เรื่อง “คน” เรื่องใหญ่

people
คอลัมน์ : สามัญสำนึก 
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ประเด็นเรื่องการลดลงของประชากรถือเป็นปัญหาใหญ่ประเทศไทยและของหลายประเทศทั่วโลก

“ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น-วัยทำงานลดลง” ถือเป็นโจทย์ท้าทายของหลายประเทศทั่วโลกที่เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตเศรษฐกิจ

เรื่องนี้ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตอกย้ำว่าปัญหาขาดแคลน “แรงงาน” ของประเทศไทย ว่าเป็นปัญหาใหญ่ฉุดให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยถดถอยลงเรื่อย ๆ

“ปัญหาที่มองว่าน่ากลัวสำหรับประเทศไทยมากที่สุด ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายยังไม่ได้ให้ความสำคัญ และยังไม่ได้แก้ปัญหามากพอ คือ ปัญหาแรงงาน”

เพราะ “แรงงาน” ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุน และในการสร้างผลิตภาพ (Productivity) ของประเทศ

และโจทย์ท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญคือ ปัญหาแรงงานที่ลดลง ทั้งในแง่ของ “ปริมาณ” และ “คุณภาพ”

ดร.ศุภวุฒิสะท้อนว่า มองในแง่ประชากร “วัยทำงาน” ที่ลดลง ก็เหมือนกับประเทศไทยกำลังถอยหลัง คือคนทำงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกำลังลดลงเรื่อย ๆ แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยเพิ่ม Productivity แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทดแทนกับการลดลงอย่างรวดเร็วของวัยทำงาน

อีกประเด็นสำคัญก็คือ “คุณภาพและทักษะ” ของแรงงานไทย ก็อยู่ในระดับที่ต้องมีการอัพสกิล-รีสกิลอย่างมาก เพื่อที่จะสามารถตอบโจทย์การทำงานกับธุรกิจยุคใหม่

รวมถึงการสร้างเด็กเกิดใหม่ให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจแห่งอนาคต

“เมื่อประชากรลดลงก็ต้องทำให้คุณภาพดีขึ้น การศึกษาของประชาชนจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นเรื่องหลักที่จะสร้างอนาคตให้กับประเทศ” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

ขณะที่รัฐบาลกำลังเดินสายดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ แต่ปัญหา “คน” กำลังเป็นอุปสรรคสำคัญ

การจะแก้โจทย์ “คน” หลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคธุรกิจสะท้อนว่าประเทศไทยต้องเปิดประตูนำเข้าแรงงานทักษะรวมถึงการดึง “หัวกะทิ” (Talent) เข้ามาสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้เกิดขึ้น

เรื่องนี้ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคตของทีดีอาร์ไอ ได้มีข้อเสนอและมุมมองที่น่าสนใจ เขียนไว้ในหนังสือ (เล่มใหม่) ที่ชื่อ “TWISTS and TURNS คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม” ตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ก็คือ “จากดึงทุน มาเป็นดูด Talent”

เมื่อโลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้เกิดการแย่งชิงทุนมนุษย์ โดยตอนหนึ่งของหนังสือระบุว่า…เมื่อประเทศสามารถดึงดูดและสร้างกลุ่มหัวกะทิได้ถึงจุดหนึ่ง ก็จะเป็นตัวช่วยดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพราะบ่อยครั้งคอขวดของการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมคือขาดแคลนคนที่เป็นหัวกะทิ

โจทย์การดึงหัวกะทิสำคัญมากสำหรับประเทศไทย ที่ทั้งขาดแคลนแรงงานทุกระดับ ต้องการเพิ่มผลิตภาพให้แรงงาน ต้องการสร้างนวัตกรรม และต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมหัวหอกใหม่ ๆ

ข้อเสนอของ ดร.สันติธารก็คือ โฟกัสการดึงหัวกะทิ 3 กลุ่มตอบโจทย์ประเทศไทย ที่เรียกว่า DGC (Digital-Green-Care) คือคนที่มีทักษะด้านดิจิทัลไปถึงเอไอ, ทักษะด้านเศรษฐกิจสีเขียว และคนที่มีทักษะด้านเศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) ที่รวมถึงการแพทย์ พยาบาล และการดูแลผู้สูงวัย ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ดร.สันติธารระบุว่าประเทศไทยมีพรสวรรค์ในการดึงดูดให้คนเข้ามาทำงาน ซึ่งไม่ใช่แค่ดึงดูดนักท่องเที่ยว

แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรให้หัวกะทิไม่ได้มาแค่ชั่วคราว แต่มาอยู่ยาวเพื่อทำให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจแห่งอนาคตในลักษณะ “ประเทศดึงดูด Talent” “Talent ดึงทุน” และ “Talent สร้าง Talent”