สถาบันยานยนต์ “ข้อต่อ” อุตสาหกรรมตัวจริง

หลังเข้ามานั่งในตำแหน่งผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ได้ไม่ถึงสัปดาห์ “อดิศักดิ์ โรหิตะศุน” เปิดโอกาสให้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ถึงแนวคิด ทิศทาง และนโยบายในการขับเคลื่อน สถาบันยานยนต์ ในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่จะเป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่างรัฐบาลและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ราย ต่าง ๆ

แม้ว่า “อดิศักดิ์” จะออกตัวว่า ห่างหายจากแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ราว 7-8 ปี อาจจะต้องใช้ระยะเวลา สักระยะเพื่อเตรียมความพร้อมและทำการบ้านเพื่อให้สถาบันยานยนต์กลับมาเป็น หน่วยงาน หรือข้อต่อหลักในการเชื่อม เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจอันดีระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป แต่หลายคนเชื่อฝีไม้ลายมือของบุรุษที่มีสายเลือดของอุตสาหกรรมรถยนต์อย่าง เต็มตัว

ซัพพอร์ตทุกอุตสาหกรรม

แน่นอนว่า การเข้ามาในสถาบันช่วงนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น บทบาท และภารกิจที่สำคัญของสถาบัน คือ ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราต้องเปลี่ยนแปลงบทบาท ภารกิจของสถาบัน ประเทศไทย 4.0 ดังนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์และสถาบัน ก็จะต้องตามไปข้างหน้า สถาบันได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการต่อยอด

ในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ให้สามารถพัฒนาไปสู่ระบบราง ตัวรถไฟ สถานี รวมทั้งต่อยอดไปสู่อากาศยาน ซึ่งเราคงจะต้องมาดูรายละเอียดและความเป็นไปได้ เนื่องจากเราไม่เคยทำมาก่อน และต้องมาปรับตัวว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะสามารถเข้าไปซัพพอร์ตยานยนต์แห่ง อนาคตได้อย่างไร เพระแน่นอนว่ารถยนต์ไฟฟ้าคือคำตอบของอนาคตเพียงแต่มันก็มีหลากหลายประเภท หลายเวอร์ชั่น ทั้งไฮบริด และปลั๊ก-อินไฮบริด

ปรับองค์กรรับทิศทางใหม่

สถาบันต้องปรับองค์กรใหม่ เพื่อเตรียมรองรับอะไรใหม่ ๆ เพื่อซัพพอร์ต ทุกเรื่อง ภาครัฐมีกำหนดคร่าว ๆ อย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ จะเน้นโปรดักติวิตี้เพื่อให้เกิดนวัตกรรม เอาระบบเครื่องจักรอัจฉริยะ ระบบออโตเมชั่น เข้ามาทดแทนคนให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น จากนี้ไปบทบาทมันจะมีอะไรบ้าง จากนั้นก็มาดูองค์กรของเรา ปัจจุบันเราทำอะไร และเราขาดอะไร 4-5 ปีแรกจะเป็นช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงนี้ พวกงานเดิมอย่างการวิจัยอุตสาหกรรม เราเป็น “Think Tank” ของผู้ประกอบการและรัฐบาล สถาบันจะต้องมาดูว่า รัฐบาลจะต้องมีข้อมูล ผู้ประกอบการ จะได้วางแผนวิเคราะห์ต่อไปได้ โดยพยายามให้ผลงานมันใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ครอบคลุมข้อมูลให้กว้างขึ้น

โอกาสทองยานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีเปลี่ยนค่อนข้างเร็วขึ้น ที่ผ่านมา แบตเตอรี่เป็นอุปสรรคในการพัฒนา แต่วันนี้ก็เริ่มมีความชัดเจนและเปลี่ยนแปลงก้าวหน้ามีการคิดค้นอะไรใหม่ ๆ น้ำหนักไม่มาก แต่ประจุไฟได้เยอะและเร็ว สามารถวิ่งได้ระยะทางมากขึ้น ชาร์จได้ไวขึ้น ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีรวดเร็ว สิ่งที่สถาบันต้องทำก็คืออัพเดตตัวเอง อัพเดตสถาบัน อัพเดตประชาชนผู้ประกอบการ ว่าเปลี่ยนไปอย่างไร ส่งผลกับผลิตภัณฑ์อย่างไร เราต้องศึกษาเพื่อให้ได้เอาองค์ความรู้สะท้อนให้กับภาครัฐ ประชาชน ผู้ประกอบการ และเราคงตกเทรนด์นี้ไม่ได้ รัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนแล้วว่าสนับสนุนยานยนต์สมัยใหม่แห่งอนาคต

แต่แน่นอน เราไม่ลืมโปรดักต์แชมเปี้ยนของเรา แต่เราต้องพัฒนาให้เปลี่ยนถ่ายไปอย่างราบรื่นได้อย่างไร และประเทศไทยจะตกเทรนด์นี้ไม่ได้ ดังนั้นเราต้องเก็บเกี่ยวความรู้เหล่านี้ จากนั้นเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจสำคัญ ยานยนต์หลากหลายรูปแบบ รัฐบาลให้อิสระว่า ค่ายรถใดอยากเริ่มด้วยเทคโนโลยีอะไร จะระบบผสมหรือกระโดดไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเลยก็ได้ แต่ละผู้ประกอบการมีความเชื่ออย่างไร เป็นการให้อิสระกับประชาชนที่เลือกซื้อได้

ชิ้นส่วนพร้อมตั้งรับ

วันนี้กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯ เริ่มรู้ตัวละว่ามีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ดังนั้นสินค้าก็ต้องเปลี่ยน โดยเขาเริ่มศึกษาผลกระทบ มีการพูดออกมาแล้วว่าการเปลี่ยนถ่ายควรมีรูปแบบอย่างไร

ผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ เริ่มศึกษา สิ่งที่สถาบันทำคือต้องดูว่าอะไรคือโอกาสว่า เราจะไปถึงตรงนั้นได้อย่างไรมากกว่า และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา หรือถ้าเป็นไปได้ เราอาจจะร่วมทำการพัฒนาไปด้วยกันในชิ้นส่วนสำคัญ เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมการไว้อยู่ ความน่าเป็นห่วงก็คือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมีความแข็งแรง ถ้าได้รับรู้ข้อมูลที่กำลังเปลี่ยนไป เขาน่าจะปรับตัวได้ ทุกคนต้องทำงานร่วมกัน ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทุกคนแข็งแรงพอ แต่ต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน สถาบันจะพยายามพัฒนาศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในการช่วยกันประคับประคอง