เทียบภูมิคุ้มกันวัคซีน 8 สูตรในไทยต่อโอมิครอน สธ.ชี้ 2 เข็มเอาไม่อยู่

วัคซีนโควิด

สธ.เปิด 8 สูตรวัคซีนในไทยเทียบประสิทธิภาพต้านโอมิครอน เผยกลุ่มฉีด 2 เข็มเอาไม่อยู่ แนะประชาชนรับวัคซีนเข็ม 3 ลดติดเชื้อ-ป่วยหนัก

วันที่ 17 มกราคม 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงถึงกรณีผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีน 8 สูตรในประเทศไทย ต่อการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอนว่า สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันโควิดในครั้งนี้ ได้ใช้วิธี Plaque Reduction Neutralization Test หรือ PRNT

โดยใช้ไวรัสตัวเป็น ๆ ที่เพาะเชื้อมาได้จำนวนพอสมควรมาทดสอบกับน้ำเลือด (serum) ของคนได้รับวัคซีน และนำมาปั่นแยกน้ำเลือดเอามา จากนั้นจึงนำมาลงจานเพาะเชื้อโควิด

โดยจะนำซีรั่มมาเจือจางลงเป็นเท่า ๆ เช่น ต่อ 2, ต่อ 4, ต่อ 6 ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งฆ่าไวรัสได้เพียงครึ่งเดียว หรือที่เรียกว่า PRNT 50 ถือเป็นขั้นสุดท้ายที่จะสามารถป้องกันไวรัสได้ และนำตัวเลขที่ได้จากตรงนี้มาพิจารณา

 

ทั้งนี้ กรมวิทย์ฯ ได้เทียบประสิทธิภาพวัคซีน 8 สูตรที่มีในคนไทยต่อโควิดเดลต้าและโอมิครอน โดยแต่ละสูตรมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1. ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า

มีภูมิคุ้มกันต่อเดลต้า 201.90 และมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 11.63

2. ไฟเซอร์+ไฟเซอร์

มีภูมิคุ้มกันต่อเดลต้า 189.40 มีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 19.17

3. แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์

มีภูมิคุ้มกันต่อเดลต้า 388.20 และมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 21.21

4. ซิโนแวค+ไฟเซอร์

มีภูมิคุ้มกันต่อเดลต้า 581.10 และมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 21.7

5. แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า

มีภูมิคุ้มกันต่อเดลต้า 226.90 และมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 23.81

6. ซิโนแวค+ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า

มีภูมิคุ้มกันต่อเดลต้า 368.10 และมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 71.64

7. แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์

มีภูมิคุ้มกันต่อเดลต้า 691.10 และ มีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 229.9

8. ซิโนแวค+ซิโนแวค+ไฟเซอร์

มีภูมิคุ้มกันต่อเดลต้า 729.30 และมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 282.5

สรุปได้ว่าเป็นไปตามที่มีการคาดคะเนที่โอมิครอนสามารถหลบภูมิคุ้มกันวัคซีนได้ดีพอสมควร สะท้อนจากตัวเลขด้านบน เช่น ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า สามารถกันเดลต้าได้สูงราว 201.90 ขณะที่ป้องกันโอมิครอนได้เพียง 11.63 หรือลดลงราว 17 เท่า ซึ่งเป็นไปในทุกสูตรของ 2 เข็มที่มีในประเทศไทย

จึงกล่าวได้ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 2 เข็มกันได้ไม่มากนัก แต่การฉีดบูสเตอร์โดสเข็มที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตาม พบว่า ภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ค่อนข้างดี สามารถลบล้างฤทธิ์โอมิครอนได้ ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็ม 3 ยังจำเป็นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันลดการแพร่ระบาด และลดอาการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้ลง จึงอยากขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็ม 3 เมื่อถึงเวลา

ส่วนสาเหตุที่ไม่มีการนำเลือดผู้ฉีดซิโนแวค 2 เข็มมาร่วมเทียบประสิทธิภาพป้องกันโอมิครอน เนื่องจาก ปัจจุบันไทยได้เปลี่ยนสูตรวัคซีนมาเป็นสูตรไขว้ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มนั้น ส่วนมากได้รับเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นไปแล้วนั่นเอง

นอกจากนี้ สำหรับเรื่องภูมิลบล้างฤทธิ์โอมิครอนในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้านั้น กรมวิทย์ฯ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลหากมีความคืบหน้าอย่างไรจะเรียนให้ทราบต่อไป