโซนพื้นที่ขายสินค้าที่ไม่จำเป็น ทำให้พื้นที่เช่าในศูนย์ต้องปิดไป ยกเว้นร้านอาหารและธนาคารที่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ ซึ่งทำให้กระทบกับรายได้จากค่าเช่า

เช่นเดียวกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อ เนื่องจากมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในห้างและร้านอาหาร แต่หลังจากภาครัฐอนุญาตให้ขายได้ ยอดขายเริ่มกลับมาในเดือนมิถุนายน ตามด้วยสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ปลากระป๋อง สบู่ กระดาษทิสชู เจลแอลกอฮอล์ มียอดขายเพิ่มขึ้นจากการกักตุนสินค้า เพราะสินค้าหลาย ๆ กลุ่มของบีเจซีและบิ๊กซีนั้นเป็นสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ตลอดจนสินค้าเวชภัณฑ์ อัตราการขายเครื่องมือแพทย์ยังเติบโต เนื่องจากบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์หลากหลาย อาทิ ชุดกาวน์เครื่องตรวจเฉพาะต่าง ๆ เป็นต้น

สำหรับครึ่งแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 80,871 ล้านบาท ลดลง 6.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ 9,471 ล้านบาท ลดลง 4.2% ธุรกิจอุปโภคบริโภค 10,536 ล้านบาท เติบโต 11.4% ธุรกิจเวชภัณฑ์ 3,838 ล้านบาท ลดลง 5.9% และธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ 52,668 ล้านบาท ลดลง 6.0% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,867 ล้านบาท ลดลง 43.7% จะเห็นว่าวิกฤตโควิดกระทบหลายกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มคอนซูเมอร์ที่ยังเติบโตได้ และในครึ่งปีหลังนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และได้รับการผ่อนปรนมากขึ้น บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณบวกในทุกกลุ่มธุรกิจ

นางสาวรวิภากล่าวถึงแผนการดำเนินงานและกลยุทธ์การเติบโต จากนี้จะโฟกัสไปกับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่เป็นรายได้หลัก โดยจะเน้นให้ความสำคัญในด้านของโปรดักต์เพิ่มความหลากหลายมากขึ้น พร้อมวิเคราะห์โปรดักต์กลุ่มที่ขายดีและไม่ดีเพื่อนำมาจัดวางบนเชลฟ์ให้มองเห็นง่ายขึ้น โดยใช้พฤติกรรมลูกค้าในแต่ละพื้นที่เป็นตัวกำหนด และกลุ่มสินค้าที่จำเป็นจะต้องไม่ขาดสต๊อก และไม่โอเวอร์สต๊อกมากเกินไป โดยจะใช้โปรแกรมสมัยใหม่เข้ามาช่วยสร้างความเชื่อมโยงร้านค้าออฟไลน์ไปรวมอยู่กับออนไลน์ หรือที่เรียกว่า ออมนิแชนเนล

โดยสมาชิกบิ๊กการ์ดจะสามารถนำไปแลกรับส่วนลดได้ในทุก ๆ โมเดลของบิ๊กซี และส่วนของพื้นที่เช่าขณะนี้ได้เปิดรับผู้เช่ารายใหม่ เน้นร้านอาหารยอดนิยม และอาหารท้องถิ่นเข้ามาเปิดในศูนย์มากขึ้น และในเดือนสิงหาคมผู้เช่าเริ่มกลับมาและมีผู้เช่ารายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีหลังตั้งเป้าไปที่การขยายสาขาบิ๊กซี แบ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 2 สาขา มินิบิ๊กซีเพิ่มอีก 240 สาขา และล่าสุดได้ขยายบิ๊กซี ฟู้ดเพลส 2 สาขาที่ท่าอิฐ นนทบุรี และหนามแดง สมุทรปราการ โดยจะเน้นเปิดในพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อให้เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวโมเดลใหม่ “Big C Depot” ศูนย์ค้าส่ง พื้นที่ขนาด 1,000 ตารางเมตร มีไลน์อัพสินค้ากว่า 1,800 เอสเคยู เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ ล่าสุดเปิดทดลองแล้ว 5 สาขา ปักธงชัย นครราชสีมา, ประโคนชัย บุรีรัมย์, และตาคลี นครสวรรค์ เป็นต้น โดยมาจากการนำสาขา Big C Market ที่ยอดไม่ดีมาปรับปรุงใหม่ จากนี้มีแผนขยายไปในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยโมเดลที่เปิดจะไปคู่กับมินิบิ๊กซี ขึ้นอยู่กับพื้นที่และทราฟฟิกในย่านนั้น

ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจบิ๊กซีต้องพัฒนาโมเดลการขายรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อปรับตัวรับมือกับภาวะการแข่งขัน เพราะปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภคมีการแข่งขันอย่างรุนแรง ทั้งด้านความหลากหลายของสินค้าและบริการ ยังรวมไปถึงแคมเปญและโปรโมชั่นเน้นการผลิตสินค้าในรูปแบบใหม่ ๆ และหาช่องทางจำหน่ายให้หลากหลายเพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น

เช่นเดียวกับสินค้าคอนซูเมอร์ เตรียมพัฒนาสินค้าเจาะกลุ่มคนรักสุขภาพและผู้สูงอายุ สืบเนื่องจากเทรนด์ที่กำลังมาแรงในยุคปัจจุบัน เช่น ผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาด เจลแอลกอฮอล์ ทิสชูฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และโฟกัสขายผ่านช่องทางออนไลน์โดยใช้บริการของแพลตฟอร์ม ช้อปปี้ และลาซาด้า ตลอดจนการเชื่อมโยงร้านค้าของบิ๊กซีให้ลูกค้าซื้อสินค้าด้วยบริการ click and collect เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการรับสินค้า

ทางด้านของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ จากนี้จะมุ่งพัฒนารูปแบบขวดให้มีความบางและเบาขึ้น และมองหาลูกค้าใหม่ โฟกัสกลุ่มอาหารและกลุ่มฟาร์มมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจฟังก์ชั่นนอลดริงก์ต่าง ๆ ได้รับผลการตอบรับจากเทรนด์คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และในส่วนของแพ็กเกจจิ้งกระป๋องได้ลอนช์ผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ 500 มิลลิลิตร เป็นกระป๋องไซซ์ใหญ่ เหมาะกับเครื่องดื่มบางประเภท เช่น คราฟต์เบียร์ และน้ำดื่มผลไม้บางชนิด ตรงนี้เริ่มมีออร์เดอร์เข้ามามากขึ้น

“อย่างไรก็ตาม บริษัทประเมินว่าในไตรมาส 3, 4 จะค่อย ๆ เห็นการฟื้นตัวของทุกกลุ่มธุรกิจ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องดูปัจจัยรอบด้านทั้งภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งจะแตกต่างจากปีที่แล้วที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลากหลาย ดังนั้น ปีนี้มองว่าภาพรวมธุรกิจจะค่อนข้างทรงตัว” นางสาวรวิภากล่าว