“วัลยา จิราธิวัฒน์” ซีอีโอหญิงคนแรก นำทัพ “CPN” สู่ทศวรรษใหม่

จับตายุคใหม่อาณาจักรค้าปลีกแสนล้าน “เซ็นทรัลพัฒนา” หลังเปลี่ยนมือสู่ทายาทหญิงแกร่งแห่งวงการค้าปลีก “วัลยา จิราธิวัฒน์” กับแนวคิด-ท้าทายใหม่ปั้นทีมคุณภาพ เดินหน้าธุรกิจสู่ Retail-Led Mixed-use development

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 “เซ็นทรัลพัฒนา” ภายใต้การนำของ “วัลยา จิราธิวัฒน์” หลังเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) โดยมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นับเป็นซีอีโอหญิงคนแรกของอาณาจักรในรอบ 40 ปี

โดย “วัลยา จิราธิวัฒน์” เป็นบุตรของ “คุณเตียง และ คุณวิภา จิราธิวัฒน์” และเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเจนเนอเรชั่นที่ 3 อย่าง “ทศ–กอบชัย จิราธิวัฒน์ และ ยุวดี พิจารณ์จิตร” จึงมีความเชี่ยวชาญในฐานะนักบริหารงานมืออาชีพอย่างแท้จริง และแม้ที่ผ่านมาเธอจะคร่ำหวอดทำงานกับเซ็นทรัลมากว่า 36 ปี

โดยเข้ามาบริหารงานในมืออาชีพในเซ็นทรัลพัฒนามา 18 ปี แต่ทว่าความท้าทายใหม่ในฐานะซีอีโอ ผู้นำทัพใหญ่ของอาณาจักรศูนย์การค้าเซ็นทรัลในครั้งนี้คือ เรื่องของการพัฒนาคน ที่เจ้าตัวบอกว่าคือหัวใจหลักสำคัญในการสร้างการเติบโตของธุรกิจในยุคปัจจุบัน คือจะทำอย่างไร ในการสร้างคนเพื่อพาทีม ปรับรูปแบบการทำงานรองรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

พร้อมกับก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ต้องเป็น Omnichannel อยาก Empower ทีม ในการช่วยกันคิด ช่วยกันพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ โดยผนึกทุกองค์ประกอบ ทั้งศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรมไว้ด้วยกัน

“เราให้ความสำคัญกับคน และเราก็ทราบว่าคนคือบุคลากรสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร และเราเริ่มแยกธุรกิจออกชัดเจน ทั้งเรสซิเดนเชี่ยล โรงแรม ออฟฟิศ ฯลฯ แม้ธุรกิจของเราส่วนใหญ่จะเป็น สกิลเราและคนของเราจะไม่ได้อยู่แค่รีเทลอีกต่อไป แต่เราจะเป็น Retail-Led Mixed-use development ที่สร้างการเติบโตให้หลายขาธุรกิจเพิ่มเติม”

และเพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของบุคลากร จึงได้มีการตั้งทีม business & digital transformation ลงทุน 450 ล้านบาท ทรานส์ฟอร์มและสร้างแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายมากที่สุด
ไม่เพียงเท่านี้แผนแม่บทใหม่ของซีพีเอ็นนับจากนี้จึงไม่ใช่แค่ด้านทิศทางธุรกิจ แต่เจ้าตัวบอกว่า ต้องผสาน Ecosystem ทั้งระบบไว้ด้วยกัน ทั้งเรื่องของทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ต้องปรับตัวให้ทันกับยุคสมัย และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน ภายใต้ประกาศแผนธุรกิจ 5 ปี (2565-2569) ผ่านงบประมาณการลงทุนกว่า 120,000 ล้านบาท

โดยประเดิมภาระกิจแรกด้วยการประกาศรีแบรนด์ใหม่ จาก “ซีพีเอ็น” เป็น “เซ็นทรัลพัฒนา” พร้อมเปลี่ยนชื่อศูนย์การค้าทั้งหมดให้เป็นเซ็นทรัล และตามด้วยจังหวัด หรือสาขานั้นๆ จากที่แต่เดิมจะมีการแบ่งเซ็กเมนต์เป็นเซ็นทรัลพลาซ่า และเซ็นทรัลเฟสติวัล

ซีอีโอหญิงแห่งอาณาจักรศูนย์การค้าเซ็นทรัลพัฒนา บอกว่า แม้จะมีการรีแบรนด์ศูนย์การค้าในเครือ โดยตัดคำว่า พลาซ่า” และ “เฟสติวัล” บนชื่อของศูนย์การค้าแต่ละแห่งออก แต่เชื่อว่าจะไม่ทำให้สับสนกับอีกบริษัทในเครืออย่าง บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) อย่างแน่นอน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัวเอง เป็นบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัลเหมือนกัน มีนโยบายเหมือนกันคือรองรับความต้องการของลูกค้า เพียงแค่แยกธุรกิจออกมาเพื่อให้ง่ายต่อการดูแล

แน่นอนว่าในอีก 5 ปี ภายใต้การกุมทัพของ “วัลยา จิราธิวัฒน์” อาณาจักรซีพีเอ็นจะต้องมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ อยู่ในมากกว่า 30 จังหวัด ซึ่งจะทำให้จำนวนโครงการทั้งหมด (รวมปัจจุบันและอนาคต) ได้แก่ ศูนย์การค้า 50 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ และคอมมิวนิตี้มอลล์ 16 แห่ง (อยู่ระหว่างการศึกษาการขยายโครงการ),

และยังมีโครงการที่พักอาศัย 68 แห่ง, อาคารสำนักงาน 13 แห่ง และโรงแรม 37 แห่ง โดยมากกว่า 50% ของโครงการทั้งหมดจะเป็นรูปแบบมิกซ์ยูสที่มีมากกว่า 1 ธุรกิจ และมีศูนย์การค้าเป็นหัวใจสำคัญ โดยเร่งขยายการเติบโตของทุก ๆ ธุรกิจพร้อมกันไปอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ต่างประเทศก็จะโฟกัสไปยังภูมิภาคอาเซี่ยนเป็นพิเศษ เพราะด้วยศักยภาพ โลเคชั่น ที่มีโฮกาสทางการเติบโตสูง โดยจะมุ่งที่ไปเวียดนามและมาเลเซียมากขึ้น

“เมื่อก่อนสัดส่วนเงินลงทุนของเซ็นทรัลพัฒนา 80% อยู่กับศูนย์การค้า แต่นับจากนี้ไปเรายังคงเดินหน้าขยายศูนย์การค้าต่อเนื่อง ไปพร้อม ๆกับการ ผลักดันธุรกิจหลักอื่นๆ ให้เติบโตไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นสัดส่วนเงินลงทุนของศูนย์การค้า จาก 80% จะอยู่ที่ 70% ซึ่งไม่ใช่การลดงบฯธุรกิจรีเทลที่ลดลง แต่เป็นการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนธุรกิจอื่น ๆ ในเครือไปพร้อมๆกัน”

อีกฟากในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซีอีโอหญิงแกร่งแห่งเซ็นทรัลพัฒนา บอกว่า นับเป็นอีกคีย์หลักในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน เพราะสิ่งแวดล้อมคือเรื่องที่สำคัญมากขึ้น หลายองค์กรภาคส่วนเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น
โดยในส่วนของบริษัทเองตั้งเป้าเป็นองค์กร mixed-use developer รายแรกสู่ net zero ภายในปี 2572 ด้วยแผนระยะยาวตั้งเป็น net zero carbon emission ให้ได้ผ่านการลดการใช้พลังงานให้ได้ 50% ลดการใช้ CFC และสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศ และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดหรือ clean energy ให้ได้อีก 50%

นอกจากนี้ยังตั้งเป้าปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งภายในและภายนอกโครงการให้ได้ถึง 1 ล้านต้น
น่าจับตาว่า “เซ็นทรัลพัฒนา” ยุคใหม่ ภายใต้การกุมทัพของซีอีโอหญิงทายาทเจน 2 โดยตรงของตระกูล “จิราธิวัฒน์” จะเข้าสู่ยุคใหม่และเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด แต่ที่แน่ๆ เธอบอกว่าในสิ้นปีนี้เซ็นทรัลพัฒนาจะต้องมีการเติบโตได้เป็นตัวเลข 2 หลัก หรือไม่ต่ำกว่า 10%