ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ VS รัฐบาล

ปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ได้มั๊ย
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ อายุ 58 ปี (เกิด 1 กุมภาพันธ์ 2508) กำลังอยู่ในห้วงเวลาแห่งความท้าทายอีกครั้ง ในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำมี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดญัตติสาธารณะ “ไม่เห็นด้วย” กับนโยบายการเงิน ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของแบงก์ชาติ

ขณะเดียวกันก็มีนโยบายของรัฐบาล ที่ว่าด้วยการแจกเงินดิจิทัลวอลเลตให้ประชาชน คนละ 10,000 บาท โดยใช้ พระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่ฝ่ายแบงก์ชาติมีข้อให้พิจารณาเพิ่มเติม

ประกอบกับปัจจัยแทรกซ้อน เมื่อความปรากฏ “แบงก์กำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์” ตั้งแต่มีการก่อตั้งธุรกิจแบงก์

ยิ่งทำให้เกิดหัวหน้าขบวนหลากหลายสาย ยกธงทัวร์ มุ่งหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรกำกับกิจการธนาคารพาณิชย์

ในรอบ 4 เดือนกว่า ๆ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี มีการเรียกผู้ว่าการแบงก์ชาติ เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลแล้วถึง 2 ครั้ง

ท่ามกลางการจับตาของหลายฝ่ายว่าจะนำไปสู่จุดที่มีการ เสนอคณะรัฐมนตรี ให้มีมติ “ปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติ” ใช่หรือไม่ ?

แต่จนแล้วจนรอด หลังการเข้าพบนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ครั้ง นายกรัฐมนตรี จะให้สัมภาษณ์ดับข่าวลือทุกครั้งว่า “ไม่มี”

กระนั้นก็ตาม ก็ยังเกิดปรากฏการณ์ต่างฝ่ายต่างระแวง ข่าวการปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติ จึงไม่จางหายไปจากหน้าสื่อ

กระบวนการ “ปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติ” ไม่ใช่จะทำกันแบบง่าย ดังเช่นที่ผ่านมา เพราะกว่าจะปลดพ้นจากเก้าอี้สำคัญนี้ได้ ต้องมีหลายขั้นตอน

การพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้การปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติ ทำได้ 2 ทาง

ทางที่ 1 ระบุไว้ในมาตรา 28/19 (4) มีบทบัญญัติไว้ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก โดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่

ขั้นตอนนี้  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องทำคำแนะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และมีข้อพิสูจน์ว่ามีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่ จึงจะปลดได้

ทางที่ 2 ระบุไว้ในมาตรา 29/19 (5) มีบทบัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี หรือการเสนอของรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

ตามขั้นตอนนี้ บอร์ดแบงก์ชาติ เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แล้วนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ โดยหากกรณีมีข้อพิสูจน์และหลักฐานว่า ผู้ว่าการแบงก์ชาติ มีความผิดบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ จึงจะปลดได้

หากผู้ว่าการแบงก์ชาติ รอดพ้นจากการถูกปลด ก็จะอยู่ในตำแหน่งจนครบ 5 ปี

ไม่ควรลืมว่า ในอดีตมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกปลดพ้นจากตำแหน่ง 2 ใน 4 คน ถูกระบุสาเหตุการปลดว่ามาจากเรื่อง อัตราดอกเบี้ย

1.นายโชติ คุณะเกษม ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 9 ถูกปลดโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งระบุสาเหตุในครั้งนั้นว่า พัวพันกรณีจ้างต่างชาติพิมพ์ธนบัตร

2.นายนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 13 ถูกปลดในสมัย นายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “เนื่องจากนายนุกูลอยู่ในตำแหน่งมาครบ 4 ปีแล้ว จึงเห็นสมควรให้ผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งสืบแทน”

3.นายกำจร สถิรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 14 ถูกปลดในสมัย นายประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีสาเหตุจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย

4.ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ “หม่อมเต่า” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 19 ถูกปลดในสมัย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งมี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ระบุเหตุผล ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งเชิงนโยบายเรื่องการกำกับดูแลค่าเงินบาท และการผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และเรื่องอัตราดอกเบี้ย

ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยมีความคิดเห็นขัดแย้งเรื่องนโยบายดอกเบี้ยกับแบงก์ชาติ ในยุคที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 22 แต่ไม่สามารถปลด ดร.ประสาร พ้นจากเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติได้

น่าจับตาว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 24 จะอยู่ครบวาระถึงปี 2568 หรือไม่ ?