‘ทาสุโกะ’ ลุยตลาดแป้งออร์แกนิกไทย-เทศ

ทาสุโกะ

UBE กางโรดแมปเติบโตระยะยาว บุกธุรกิจปลายน้ำ ปั้นสินค้าแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิก-แป้งฟลาว ภายใต้แบรนด์ทาสุโกะบุกตลาดไทย ส่ง 3 สูตรคุกกี้ บราวนี่ แพนเค้ก ประเดิมตลาด พร้อมหว่านงบฯ 50 ล้าน สร้างการรับรู้กลุ่มผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

ก่อนทุ่มอีก 100 ล้าน ขยายกำลังการผลิต เจาะตลาดต่างประเทศ อนาคตเล็งร่วมทุน-ควบรวมกิจการเจ้าตลาดแป้งทำอาหารในต่างประเทศ หวังบุกหนักต่างประเทศ ตั้งเป้า 64 รายได้ทะลุ 4 พันล้าน ย้ำระยะยาวก้าวขึ้นเบอร์ 1 ฟู้ดออร์แกนิกไทย

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ผู้ดำเนินธุรกิจพลังงาน และธุรกิจผลิตควบคู่จัดจำหน่ายแป้งมันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลังออร์แกนิก และแป้งฟลาว ภายใต้แบรนด์ Tasuko และ Savvy เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมมันสำปะหลังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี จากความต้องการใช้ในภาคธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปเป็นเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงและผลิตเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่มันสำปะหลังมีราคาย่อมเยากว่าพืชให้แป้งชนิดอื่น ๆ ตลอดจนสามารถแปรรูปออกมาเป็นสินค้าสุขภาพ อาทิ แป้งมันสำปะหลังออร์แกนิก หรือนำมาทำเป็นแป้งฟลาวไร้กลูเตน ใช้แทนแป้งสาลีในอุตสาหกรรมเบเกอรี่ต่าง ๆ

โดยปัจจุบัน UBE มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเอทานอล 50% ซึ่งเป็นตลาดในประเทศ และธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง 50% โดยส่วนใหญ่ยังเป็นรูปแบบการจำหน่ายในลักษณะขายส่งในปริมาณมาก (wholesale) ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ โดยมีตลาดหลักคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี แต่ทว่าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า พร้อมกับขานรับเมกะเทรนด์โลก และประเทศไทยที่ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น และพร้อมจ่ายสำหรับสินค้าที่มีคุณภาพสูง

บริษัทจึงตัดสินใจบุกธุรกิจปลายน้ำ จากเดิมเป็นธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำมากกว่า ภายใต้การนำของบริษัทย่อย คือ บริษัท อุบล ซัน ฟลาวเวอร์ จำกัด หรือ UBS ด้วยการทุ่มงบประมาณ 300 ล้านบาท ในการพัฒนานวัตกรรมแป้งฟลาวเพื่อทดแทนแป้งสาลี ควบคู่กับการนำแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิกเข้ามาตีตลาดรีเทล เจาะห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์ Tasuko สำหรับบุกตลาดไทยในปี 2564 นี้ พร้อมชูจุดเด่นความเป็นสินค้าออร์แกนิกที่ได้รับมาตรฐานสากล ทั้งในอเมริกาและยุโรป

“ประเทศไทยมีช่องว่างด้านการทำตลาดในแง่ราคาของสินค้าแป้งออร์แกนิกและแป้งฟลาวไร้กลูเตนยังมีราคาสูง เนื่องจากเป็นสินค้านำเข้าทั้งสิ้น หากเจาะตลาดไทย UBE ใช้วัตถุดิบหลักมันสำปะหลังในประเทศในการทำสินค้า ส่งผลให้ราคาของผลิตภัณฑ์จะถูกกว่าเจ้าตลาดที่เป็นสินค้าต่างประเทศ ขณะที่จากการทำ customer focus ในกลุ่มผู้บริโภคไทยยังพบว่ามีอัตราการแพ้แป้งสาลีสูงถึง 7-10% จึงนับเป็นโอกาสที่ดีในการเปิดตลาดเป็นเจ้าแรก ๆ”

นายเดชพนต์กล่าวว่า เบื้องต้นจะลอนช์สินค้า 3 ชนิด ได้แก่ คุกกี้ บราวนี่ และแพนเค้ก ก่อนที่จะขยายไปยังโปรดักต์อื่น ๆ อาทิ ในต้นปี 2565 จะทำแป้งชุบทอดจากมันสำปะหลังออกมา และในอนาคตจะมีแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ กว่า 20-30 สูตร ส่วนกลยุทธ์การทำตลาดของแบรนด์ทาซูโกะ เนื่องจากยังเป็นสินค้าใหม่ในประเทศ จึงจำเป็นต้องสร้างการรับรู้แบรนด์ในวงกว้าง

เบื้องต้นวางแผนไว้ว่าใช้งบฯโฆษณาปีละ 50 ล้านบาท สร้างความเข้าใจในเรื่องของกลูเตนฟรีของสินค้า และสื่อสารแบรนด์ไปสู่กลุ่มผู้บริโภคทั่วไป และกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านขนมเบเกอรี่ และคาเฟ่ต่าง ๆ

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากมีการคลายล็อกดาวน์มากกว่านี้ ธุรกิจโรงแรมกลับมารับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น จึงขยายตัวเข้าไปสู่ธุรกิจโรงแรมที่ต้องการสินค้าออร์แกนิกและมีความพรีเมี่ยม เพื่อเป็นบริการอาหารทางเลือกให้แก่ลูกค้าที่มีข้อจำกัดในการรับประทานอาหารประเภทแป้งสาลี

พร้อมกันนี้จะทุ่มงบฯลงทุนอีกราว 100 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิกและแป้งฟลาวเป็น 7-8 หมื่นตัน/ปี จากกำลังการผลิตทั้งหมด 1.3 แสนตัน/ปี (ส่วนที่เหลือเป็นแป้งมันสำปะหลังธรรมดา) สำหรับการขายส่งออกต่างประเทศที่มีดีมานด์สูง ควบคู่กับการเพิ่มสายการผลิตใหม่ผ่านการสร้างโรงงานใหม่ แต่อยู่ในพื้นที่ของโรงงานเดิม และจะมีหลายสายการผลิต

อาทิ สายให้ความหวาน (ไซรัป) เนื่องจากแป้งมันสำปะหลังสามารถนำไปแปรรูปเป็นไซรัปได้ แต่บริษัทจะเน้นไปที่การสร้างแวลูให้กับสินค้า โดยทำเป็นรูปแบบออร์แกนิกและให้พลังงานต่ำ

ขณะที่ตลาดต่างประเทศ แม้ UBE จะเน้นการขายในรูปแบบขายส่งปริมาณมาก แต่ก็ได้เริ่มมีการทำตลาดรีเทลผ่านแบรนด์ Savvy แต่ยังไม่ติดตลาดมากนัก ฉะนั้นในอนาคตจึงเล็งเข้าไปร่วมทุน หรือควบรวบกิจการแบรนด์ที่เป็นเบอร์ต้น ๆ ในประเทศนั้น ๆ เพื่อตีตลาดต่างประเทศภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเองได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องสร้างการรับรู้ในวงกว้างอีก

นอกจากนี้ บริษัทได้ขยายธุรกิจเกษตรอินทรีย์ปลูกข้าว และกาแฟ ที่ไทยและ สปป.ลาว ราว 1,600 ไร่ เพื่อให้ได้ตราออร์แกนิกสากล และสามารถส่งขายออกทั่วโลกได้ จากเดิมที่ปลูกมันสำปะหลังออร์แกนิก 40,000 ไร่ กระจายหลายพื้นที่ 4 จังหวัดอีสาน และ 3 เมืองในประเทศลาว เพื่อกระจายความเสี่ยง ในอนาคตอาจเล็งปลูกผัก ผลไม้ กัญชากัญชงออร์แกนิก เพื่อส่งขาย แต่ยังอยู่ในเฟสถัด ๆ ไป

“ปีนี้บริษัทตั้งเป้าเติบโต 40-50% รายได้ทะลุ 4,000 ล้านบาท จากปี 2563 ที่มีรายได้ราว 3,000 ล้านบาท เป้าหมายระยะสั้น คือ การนำตนเองไปสู่ธุรกิจปลายน้ำมากขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร ส่วนในระยะยาว 5-10 ปี เราอยากก้าวขึ้นเป็นฟู้ดออร์แกนิกอันดับ 1 ของไทย” นายเดชพนต์กล่าวทิ้งท้าย