ค่ายรถตบเท้าปรับราคาขาย ชี้ต้นทุนพุ่ง-บีเอ็มดับเบิลยูขยับ 1.5-2%

ต้นทุนพุ่งค่ายรถยนต์อั้นไม่อยู่ ตบเท้าปรับขึ้นราคาขาย “ซูซูกิ” นำร่องขึ้น คันละ 3,000-20,000 บาท ฟากรถหรูใบพัดสีฟ้า-ดาวสามแฉก ขยับอีก 50,000-200,000 บาท ลุ้นอีกหลายค่ายจ่อคิว ด้านพาณิชย์แจ้งรถยนต์ไม่ใช่สินค้าควบคุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ช่วงนี้กำลังประสบปัญหาหนัก ทั้งราคาวัตถุดิบ เหล็ก อะลูมิเนียมปรับตัวสูงขึ้นและยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุด ประกอบกับยังต้องเผชิญกับปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง(คอนเทนเนอร์)

รวมถึงความรุนแรงของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ชิ้นส่วนในการผลิตรถยนต์บางอย่างขาดแคลน อาทิ ชิป (เซมิคอนดักเตอร์) แร่ธาตุที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ กระทบการผลิตอย่างหนักบางโรงงานต้องหยุดผลิตชั่วคราว

ล่าสุด ค่ายรถยนต์ได้เรียงแถวประกาศปรับขึ้นราคาขาย เริ่มจาก บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับเพิ่มราคาขายรถยนต์ซูซูกิทุกรุ่น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

โดยมีการขยับขึ้นราคาจำหน่ายอีกคันละ 3,000 ไปจนถึง 20,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ บริษัทได้พยายามตรึงราคามาระยะหนึ่ง แต่หลังจากบริหารจัดการยอดจองให้ลูกค้าครบแล้ว จึงจำเป็นต้องปรับราคาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับนายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธานและซีอีโอ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูบางรุ่นจะต้องปรับราคาขึ้น 1.5-2% หรือราว ๆ 50,000 ไปจนถึง 200,000 บาทซึ่งเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ต้นทุนด้านวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและราคาขนส่งสินค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

“การปรับราคาในครั้งนี้เป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย ยังคงให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการตอบสนองความต้องการด้านการขับขี่และไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของลูกค้า ผ่านการพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมแห่งยานยนต์และความเป็นดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง”

แหล่งข่าวฝ่ายบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทกำลังพิจารณาที่จะปรับราคาขายรถยนต์หลายรุ่น โดยคาดว่าจะเริ่มภายในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ส่วนจะขึ้นในอัตราเท่าไหร่ฝ่ายโรงงานกำลังประสานงานกับฝ่ายการตลาด ซึ่งน่าจะได้คำตอบเร็ว ๆ นี้

ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าปัจจุบันสถานการณ์ต่าง ๆ ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก แต่การขึ้นราคาขายรถยนต์นั้น เอ็มจีต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อน ว่าแต่ละรุ่นมีความสามารถด้านการแข่งขันเป็นอย่างไร รวมทั้งปริมาณความต้องการในตลาดมาประกอบกันด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการประกาศปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทุกค่ายยอมรับว่าต้นทุนรวมทั้งการขาดชิ้นส่วนกระทบการผลิตหนักมาก แต่การปรับราคาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะรถยนต์แต่ละเซ็กเมนต์มีคู่แข่งขันที่ชัดเจน การปรับราคาต้องคำนึงถึงการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคด้วย โดยส่วนใหญ่จะใช้เทคนิคอื่น ๆ เข้ามาเสริม เช่น การปรับเพิ่มชิ้นส่วนบางรายการที่เรียกทั่วไปว่าไมเนอร์เชนจ์แล้วประกาศราคาใหม่

เกี่ยวกับการปรับขึ้นราคา แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ผลิตรถยนต์สามารถตัดสินใจประกาศได้เลย โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากรถยนต์ไม่ใช่สินค้าควบคุมแต่อย่างใด ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่จะพิจารณาปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น