ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยปรับใหญ่ รับ “นิวเอสเคิร์ฟ” อากาศยาน-เครื่องมือแพทย์

ชิ้นส่วนยานยนต์
แฟ้มภาพ
สัมภาษณ์

ได้รับความไว้วางใจจากบรรดาสมาชิก ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย ให้นั่งแท่นประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 2

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ พินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯ ถึงบทบาทและแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ฯ และผู้ประกอบการไทย ให้สามารถก้าวผ่านคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไปให้ได้ พร้อมมองหาโอกาสต่อยอดและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ไปได้อย่างแข็งแรง

Q : โควิดทุบแรงขนาดไหน

ผมเข้ามารับตำแหน่งแหน่งวาระที่ 2 ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในช่วงโควิด-19 กำลังเริ่ม เดิมปีนี้ยอดขายผลิตรถยนต์เราคาดการณ์กันว่า น่าจะอยู่ราว 1.7-1.8 ล้านคัน แต่หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด ยอดผลิตเริ่มลดลงหนักในเดือนมีนาคม จากที่ผลิตอยู่ราว 147,000 คัน พอเข้าสู่เดือนเมษายนในช่วงล็อกดาวน์ เหลือเพียง 25,000 คันเท่านั้น เรียกว่าตกฮวบ 80%

แต่วันนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา สถานการณ์การผลิตกลับไปใกล้เคียงเดือนมีนาคมที่ 145,000 คัน บางโรงงานเริ่มมีโอทีในช่วงวันจันทร์-ศุกร์แล้ว หรือบางแห่งเริ่มเปิดทำงานวันเสาร์ แต่อย่างไรก็ตาม ยอดผลิตโดยรวมยังไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ตอนนี้เรียกว่าทุกคนวางแผนในลักษณะของการ “ประคับประคองตัว” เพื่อรองรับอนาคต

Q : คาดว่าอุตสาหกรรมจะฟื้นเมื่อไร

ตอนนี้ตอบได้ค่อนข้างยาก อย่างตัวเลขคาดการณ์ที่เราได้รับมาจากค่ายรถยนต์ต่าง ๆ เองนั้น ที่ชัดเจนเรามองเห็นตัวเลขยอดผลิตถึงสิ้นปีนี้ ส่วนในปีหน้านั้นอาจจะมองเห็นบ้าง แต่ยังถือว่าไม่ชัดเจนเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ

Q : ผู้ผลิตชิ้นส่วนปรับตัวอย่างไร

ก่อนอื่นต้องบอกว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในกลุ่มที่เป็นโออีเอ็มมีราว 80% นั้น ในจำนวนนี้ 30-40% เป็นการผลิตเพื่อรองรับตลาดส่งออก และในส่วนของกลุ่มผู้ผลิตอาร์อีเอ็มอีก 20% นั้น มากถึง 80% จะเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก

ในกลุ่มสมาชิกของกลุ่มที่มีบริษัทอยู่ราว 640 รายนั้น 60-70% จะเป็นผู้ผลิตเทียร์ 3 และกลุ่มเอสเอ็มอี ที่บางแห่งจะมีธุรกิจอื่น ๆ ด้วย อย่างช่วงที่ผ่านมาเมื่อไม่มีคำสั่งซื้อ เขาก็ผันตัวไปโฟกัสธุรกิจอื่น ๆ ที่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แทนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อชดเชยกัน แต่เมื่ออุตสาหกรรมค่อย ๆ ฟื้นตัว หรือคำสั่งซื้อที่จะกลับเข้ามาในอนาคต เขาก็อาจจะกลับมาสู่อุตสาหกรรมตามเดิม หรือบางรายก็เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไปเลย

Q : สิ่งที่น่าเป็นห่วงคืออะไร

ตอนนี้ต้องบอกว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับวอลุ่ม ว่าทิศทางของอุตสาหกรรมในระยะสั้นจะเป็นอย่างไร และขณะนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มเดินหน้าเข้าสู่แผนฟื้นฟูธุรกิจ หลังจากก่อนหน้านี้ต้องงัดแผนฉุกเฉินออกมาใช้กัน และผมมองว่าเรายังต้องติดตามกันในระยะยาวต่อไป

Q : โครงสร้างอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไป

ตอนนี้อุตสาหกรรมยานยนต์เราก็อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ถูกเทคโนโลยีเดสคริปชั่นด้วยยานยนต์สมัยใหม่ เข้าแทนที่ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์

เมื่อรถยนต์อีวีมาเชื่อว่าชิ้นส่วนหลาย ๆ ตัวจะต้องหายไป กลุ่มผู้ผลิตที่ผลิตชิ้นส่วนเพียงทางเดียวอาจจะไม่รอดถ้าไม่ปรับตัว

จากการศึกษาศักยภาพของชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เมื่อเข้าสู่ห่วงโซ่ของยานยนต์สมัยใหม่ อาจจะมีกลุ่มผู้ผลิต 800 ราย จาก 2,000 ราย ต้องหายไป ดังนั้น สิ่งที่เราขับเคลื่อนเพื่อจะทำอย่างไรให้ก้าวผ่านตรงนี้ไปได้

ตามนโยบายและการวางแผนของภาครัฐ ในการศึกษา 10 อุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ ตอนนี้เรากำลังอยู่ระหว่างการศึกษาในส่วนของอุตสาหกรรมอากาศยานและอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งคาดว่าราวเดือนหน้าจะได้เห็นความชัดเจน

Q : ความเป็นไปได้ในอุตสาหกรรมอากาศยาน

เท่าที่เราได้ศึกษามานั้น ในส่วนของอุตสาหกรรมอากาศยานเพื่อให้ผ่านมาตรฐานของ NADCAP นั้น เมื่อทำจริง ๆ แล้วค่อนข้างยาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับจุดอ่อน จุดแข็งของผู้ประกอบการแต่ละราย ประกอบกับความต้องการของอุตสาหกรรมนี้ในแต่ละปีมีค่อนข้างน้อย ยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมาจะเห็นว่าอุตสาหกรรมนี้แทบจะแช่แข็งไป

แต่ก็มีผู้ผลิตชาวไทยได้เข้าไปทำชิ้นส่วนป้อนให้กับโรลส์-รอยซ์ (เครื่องบิน) หรือยางล้อแม็กเลนโซ่ก็ผันตัวเองไปทำพวกแอโรสเปซ ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์นั้น มีความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตจะผันตัวไปผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ภายนอกร่างกาย ส่วนเครื่องมือที่ใช้ภายในร่างกายนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร

Q : พัฒนาตรงไหนก่อน

แน่นอน โอกาสของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและชิ้นส่วน เราเชื่อว่ายังมีพื้นที่อยู่อีกมาก

และกลุ่มได้ร่วมมือกับหลาย ๆ ภาคส่วนเดินหน้าเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมศักยภาพและเพิ่มความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน