“บุญชัย โชควัฒนา” แนะปรับตัว ลดต้นทุน ประคองธุรกิจ

เหลือเวลาอีก 2 เดือนก็จะสิ้นปี แต่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ไม่เอื้อ แถมมีปมประเด็นการเมืองเข้ามาซ้ำ (เติม) อีก นี่คือโจทย์ยากที่หลาย ๆ ธุรกิจจะต้องฝ่าฟันให้ผ่านพ้นอุปสรรคนี้ไปให้ได้

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “บุญชัย โชควัฒนา” ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทย สะท้อนภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

Q : เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลมีโครงการ “คนละครึ่ง” และ “ช้อปดีมีคืน” มากระตุ้นการใช้จ่ายช่วงปลายปี มองว่าจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน

มาตรการช้อปดีมีคืน ถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่หลาย ๆ คนเฝ้ารอ โดยปีนี้รัฐบาลเพิ่มทั้งวงเงินลดหย่อนภาษีไว้ที่ 30,000 บาท (ช็อปช่วยชาติ ลดหย่อนได้ 15,000 บาท) ซึ่งดีกว่าไม่มี และน่าสนใจมาก แต่ถ้าจะให้ดีต้องขยายเวลาให้ยาวมากกว่านี้ (23 ต.ค.-31 ธ.ค. 63) และต้องทำต่อเนื่อง เพราะจะทำให้เงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบ และมีอัตราการซื้อขายมากขึ้น โดยคาดว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงปลายปีนี้ได้แน่นอน

แม้ตอนนี้ผู้คนอาจจะไม่มีกำลังซื้อที่จะออกมาจับจ่าย แต่เมื่อรัฐบาลเข้ามาช่วยจะทำให้มีการจับจ่ายมากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่อีกด้านหนึ่งมองว่าอยากให้เป็นโอกาสขายของร้านค้าขนาดเล็ก เพื่อจะได้ช่วยกระตุ้นการขายและยกระดับร้านให้ดีขึ้นมากกว่าร้านขนาดใหญ่

ส่วน โครงการ “คนละครึ่ง” ที่รัฐบาลออกค่าใช้จ่ายให้ 50% เพื่อนำไปใช้จ่ายในร้านค้าผู้ประกอบการรายย่อย โดยมองว่าผู้คนอาจจะใช้เงินมากขึ้น เพราะรัฐบาลออกช่วยคนละครึ่ง เท่ากับการลดราคาสินค้า 50% ก็จะเข้ามาช่วยกระตุ้นกำลังซื้อช่วงปลายปีได้

Q : สหพัฒน์เตรียมตัวรองรับหรือซัพพอร์ตโครงการอย่างไร

สำหรับสหพัฒน์ เราค่อนข้างพอใจที่รัฐบาลออกมาตรการนี้มา เพราะตอนนี้ภาพรวมของธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภค ไม่ได้ขายง่ายเหมือนแต่ก่อน โดยบริษัทได้เตรียมหลายแคมเปญใหญ่ อาทิ จัดกลุ่มสินค้าราคาพิเศษ การทำตลาดในช่องทางขายต่าง ๆ เพื่อรองรับเทศกาลการขายในช่วงปลายปี เพราะส่วนตัวแล้วมองว่ามาตรการนี้จะเข้ามาช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคออกมาซื้อของมากขึ้น และคาดว่าจะทำให้อัตราการขายสินค้าของบริษัทในเครือสหพัฒน์เติบโตขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ต้องถึงกับว่าจะต้องเตรียมสินค้าเผื่อขาย เพราะคงจะขายได้เหมือนให้เหตุการณ์ปกติ

อีกทั้งที่ผ่านมาบริษัทในเครือยังมีการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า ผงซักฟอกเปา ยาสีฟันซิสเท็มมา เป็นต้น เพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค

สิ่งที่ต้องทำในเวลานี้ คือ ต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ของการลงทุนในช่วงจากนี้ไปจะต้องมีความรอบคอบและต้องคุ้มค่าในระยะยาว เช่น การลงทุนในโครงการสร้างแวร์เฮาส์ บนพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งขณะนี้ใกล้จะเสร็จแล้ว และยังเดินตามแผนเดิม คือเตรียมไว้สำหรับเป็นศูนย์กระจายสินค้า โดยปัจจุบันสหพัฒน์มีคลังเก็บสินค้าทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่กว่า 60 แห่งทั่วประเทศ

Q : มองสถานการณ์ทางการเมือง-การชุมนุมอย่างไร

สิ่งที่น่าเป็นห่วงและกังวลในเวลานี้ คือ สถานการณ์ของการชุมนุม ทำให้พฤติกรรมของผู้คนไม่มีอารมณ์ออกมาจับจ่ายซื้อของ รวมถึงอาจจะทำให้ความเชื่อมั่นในประเทศลดลง แต่หวังว่าการชุมนุมจะจบลงเร็วกว่านี้ ยิ่งเร็วยิ่งดี และอยากฝากไปถึงรัฐบาลถ้าแก้ไขปัญหาให้ถูกวิธีจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา แต่ต้องหาทางออกด้วยวิธีที่แนบเนียน ละมุนละม่อมกับทางฝ่ายผู้ชุมนุม ไม่อยากให้ใช้ความรุนแรง ถือว่าเป็นคนไทยด้วยกัน และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงออกและเจรจาหาข้อยุติต่าง ๆ ร่วมกัน โดยประเมินว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะดีขึ้น ถ้าวิกฤตไวรัสโควิด-19 และการชุมนุมคลี่คลายไปก็จะสามารถเรียกเอาความเชื่อมั่นกลับมาได้

Q : จะฝากข้อคิด-มุมมองอะไรกับผู้ประกอบการบ้าง

ตอนนี้ทุก ๆ ธุรกิจต่างได้รับผลกระทบกันหมด และถ้าใครปรับตัวได้เร็ว และยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงจะอยู่รอดได้ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจะกลับมามีธุรกิจที่ยั่งยืนได้ ดังนั้น ต้องหาแนวทางลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากสุดในตอนนี้คงจะหนีไม่พ้นกลุ่มคนฐานราก เพราะยังมีเรื่องพืชผลการเกษตรที่ราคาไม่ค่อยดี รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้านค้าขนาดเล็กที่ขายให้กับนักท่องเที่ยวคงเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

ตอนนี้การปรับตัวเพื่อรับมือที่ง่ายสุด คือ ต้องอดออม ใช้จ่ายให้น้อย อย่าไปกู้เงินใคร ไว้รอช่วงที่เศรษฐกิจดี ๆ มีเงินในกระเป๋า ค่อยกลับมาใช้จ่ายใหม่อีกครั้ง

Q : ตอนนี้ในเมียนมากำลังเจอปัญหาโควิด-19 ระบาดหนัก ธุรกิจที่สหพัฒน์ไปลงทุนได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร

เป็นที่รู้กันว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมียนมา ตอนนี้ทางการเมียนมาเองก็มีมาตรการต่าง ๆ ออกมาควบคุม บางรัฐมีการประกาศใช้เคอร์ฟิว เพื่อควบคุมและจำกัดพื้นที่ประชาชนบางพื้นที่อาจจะถูกจำกัดไม่ให้เดินทาง ดังนั้น ในแง่ของการทำมาค้าขายก็ต้องได้รับผลกระทบ ยอดต้องลดลงไปเรื่องธรรมดา สำหรับสหพัฒน์เองก็คง

ทำอะไรไม่ได้ นอกจากยอมรับสภาพและรักษาสภาพให้อยู่ต่อไปได้ ขายมากหรือขายน้อย ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปเมียนมายังถือว่าน้อย เพราะฉะนั้นถ้าจะลดลงไปบ้างก็ไม่ได้กระทบเยอะเท่าไหร่