4 โรงพยาบาลใหญ่ “ธนบุรี-รามฯ-กรุงเทพ-เกษมราษฎร์” ลุยนำเข้าวัคซีนโควิค-19 ยื่น อย.ขอขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทผู้นำเข้ายา รอทางการไฟเขียว ย้ำตลาดมีดีมานด์เพียบ หวังเพิ่มทางเลือกลูกค้า-ไม่รอรัฐบาลฉีดฟรี เผย “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา-ซิโนฟาร์ม-สปุตนิก-โนวาแวกซ์” มาครบ เปิดราคาวัคซีนมีตั้งแต่ 4 ดอลลาร์สหรัฐไปจนถึง 37 ดอลลาร์สหรัฐ
หลังจากโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกมา เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้ และขอให้ยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนวัคซีนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ให้ถูกต้องเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาล่าสุดโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งมีความเคลื่อนไหวในการยื่นขอเป็นบริษัทผู้นำเข้ายาต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจะเป็นประตูด่านแรกของการจะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เพื่อรองรับความต้องการในประเทศ
4 รพ.ใหญ่ลุยนำเข้าวัคซีนโควิด
แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งได้มีความเคลื่อนไหวในการเตรียมจะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เข้ามาให้บริการ
โดยได้เริ่มทยอยยื่นเอกสารเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ายาไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยหลัก ๆ มีกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี, รามคำแหง, กลุ่มบีดีเอ็มเอส หรือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และล่าสุด อย.ได้เริ่มส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบสถานที่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนได้ในเร็ว ๆ นี้
แหล่งข่าวรายนี้ให้ข้อมูลด้วยว่า หลังจาก อย.อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ายาแล้ว ขั้นตอนต่อไปโรงพยาบาลหรือบริษัทนั้น ๆ ก็จะต้องติดต่อไปที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อนำเอกสารต่าง ๆมายื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนจาก อย.อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อวัคซีนดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว จากนั้นก็จะสามารถนำเข้ามาให้บริการได้
“ที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งได้มีการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศมาเป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนของจอห์นสัน , โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม สปุตนิก รวมถึง ไฟเซอร์ และมีบางโรงได้เจรจากับบริษัทผู้ผลิตเพื่อจะนำเข้าวัคซีนโควิดมามากกว่า 1 ตัวเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า”
สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารการขอขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทผู้นำเข้ายา และได้เริ่มส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบในเรื่องของสถานที่ตามเงื่อนไข และคาดว่าจะทยอยขึ้นทะเบียนได้ในเร็ว ๆ นี้ หรือภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้
ธนบุรีเจรจา 3 วัคซีน
นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทในเครือ คือ บริษัท ทันตสยาม จำกัด ที่เปิดดำเนินการมา 7-8 ปี
และเป็นบริษัทได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทนำเข้ายาและวัคซีนจาก อย.ได้ยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนเพื่อนำเข้าวัคซีนโควิด-19 แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ อย. โดยเบื้องต้นได้ติดต่อบริษัทผู้ผลิตวัคซีน 3 บริษัท ใน 2 ประเทศ ได้แก่ สปุตนิก-ไฟฟ์ (Sputnik-V) ของประเทศรัสเซีย ส่วนอีก 2 บริษัทอยู่ในประเทศจีน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเจรจาเพื่อตกลงรายละเอียด
ประธานกลุ่ม รพ.ธนบุรี ระบุว่า เบื้องต้นจากที่ได้เจรจากันราคาวัคซีนจะอยู่ที่ประมาณ 17-40 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส ซึ่งหากรวมค่าขนส่ง ค่าบริการ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท/โดส ซึ่งที่ผ่านมามีเอกชนหลายรายที่สนใจและติดต่อเข้ามา อาทิ สมาคมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นต้น และจากการสำรวจความต้องการวัคซีนโควิดขณะนี้พบว่ามีสูงถึง 10 ล้านโดส
“การที่รัฐบาลอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนเองได้ นอกจากจะช่วยเร่งการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมได้อย่างรวดเร็วแล้วยังประหยัดงบฯค่าใช้จ่ายของรัฐได้ด้วย และอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยฟื้นเรื่องของการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรที่สำคัญและเศรษฐกิจในภาพรวมให้ดีขึ้น”
“นอกจากกลุ่มธนบุรีที่มีแผนจะขออนุญาตนำเข้าวัคซีนแล้ว ก็ยังมีโรงพยายามเอกชนอีก 2-3 รายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มเกษมราษฎร์ เป็นต้น”
ช่วยลดภาระรัฐ-เพิ่มทางเลือก
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหงแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า การอนุญาตให้เอกชนสามารถยื่นขออนุญาตนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้
นอกจากจะเป็นการเพิ่มหรือเปิดทางเลือกให้กับกลุ่มประชาชนที่มีกำลังซื้อและไม่ต้องการรอรัฐบาลฉีดให้ฟรี อีกด้านหนึ่งก็จะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ตามหลักการเบื้องต้นโรงพยาบาลเอกชนจะต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ายาจาก อย.ก่อน และเมื่อ อย.ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและอนุญาตการขึ้นทะเบียนแล้ว
โรงพยาบาลหรือบริษัทนั้น ๆ ต้องการจะนำเข้าวัคซีนของใครจากผู้ผลิตรายใดก็จะต้องนำเอกสารต่าง ๆ มาขอขึ้นทะเบียนจาก อย.อีกครั้งหนึ่ง
ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนจำนวนหนึ่งที่ไปขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ายา เพื่อจะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 มาให้บริการประชาชนหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตัวเอง รวมทั้งรามคำแหงซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของ อย.
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งไม่จำเป็นต้องขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ายา เนื่องจากสามารถใช้วิธีการไปขอซื้อจากโรงพยาบาลหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ายาหรือวัคซีนได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ายาเพื่อจะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 มาให้บริการดังกล่าว ที่ผ่านมาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้เริ่มทยอยสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยสอบถามข้อมูลส่วนตัวเบื้องต้น เช่น ชื่อนามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทร. เป็นต้น รวมไปถึงจำนวนสมาชิกครอบครัวที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่สนใจฉีดวัคซีน
ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลวิภาวดีก็เป็นอีกโรงพยาบาลหนึ่งที่มีความพยายามจะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 มาให้บริการ โดยได้มีการติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโมเดอร์นาที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (เอฟดีเอ) สหรัฐ และมีการเปิดให้ผู้สนใจจอง แต่ตอนหลังต้องถูกยกเลิกไป