“แคมปิ้ง” จุดพลุธุรกิจใหม่ ผุดลานกางเต็นท์ 500 แห่ง

แคมปิ้งมาแรงสวนกระแส หนุนตลาดอุปกรณ์ตั้งแคมป์คึกคัก-ยอดขายพุ่ง ลานกางเต็นท์ผุดเป็นดอกเห็ด เผยรัศมี 150 กิโลเมตร รอบกรุงเทพฯมีเบาะ ๆ กว่า 500 แห่ง แห่ลงทุน “ที่จอดรถ-ห้องน้ำ-ไฟ” อำนวยความสะดวกลูกค้า มั่นใจอนาคตสดใส เกิดธุรกิจใหม่เช่าอุปกรณ์-แพลตฟอร์มจองลานตั้งแคมป์รับดีมานด์เพิ่ม

เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และสวนกระแสไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับการท่องเที่ยวในรูปแบบของการตั้งเต็นท์หรือแคมปิ้ง ที่ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีความคึกคักมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะร้านจำหน่ายอุปกรณ์การตั้งแคมป์ รวมถึงธุรกิจลานกางเต็นท์ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และอีกด้านหนึ่งก็ยังมีธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมารองรับดีมานด์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กระแสท่องเที่ยวแคมปิ้งมาแรง

นายธัชรวี หาริกุล ผู้ก่อตั้งเชนร้านอุปกรณ์ตั้งแคมป์เดินป่า “ไทยแลนด์ เอาท์ดอร์” ที่เปิดดำเนินการมานาน 12 ปี มีสาขา 4 แห่งในกรุงเทพฯ และ 1 แห่งที่เชียงใหม่ รวมถึงเป็นตัวแทนนำเข้าสินค้าตั้งแคมป์กว่า 40 แบรนด์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันกระแสการตั้งแคมป์ได้รับความนิยมมากขึ้น และทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีการเติบโตตามไปด้วย

สะท้อนจากในช่วง 1-2 ปีมานี้ี่ทั้งจำนวนผู้ตั้งแคมป์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ลานกางเต็นท์เอกชน ไปจนถึงร้านอุปกรณ์ตั้งแคมป์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ยอดขายที่เติบโตหลายเท่าตัว เช่นเดียวกับจำนวนตัวแทนจำหน่ายที่มีเพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 10 ราย จากเดิมในช่วงปี 2561-2562 ที่มีเพียง 30 ราย และตอนนี้ก็ยังมีผู้สนใจและติดต่อเข้ามาเป็นตัวแทนอีกมาก

ปัจจุบันการตั้งแคมป์เป็นกิจกรรมที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าในอดีต เนื่องจากอุปกรณ์มีให้เลือกหลากหลาย ทั้งอุปกรณ์พื้นฐานอย่างเต็นท์ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่น เก้าอี้ โต๊ะ เตาทำอาหาร แสงสว่าง ในทุกระดับราคาและดีไซน์

รวมไปถึงมีบริการใหม่ ๆ เกิดขึ้นมารองรับ เช่น ลานกางเต็นท์ที่มีห้องน้ำสะอาด การให้เช่าอุปกรณ์ตั้งแคมป์แบบครบชุด หรือแพลตฟอร์มจองลานกางเต็นท์ เป็นต้น ทำให้งบฯระดับพันบาทต้น ๆ ก็ไปตั้งแคมป์ได้แบบไม่ต้องลำบาก จากเดิมที่การตั้งแคมป์จะมีภาพลักษณ์ของกิจกรรมลุย ๆ

ประกอบกับผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวที่มีเด็กและกลุ่มหนุ่มสาว ต้องการจะหาสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลายจากการทำงานที่บ้านและการล็อกดาวน์ รวมทั้งคนที่เป็นเจ้าของที่ดินเปล่าหรือมีสวนมีไร่ต้องการสร้างรายได้จึงหันมาเปิดลานกางเต็นท์รับดีมานด์ เพราะลงทุนน้อยกว่าการเปิดรีสอร์ต ทำให้ช่วง 1-2 ปีนี้มีลานกางเต็นท์เปิดใหม่ทุกสัปดาห์ และแข่งขันกันด้านความสะดวกสบาย เช่น ห้องน้ำ ที่จอดรถ และเปิดให้มีการจองทำเลที่ตั้งแคมป์ตั้งเต็นท์ล่วงหน้าได้ ซึ่งปัจจุบันคาดว่ามีหลายร้อยแห่ง

“กระแสการตั้งแคมป์เริ่มมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2561 และบูมมากขึ้นในปี 2563 ที่โควิดระบาด พอโควิดคลี่คลายลง หรือรัฐบาลมีการคลายล็อกให้เดินทางท่องเที่ยวได้ แต่ละครั้งก็จะมีผู้คนออกไปตั้งแคมป์ในจังหวัดใกล้เคียงกันอย่างคึกคัก”

แคมปิ้งยุคใหม่ฟาซิลิตี้ครบ

นายนิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทรคกิ้งไทย จำกัด ผู้บริหารร้านสินค้าแคมปิ้ง-เดินป่า เทรคกิ้งไทย และบริการจัดทัวร์เดินป่ามานานกว่า 20 ปีที่กล่าวว่า ปัจจุบันการตั้งแคมป์เป็นกิจกรรมระดับแมสที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

จากการสำรวจพบว่าปัจจุบันมีลานกางเต็นท์เอกชนหลายร้อยแห่งกระจายในทุกภาคของประเทศ ราคาเฉลี่ย 100-600 บาท/คน/คืน โดยเฉพาะรัศมี 150 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯมีมากกว่า 500 แห่ง เช่น ชะอำ (เพชรบุรี) แก่งคอย (สระบุรี) สวนผึ้ง (ราชบุรี) ซึ่งแต่ละอำเภอจะมีลานตั้งแคมป์กว่า 100 แห่ง นอกจากนี้ หลาย ๆ แห่งก็เริ่มมีบริการใหม่ ๆ เข้าไปเสริมเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ เช่น บุฟเฟต์หมูกระทะ สระว่ายน้ำ สวนน้ำ สวนผัก ฯลฯ

นอกจากนี้ กระแสที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้ธุรกิจร้านจำหน่ายอุปกรณ์ตั้งแคมป์มีเพิ่มจำนวนมากขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา รวมทั้งเริ่มมีการนำอุปกรณ์แคมปิ้งระดับบนราคาสูงเข้ามาวางจำหน่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเต็นท์ขนาดใหญ่ อุปกรณ์แคมป์ที่เน้นดีไซน์-สีสันสวยงาม ไปจนถึงอุปกรณ์ชงกาแฟ

เช่นเดียวกับผู้ให้บริการลานกางเต็นท์ที่เริ่มลงทุนมากขึ้นทั้งในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งไฟฟ้า ห้องน้ำ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ฯลฯ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากจำนวนผู้บริโภคแล้ว โดยส่วนตัวเชื่อว่าธุรกิจลานกางเต็นท์จะขยายตัวได้อีกอย่างน้อย 5 ปี หรือมีลานกางเต็นท์ประมาณ 5 พันแห่งทั่วประเทศแล้วจึงเริ่มชะลอตัว

นายโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด ผู้จัดงานอีเวนต์และผู้ให้บริการรถแคมปิ้ง กล่าวในเรื่องนี้ว่า ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา การท่องเที่ยวและพักในรถแคมปิ้งได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะยอดจองในทำเลริมทะเลที่ตัวเลข 100% และยอดการจองในทำเลภูเขามี 80-90% ทำให้บริษัทได้เตรียมเพิ่มจุดจอดรถแคมปิ้งอีก 5 จุด เพื่อรองรับไฮซีซั่นในช่วงปลายปี

เช่น อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ สระบุรี นครราชสีมา และเชียงใหม่ รวมถึงให้บริการรถแคมปิ้งแบบรถตู้ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการขับไปยังสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังเพิ่มการจัดอีเวนต์เล็ก ๆ ริมหาด เช่น คอนเสิร์ต และมีตติ้ง เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่มาเที่ยวเป็นหมู่คณะ

แจ้งเกิดธุรกิจใหม่รับดีมานด์

นายมีคม พรประเสริฐสม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอาท์ดอร์สเรนทอล จำกัด ผู้ให้บริการเช่าเต็นท์-อุปกรณ์แค้มปิ้ง และบริการล้างทำความสะอาดเต็นท์ กล่าวว่า จากกระแสการตั้งแคมป์ที่ได้รับความนิยมและมีมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา แต่อีกด้านหนึ่งก็พบว่าหลายรายมีปัญหาในการหาการจัดเก็บอุปกรณ์หรือเต็นท์ขนาดใหญ่ที่มักมีปัญหากับการทำความสะอาดหลังใช้งาน บริษัทจึงได้เปิดธุรกิจให้เช่าอุปกรณ์และทำความสะอาดขึ้นมารับดีมานด์ดังกล่าว

โดยมีการจัดเซตอุปกรณ์สำหรับแคมปิ้งครบชุด 2-4 คน อาทิ แผ่นรองนอน โต๊ะ เก้าอี้ ตะเกียง เตาแก๊ส และหม้อสนาม ราคาเริ่มต้น 3 วัน 850 บาท สำหรับ 2 คน และ 1,150 บาท สำหรับ 4 คน เช่นเดียวกับเต็นท์ที่มีให้เช่าตั้งแต่ขนาด 1-6 คน เริ่มต้น 450 บาท เสริมกับการให้เช่าอุปกรณ์แบบแยกชิ้น และบริการไปกางเต็นท์ให้ถึงที่ โดยช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีลูกค้าทั้งผู้ที่ไม่เคยตั้งแคมป์มาก่อน และกลุ่มธุรกิจ เช่น โปรดักชั่นเฮาส์ที่ต้องการใช้อุปกรณ์เป็นของประกอบฉากเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะหลังคลายล็อก

“นอกจากกลุ่มนักตั้งแคมป์มือใหม่แล้ว ลูกค้าใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นกลุ่มที่เน้นถ่ายรูป ซึ่งต้องการอุปกรณ์ที่มีดีไซน์สวยงามเพื่อให้เหมาะกับการถ่ายรูป โดยช่วงปีที่ 2 นี้บริษัทได้ขยายไลน์อัพสินค้าและจำนวนเต็นท์ที่มี เช่น เต็นท์แบบกางบนหลังคารถ รวมถึงขยายโรงล้างเต็นท์เพิ่ม”

ด้านนางสาวอติชา ยิ่งศิริอำนวย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แคมป์ป้าทีเฮช จำกัด บริษัทสตาร์ตอัพผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจองลานกางเต็นท์ “แคมป์ป้า” กล่าวว่า เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจการตั้งแคมป์ที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มมีการพัฒนาแพลตฟอร์มแคมป์ป้าขึ้นมาเพื่อให้บริการด้านการรวบรวมและการจองลานกางเต็นท์ โดยได้เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน

ปัจจุบันมีลานกางเต็นท์ที่เข้าร่วมบนแพลตฟอร์ม 5 แห่งผู้ใช้งาน 2,000 คน และยอดจอง 200 ราย ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนลานกางเต็นท์ที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มเป็น 25-30 แห่งในสิ้นปีนี้ และเพิ่มมากขึ้นในปีถัดไป ตอนนี้มีธุรกิจลานกางเต็นท์จำนวนมากที่แสดงความสนใจ