โตโยต้า ซี-เอชอาร์ ไอ’แอม เทคโนโลยี

คอลัมน์เทสต์คาร์ โดย อมร พวงงาม

จั่วหัวแบบนี้ ถ้าวอกแวกบรรทัดต่อไปไม่พูดเกี่ยวกับเทคโนโลยี บรรพบุรุษผมคงนอนสะดุ้ง ซี-เอชอาร์ เคลมว่าตัวเองเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี รถรุ่นนี้กว่าจะคลอดถึงมือลูกค้าคนไทย โตโยต้าทำการบ้านเยอะมาก เพราะต้องการเติมเต็มเทคโนโลยีให้ถึงพร้อมซึ่งขีดจำกัดในทุกทาง

ลองไล่เรียงดูกันนะครับ ประเดิมด้วย ระบบไฮบริดเจเนอเรชั่นใหม่ ลบข้อบกพร่องในรุ่นที่ผ่านมาจนเกลี้ยง ด้วยการพัฒนาระบบระบายความร้อนในแบตเตอรี่ไฮบริดใหม่ เพื่อเพิ่มอายุการใช้งาน

ตามมาด้วย โตโยต้า นิว โกลบอล อาร์คิเท็กเจอร์ เป็นนวัตกรรมโครงสร้างตัวถังใหม่ที่สมบูรณ์แบบทุกการเคลื่อนไหว ออกแบบตัวรถให้เหมาะกับสรีระคนไทย เพิ่มทัศนวิสัย ลดจุดอับต่าง ๆ ทิ้งหมด จัดวางเสาเอใหม่ หลบกระจกมองข้างให้ต่ำลง ขับออกจากซอย รับรองเห็นชัดเจนไม่ต้องห่วงมอเตอร์ไซค์

เพิ่มความแข็งแกร่งตัวถัง ปรับจุดศูนย์ถ่วงให้ต่ำลง มาพร้อมช่วงล่างแบบดับเบิลวิชโบน ที่เพิ่มประสิทธิภาพการเกาะถนน จัดเต็มเรื่องเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย ครบทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ ตั้งแต่เรดาร์ตรวจจับวัตถุด้านหน้า ส่งเป็นสัญญาณเสียงเตือนลดความเร็ว

สัญญาณไฟเตือนที่กระจกมองข้าง กรณีรถคันหลังอยู่ในจุดที่มองไม่เห็น ระบบควบคุมและปรับความเร็วอัตโนมัติ ทำหน้าที่รักษาระยะห่างจากรถคันหน้า ชิดเกินไประบบจะลดความเร็ว ห่างเกินไปเพิ่มความเร็วให้อยู่ระยะที่เซตไว้ เบาสบายเท้าเวลาวิ่งบนมอเตอร์เวย์

มีระบบเตือนออกนอกเลน หากไม่เปิดไฟเลี้ยว หรือเผลอแชตไลน์ในรถ เซออกนอกเลนโดยไม่ตั้งใจ พวงมาลัยจะฟื้นเพื่อบังคับรถให้อยู่ในเลน

อีกตัวเป็นระบบปรับไฟหน้าสูงต่ำอัตโนมัติ รถสวนปรับลงให้ทันที วิ่งตามหลังไม่มีแยงตา แถมเปิดปิดไฟอัตโนมัติกรณีลอดอุโมงค์หรือลงที่จอดรถ

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่โตโยต้ากล้า นำเสนอก่อนใคร ๆ “ทีคอนเน็กต์เทเลเมติก” เชื่อมต่อทุกเส้นทางอย่างสมบูรณ์แบบ เริ่มจาก ไฟนด์มายคาร์ ค้นหาพิกัดรถ แค่โหลดแอปลงโทรศัพท์ทุกอย่างทำงานทันที

ยังมีฟังก์ชั่น พาร์กกิ้ง อะเลิร์ต เตือนบนมือถือทันทีเมื่อรถถูกเคลื่อนย้าย หรือสตาร์ตลดปัญหาการโจรกรรมรถได้เป็นอย่างดี

ในซี-เอชอาร์ ยังมี ระบบไวไฟ ให้ลูกหลานได้สนุกออนไลน์ได้ทุกแห่งหน คอนเน็กต์พร้อมกันได้ถึง 9 อุปกรณ์ มีระบบ เอสโอเอส สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง ยังมีผู้ช่วยส่วนตัวที่คอยให้บริการทุกรูปแบบ หาร้านอาหาร สนามกอล์ฟ เรียกว่าทุกเส้นทางจราจร

หอมปากหอมคอกับเทคโนโลยีกันแล้ว ทีนี้มาดูจุดขายกัน เริ่มที่การออกแบบหรือดีไซน์ ซี-เอชอาร์ ย่อมาจาก coupe high rider แปลกันแบบไม่ติดนมติดเนย ได้คำจำกัดความคือ รถคูเป้ยกสูง เรียกทางการว่า ซับคอมแพ็กต์เอสยูวี

สำหรับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก “เพชร” รูปทรงจึงออกแนวเหลี่ยม ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของเพชร ดีไซน์ภายใน ดูยังไงก็ไม่ใช่โตโยต้า น่าจะออกแนว “เลกซัส” มากกว่า

เนื้อวัสดุที่ใช้ตั้งแต่พวงมาลัย แดชบอร์ด คอนโซลกลาง เบาะหนัง แผงข้างประตู ผ้าบุหลังคาที่มีลูกเล่น ดูโมเดิร์นเหมาะกับคนรุ่นใหม่ ต้องบอกว่า “เกรดเอ”

การจัดวางอุปกรณ์เน้นผู้ขับขี่เป็นศูนย์กลาง สวยหรือไม่สวยตอบยาก ดูจากยอดขายล่ะกัน 2.83 แสนคันใน 51 ประเทศ ติดอันดับรถขายดีที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในห้ารถขายดีในยุโรป บ้านเราอวดโฉมมาแค่ 3 เดือนกวาดยอดจองไปแล้ว 3 พันคัน และแนวโน้มจะแรงต่อเนื่องซะด้วย

ขุมพลังของซี-เอชอาร์ เป็นเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร 16 วาล์ว ให้กำลัง 98 แรงม้าที่ 5,200 รอบต่อนาที ถ้าไม่ใช่รุ่นไฮบริดสามารถใช้เชื้อเพลิงอี 85  ระบบเผาไหม้เป็นแบบ atkinson cycle ทำงานคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้าแรงดัน 600 โวลต์

รวมสองอย่างเข้าด้วยกัน รีดพลังได้สูงถึง 122 แรงม้า แบตเตอรี่ไฮบริดเป็นพานาโซนิค นิเกิล-เมทัล-ไฮไดรด์ 28 โมดูล ความจุ 6.5 แอมป์ (3 ชั่วโมง) ขนาดเล็กลงแต่สามารถเก็บประจุได้มากขึ้น จัดวางตำแหน่งใหม่ จากพนักพิงด้านหลังย้ายมาอยู่ใต้เบาะนั่งด้านหลัง มีช่องระบายความร้อนอย่างดี

อย่าเพิ่งตกใจ !! ทำไมเลือกใช้ นิเกิล-เมทัล-ไฮไดรด์ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเทคโนโลยีเก่า วิศวกรโตโยต้ายืนยันว่า เป็นแบตฯที่เหมาะสมที่สุดสำหรับรถไฮบริด เนื่องจากมีความทนทาน

อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ เลยนะครับ ถ้าเป็นไฮบริด นิเกิล-เมทัล-ไฮไดรด์ ใช้งานได้ดีมากไม่จุกจิก แต่ถ้าเป็นปลั๊ก-อิน ไฮบริด มีการเสียบปลั๊กไฟบ้านชาร์จแบตเตอรี่ ลิเทียม-ไอออน คือคำตอบ และสบายใจหายห่วงได้เลย เพราะโตโยต้าเขารับประกันคุณภาพระบบไฮบริด 5 ปี ส่วนแบตเตอรี่เอาไปเลย 10 ปี

ยังมีข้อมูลอินไซต์ ว่าก่อนที่จะคลอดซี-เอชอาร์ ไฮบริด สู่สาธารณะ มีการทดสอบระบบไฮบริดของ โตโยต้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งอื่น ๆ ลักษณะการทดสอบเอาแบบโหด ๆ กันเลย วิ่งข้ามเขากันเป็นลูก ๆ พยายามขับให้มอเตอร์ไฟฟ้าและตัวแบตเตอรี่ทำงานอย่างเต็มที่ ผลปรากฏว่า คู่แข่งน็อกก่อนโตโยต้า หลายช่วงตัว

ซี-เอชอาร์ ถ่ายทอดกำลังทั้งหมดผ่านเกียร์ E-CVT ซึ่งเป็นชุดขับเคลื่อนอัจฉริยะ ยอมรับเลยครับว่า การต่อเชื่อมกำลังทำได้ดีมาก รอยต่อจากเครื่องยนต์ไประบบไฟฟ้า หรือจากระบบไฟฟ้ากลับมาเครื่องยนต์ เนียนมาก ๆ แทบไม่รู้สึก

ขับสนุก อัตราเร่งปรู๊ดปร๊าด มีโหมดอีวีใช้ไฟฟ้าล้วน ๆ ให้ด้วย ตามสเป็กวิ่งได้ 10 กม.เชียวนะ แต่ความเร็วต้องไม่เกิน 60 กม./ชม. นะครับ

และจากการทดสอบของโตโยต้า รถคันนี้สามารถทำอัตราการกินน้ำมันได้สูงถึง 24 กม./ลิตร วันที่ไปทดสอบใช้เส้นทางขึ้น-ลงเขา มีโค้งปิด ๆ หลายช่วง ฟีลลิ่งพวงมาลัยของซี-เอชอาร์ผมให้เต็มร้อย พูดง่าย ๆ ใครที่เคยขับรถโตโยต้าบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าตัวนี้เยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยขับมา แม่นยำ นุ่มนวล ยิ่งได้ช่วงล่างแน่น ๆ หนึบหนับ สนุกได้ใจเลยครับ

เสียอยู่นิดนึงระบบเสียงที่เล็ดลอดเข้ามาภายในห้องโดยสาร โดยเฉพาะช่วงใช้กำลังขึ้นเขาผมว่ายังต้องปรับปรุง เห็นตัวเล็ก ๆ แบบนี้ ผมลองกระโดดไปนั่งด้านหลัง เล็กไปนิดครับ ถ้าคนนั่งแถวหน้าเหยียดเบาะสุด หัวเข่าติดแน่นอน

และการดีไซน์ด้านหลังให้โมเดิร์นด้วยการลดขนาดกระจกประตูหลังทำให้อึดอัดไปนิด แต่โดยรวม ๆ ถ้าให้คะแนน ผมยังให้ A ด้วยดีไซน์ และเทคโนโลยีที่ใส่เข้าไป รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ เปรียบเทียบกับราคาขาย ซี-เอชอาร์มีให้เลือก 4 รุ่น ตัว 1.8 ธรรมดา เริ่มต้นที่ 9.97 แสนบาท ส่วนไฮบริดเริ่มต้นที่ 1.069 ล้านบาท ไปจนถึงตัวท็อป 1.159 ล้านบาท

ซื้อวันนี้คุ้มสุดคุ้ม ด้วยโปรแกรมประกัน “ขับน้อย จ่ายน้อย” และยังมีโปรแกรม รับประกันมูลค่ารถในอนาคต ถ้าขายให้โตโยต้าชัวร์รับรองราคาไม่หล่นวูบวาบ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนะครับ

อย่าลังเล ถ้าชื่นชอบแวะไปลองขับดู โชคดีอาจจะได้แอปเปิล วอตช์ ติดไม้ติดมือกลับบ้าน