หักคอ “เจ้าสัว”

world cup
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมปอง แจ่มเกาะ

สำหรับแฟนฟุตบอล (โลก) ช่วงนี้อาจจะลุ้นกันหนักหน่อยว่าจะได้ดูถ่ายทอดสดหรือไม่

20 พ.ย.นี้ มหกรรมฟุตบอลโลกจะเริ่มขึ้นแล้ว เท่ากับว่า ตอนนี้เหลือเวลาอีกเพียง 5-6 วันเท่านั้น คู่เปิดสนามจะเป็นกาตาร์เจ้าภาพ กับเอกวาดอร์ เตะเวลา 23.00 น. (เวลากาตาร์) และยิงยาวไปจนถึง 18 ธ.ค. นัดชิงชนะเลิศ

แต่วันนี้ (11 พ.ย.) ประเทศไทยยังไม่ได้เซ็นสัญญาซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเลย

ว่ากันว่าอาจจะต้องใช้เงินสูงถึง 1,600 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง โดยตัวเลขอาจจะอยู่สัก 1,200-1,300 ล้านบาท

ล่าสุดมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลทาบทามบริษัทใหญ่ 4-5 รายให้มาช่วยลงขันซื้อลิขสิทธิ์ ตอบรับแล้ว 4 บริษัท รายละ 200 ล้านบาท และยังรอคำตอบอีก 1 ราย จากที่มีทุนประเดิม 600 ล้านบาท จากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติให้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ท่ามกลางเสียงคัดค้านในแง่ที่ว่าเป็นการใช้เงินผิดประเภท

แฟนบอลที่ตั้งตารอคอยดูการถ่ายทอดสดอาจจะใจชื้นมาบ้าง

แต่หลาย ๆ คนก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำมั้ยทำไม ทั้ง ๆ ที่บ้านเรามีเงินกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติอยู่ในเซฟตั้งหลายพันล้าน แต่ก็ไม่ยอมควักกระเป๋าออกมาสักบาท

เรื่องนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุน น่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุด

จะว่าไปแล้ว การหาเงินเพิ่มอีกพันล้านบาท ในเวลากระชั้นชิดแบบนี้ แม้อาจจะดูริบหรี่ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ดูอย่างเมื่อครั้งฟุตบอลยูโร 2020 นั่นปะไร

หากยังจำกันได้ ครั้งนั้นมีชื่อของ “โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ” เจ้าของซัมมิท ฟุตแวร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้า Aerosoft เป็นฮีโร่ช่วยให้คนไทยได้ดูการถ่ายทอดสด

แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า จริง ๆ แล้วเจ้าตัวเต็มใจกับการที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายไป 300 ล้านบาทในครั้งนั้นหรือไม่ หรือได้คุ้มเสียหรือไม่

แม้การควักกระเป๋าจ่ายอาจจะทำให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ การประชาสัมพันธ์ การลดหย่อนภาษี รวมถึงถูกยกย่องว่าเป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วย

แต่สำหรับธุรกิจหรือบรรดาเจ้าสัวคนไหน ๆ ก็คงไม่เต็มใจที่จะควักกระเป๋าแบบนี้แน่ ๆ ยกเว้นเสียแต่ว่า จะถูกหักคอ

นั่นเพราะทุกคนล้วนเข้าใจดีว่า งานนี้มีแต่จ่ายกับจ่าย และได้ไม่คุ้มเสีย

เข้าทำนองคำโบราณที่ว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ”

ยิ่งเศรษฐกิจตอนนี้ก็ใช่ว่าจะดี จะทำอะไรก็ต้องคิดแล้วคิดอีก

ถามว่า ตลอดช่วงการถ่ายทอดสดประมาณ 1 เดือนที่ฟุตบอลโลกแข่งขัน เมื่อลงขันช่วยแล้วจะสามารถทำอะไรได้บ้าง มากน้อยแค่ไหน ให้คุ้มค่าเงินที่จ่ายไป

ที่สำคัญคือ ความเข้มงวดเค้าเรื่องลิขสิทธิ์ของฟีฟ่า การจะทำอะไรก็ต้องไม่ไปกระทบกับสิทธิประโยชน์ของสปอนเซอร์ฟุตบอลโลก (เบียร์บัดไวเซอร์ แมคโดนัลด์ crypto.com เครื่องใช้ไฟฟ้า Hisense โทรศัพท์มือถือ VIVO) ไม่กระทบกับสิทธิประโยชน์ของฟีฟ่า พาร์ตเนอร์ (โคคา-โคลา อาดิดาส วีซ่า กาตาร์แอร์เวย์, กาตาร์ เอเนอร์จี้)

ดังนั้น อย่างมากก็น่าจะทำได้แค่การโฆษณาเพื่อตอกย้ำแบรนด์ สร้างการรับรู้แบรนด์สินค้าหรือชื่อบริษัทของตน

ยิ่งช่วยกันลงขันหลายบริษัทหลายเจ้าสัว เวลาโฆษณาก็จะมีตัวหารมากขึ้น เมื่อตัวหารมาก เวลาโฆษณาที่แต่ละคนจะได้ก็น้อยลง

อีกอย่าง เนื่องจากเวลาของกาตาร์และไทยห่างกัน 4 ชั่วโมง หากการเตะที่กาตาร์เริ่ม 20.00 น. การถ่ายทอดสดมาเมืองไทยก็จะอยู่ในช่วง 24.00 น.

ดึกดื่นขนาดนั้นจะมีใครสักกี่มากน้อยที่อดตาหลับขับตานอนมาดูแข่งขัน

ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่เอาด้วย ขอนอน ตื่นเช้าขึ้นมาค่อยคลิกไปเข้าเว็บไซต์ดูผลแพ้ชนะก็พอแล้ว