ผมร่วงในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : พ.ต.ท.หญิงจาฏุพัจน์ สวัสดิสาร-เรื่อง 
พยาบาล (สบ ๓) กลุ่มงานพยาบาล รพ.ตร.

ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมมีความก้าวหน้ามากขึ้นเป็นลำดับ มีการรักษาในหลายวิธี ได้แก่ การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด รังสีรักษาหรือการฉายแสง การให้เคมีบำบัด การรักษาด้วยฮอร์โมน และการรักษาทางชีววิทยา หรือเป้าหมายเฉพาะ ซึ่งการรักษาแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และระดับของการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

สำหรับการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด มีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย แต่ในขณะเดียวกัน ยาเคมีบำบัดก็มีผลทำลายเนื้อเยื่อปกติด้วย ทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญกับอาการข้างเคียงจากการรักษา

ภายหลังได้รับเคมีบำบัดผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ ปวดตามร่างกาย หรือมีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า มีอาการร้อนวูบวาบ อาการหมดประจำเดือน น้ำหนักลด ผอมลง ผมร่วง และศีรษะล้าน มีการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์มากขึ้น จนผู้ป่วยรู้สึกอับอาย บางรายอาจมีอาการซึมเศร้า ขาดความเชื่อมั่นและสูญเสียคุณค่าในตนเอง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตของผู้ป่วย

เพราะนอกจากการสูญเสียเต้านม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของความเป็นสตรีแล้ว ยังสูญเสียภาพลักษณ์จากอาการผมร่วง ศีรษะล้าน ทำให้ผู้ป่วยมีความเครียด ความวิตกกังวล มีความรู้สึกโกรธ หงุดหงิด ซึมเศร้า หรือมีอารมณ์แปรปรวน อีกทั้งการรักษาด้วยเคมีบำบัดทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเหนื่อยล้ามากกว่าปกติ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอาการนอนไม่หลับ อาการร้อนวูบวาบ รวมถึงอาการเหงื่อออกมากตอนกลางคืน

อาการต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม (โสรัจญา สุริยันต์, 2558) อาการผมร่วงเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ให้ยาเคมีบำบัดสูตร AC ซึ่งประกอบด้วย ยา 2 ตัวคือ doxorubicin และ cyclophosphamide เป็นยาเคมีบำบัดสำหรับฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำทุก 3 สัปดาห์ นับเป็น 1 รอบ นาน 4 รอบ โดยระยะเวลาในการให้ยานานประมาณสองชั่วโมง (ปิยะวดี นิลเสน, 2562)

ทั้งนี้ อาการผมร่วงจะเกิดภายหลังได้ยาเคมีบำบัด 2-3 สัปดาห์ โดยทั่วไปคนไข้มักจะสังเกตได้ว่าผมร่วงมากกว่าปกติ หรือดูบางลง แต่ในรายที่ได้ยาที่ทำให้ผมร่วงมาก ๆ มักจะมีช่วงแรกที่ผมร่วงพร้อม ๆ กัน โดยจะเกิดในวันที่ 10-14 หลังได้ยาครั้งแรก (สมถวิล ลูกรักษ์, แม้นมนา จิระจรัส, สุวรรณี สิริเลิศตระกูล และจิต ประภา คนมั่น, 2556) ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความกลัวว่าจะสูญเสียความงามและภาพลักษณ์ที่น่าดึงดูดใจ

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากผู้ป่วยไม่สามารถยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น อาจมีความวิตกกังวล เกิดการแยกตัวจากสังคม และเกิดอาการซึมเศร้าตามมา

การรักษามะเร็งเต้านมจากการให้ยาเคมีบำบัดจนเกิดภาวะผมร่วง จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การเกิดผมร่วงจากการได้รับยาเคมีบำบัดไม่ใช่ภาวะที่คุกคามต่อชีวิต แต่มีผลกระทบทางด้านจิตใจ อารมณ์ จากการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์

แม้ว่าสามารถปกปิดได้ด้วยการใช้วิกผม แต่ก็พบว่าทำให้ไม่สุขสบาย และสามารถรู้ได้ง่ายว่าไม่ใช่เส้นผมจริง การงอกใหม่ของเส้นผมหลังให้ยาเคมีบำบัดครบทั้งหมดต้องใช้เวลาหลายเดือน และอาจจะมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

และยังเป็นสัญลักษณ์เป็นสิ่งที่คอยเตือนของการป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ทำให้มีผลต่อคุณภาพชีวิต การตัดสินใจยอมรับหรือปฏิเสธการรักษา สืบเนื่องจากการให้ยาเคมีบำบัดในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในปัจจุบันให้บริการแบบผู้ป่วยนอก โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง หรือแม้แต่การให้บริการแบบผู้ป่วยในก็ใช้ระยะเวลาไม่นาน

อาการข้างเคียงจึงเกิดขึ้นที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัดจึงมีความต้องการความรู้ในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันและจัดการผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด รวมทั้งการป้องกันและบรรเทาความรุนแรงของการหลุดร่วงของเส้นผม ควบคู่ไปกับความจำเป็นในการพัฒนาความสามารถในการดูแลตนเอง เพื่อตอบสนองความต้องการการดูแลที่เกิดขึ้นดังกล่าว

ผู้ป่วยจึงต้องรับผิดชอบในการดูแลตนเองโดยตรง ร่วมกับมีแรงจูงใจที่จะทำให้ผู้ป่วยมารับยาอย่างต่อเนื่องแม้เกิดอาการข้างเคียง ด้วยเหตุผลนี้ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาการจัดการภาวะผมร่วงในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ให้ยาเคมีบำบัดสูตร AC ที่เข้ารับการรักษาที่หน่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อทราบวิธีการดูแลตนเองของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเมื่อเกิดภาวะผมร่วง แล้วเกิดการแก้ปัญหาอย่างไรที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

เพื่อใช้ต่อยอดการดูแล และเป็นแนวทางในการให้คำแนะนำให้ผู้ป่วยรายใหม่ที่กำลังจะได้รับการรักษาแล้วมีโอกาสเกิดภาวะผมร่วงหลังให้ยาเคมีบำบัด เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความวิตกกังวล และความเครียดที่อาจเกิดขึ้น

โดยผู้ป่วยสามารถเตรียมความพร้อมในการดูแลตนเองก่อนเกิดภาวะผมร่วง มีการดูแลตนเองเพื่อการเข้าอยู่ในสังคม และสามารถจัดการตนเองหลังให้ยาเคมีบำบัดได้อย่างเหมาะสม และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิติที่ดีขึ้น

วัตถุประสงค์การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (descriptive research) โดยศึกษาการจัดการภาวะผมร่วงในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ให้ยาเคมีบำบัดสูตร AC ที่หน่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลตำรวจ และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรักษามะเร็งเต้านมกับการจัดการภาวะผมร่วงในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ให้ยาเคมีบำบัด สูตร AC ที่หน่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลตำรวจ

ประชากรและกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านมและให้ยาเคมีบำบัดสูตร AC ที่หน่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลตำรวจ โดยในปี 2564 มีผู้ป่วยจำนวนทั้งหมด 23 คน โดยกำหนดคุณสมบัติของประชากรที่ใช้ในการวิจัย

ได้แก่ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านม ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดสูตร AC (doxorubicin และ cyclophosphamide) ไปแล้ว อย่างน้อย 1 cycle และมีภาวะผมร่วง ผู้วิจัยกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้สูตรของ Yamane (1973) จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เท่ากับ 22 คน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (purposive sampling) โดยสุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างจากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัดสูตร AC ไปแล้วอย่างน้อย 1 cycle ที่หน่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลตำรวจ และเกิดภาวะผมร่วง

สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถาม โดยลักษณะของแบบสอบถามเป็นแบบตรวจสอบรายการ (check list) และเติมคำลงในช่องว่าง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 แบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป ได้แก่ อายุ ค่าดัชนีมวลกาย สถานภาพ การศึกษา อาชีพ สิทธิ์การรักษา รายได้ต่อเดือน และการมีผู้ดูแลผู้ป่วย รวมข้อคำถามจำนวน 8 ข้อ

ส่วนที่ 2 แบบสอบถามเกี่ยวกับการรักษามะเร็งเต้านมในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ได้แก่ การได้รับการวินิจฉัยระยะมะเร็งเต้านม ครั้งที่ได้รับยาเคมีบำบัด การรับรู้การเกิดภาวะผมร่วง และการเกิดภาวะผมร่วงหลังให้ยาเคมีบำบัด รวมข้อคำถามจำนวน 4 ข้อ ส่วนที่ 3 แบบสอบถามเกี่ยวกับการจัดการภาวะผมร่วงในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ได้แก่ การวางแผนล่วงหน้าหากเกิดภาวะผมร่วง การทราบข้อมูลการดูแลตนเอง การทราบถึงแหล่งข้อมูลการดูแลตนเอง การจัดการเมื่อเกิดภาวะผมร่วง การทราบและใช้บริการช่วยเหลือที่หน่วยเคมีบำบัด รวมข้อคำถามจำนวน 5 ข้อ

การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ (statistical software) โดยแบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลได้ดังนี้

หนึ่ง การวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ อายุ ค่าดัชนีมวลกาย สถานภาพ การศึกษา อาชีพ สิทธิ์การรักษา รายได้ต่อเดือน การมีผู้ดูแลผู้ป่วย ใช้การแจกแจงความถี่ (frequency) และร้อยละ (percentage)

สอง การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษามะเร็งเต้านมในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ได้แก่ การได้รับการวินิจฉัยระยะมะเร็งเต้านม ครั้งที่ได้รับยาเคมีบำบัด การรับรู้การเกิดภาวะผมร่วง และการเกิดภาวะผมร่วงหลังให้ยาเคมีบำบัด ใช้การแจกแจงความถี่ (frequency) และร้อยละ (percentage)

สาม การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการภาวะผมร่วงในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ได้แก่ การวางแผนล่วงหน้าหากเกิดภาวะผมร่วง การรับรู้ข้อมูลการดูแลตนเอง การรับรู้ถึงแหล่งข้อมูลการดูแลตนเอง การจัดการเมื่อเกิดภาวะผมร่วง การรับรู้และใช้บริการช่วยเหลือที่หน่วยเคมีบำบัด ใช้การแจกแจงความถี่ (frequency) และร้อยละ (percentage)

สี่ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการรักษามะเร็งเต้านมกับการจัดการภาวะผมร่วงในผู้ป่วย มะเร็งเต้านมที่ให้ยาเคมีบำบัดสูตร AC ที่หน่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลตำรวจ โดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์ ค่านัยสำคัญทางสถิติกำหนดไว้ที่ระดับ .05

สรุปผลการวิจัย ผลการสอบถามกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ให้ยาเคมีบำบัดสูตร AC ที่หน่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 22 คน สรุปได้ว่ากลุ่มตัวอย่างมีอายุต่ำสุด 36 ปี มีอายุสูงสุด 78 ปี มีอายุเฉลี่ย 56 ปี ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 51-60 ปี คิดเป็นร้อยละ 36.4

ค่าดัชนีมวลกายอยู่ในช่วง 18.50-22.90 กก/ม 2 คิดเป็นร้อยละ 54.5 ส่วนใหญ่มีสถานภาพมีคู่ คิดเป็นร้อยละ 54.5 การศึกษาระดับปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 54.6 มีอาชีพค้าขาย คิดเป็นร้อยละ 27.3 ใช้สิทธิ์การรักษาประกันสุขภาพถ้วนหน้า คิดเป็นร้อยละ 31.8

กลุ่มตัวอย่างมีรายได้ต่ำสุดคือไม่มีรายได้ ส่วนมีรายได้สูงสุด 120,000 บาท มีรายได้เฉลี่ย 30,750 บาท ส่วนใหญ่มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 10,000-20,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 27.3 และทั้งหมดมีผู้ดูแลผู้ป่วย คิดเป็นร้อยละ 100.0 โดยส่วนใหญ่มีผู้ดูแลคือสามี คิดเป็นร้อยละ 39.3

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมในระยะลุกลาม stage 3 คิดเป็นร้อยละ 50.0 ได้รับยาเคมีบำบัดครบแล้ว คิดเป็นร้อยละ 68.2 กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดร้อยละ 100.0 ทราบถึงการเกิดภาวะผมร่วงหลังให้ยาเคมีบำบัด

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการวางแผนล่วงหน้าหากเกิดภาวะผมร่วง คิดเป็นร้อยละ 90.9 ทราบถึงข้อมูลการดูแลตนเองมาก่อน คิดเป็นร้อยละ 68.2 ส่วนใหญ่รับรู้ถึงแหล่งข้อมูลการดูแลตนเองจากแพทย์และพยาบาล มีเท่ากันคิดเป็นร้อย ละ 27.5 มีวิธีการจัดการเมื่อเกิดภาวะผมร่วง โดยการโกนผมออกให้หมด การดูแลทำความสะอาดหนังศีรษะให้สะอาดเสมอ และการสวมหมวก, หาผ้าโพกศีรษะมีเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ 28.4 และส่วนใหญ่ทราบถึงบริการช่วยเหลือที่หน่วยเคมีบำบัดแต่ไม่เคยใช้บริการ คิดเป็นร้อยละ 59.1

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างการวางแผนล่วงหน้า หากเกิดภาวะผมร่วงกับการจัดการเมื่อเกิดภาวะผมร่วงของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการวางแผนล่วงหน้าหากเกิดภาวะผมร่วงจำนวน 20 คน โดยทั้งหมดร้อยละ 100.0 มีการจัดการเมื่อเกิดภาวะผมร่วงด้วยวิธีการโกนผมออกให้หมด เป็นอันดับแรก

สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีการวางแผนล่วงหน้าหากเกิดภาวะผมร่วงจำนวน 2 คน ทั้งหมดร้อยละ 100.0 มีการจัดการเมื่อเกิดภาวะผมร่วงด้วยวิธีการดูแลทำความ สะอาดหนังศีรษะให้สะอาดเสมอ และการสวมหมวก, หาผ้าโพกศีรษะ เป็นอันดับแรกจำนวนเท่ากัน

ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการรักษามะเร็งเต้านม กับการจัดการภาวะผมร่วงในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ให้ยาเคมีบำบัดสูตร AC ที่หน่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลตำรวจ การทดสอบสมมติฐานพบว่า ครั้งที่ได้รับยาเคมีบำบัดมีความสัมพันธ์กับการจัดการเมื่อเกิดภาวะผมร่วง โดยการดูแลทำความสะอาดหนังศีรษะให้สะอาดเสมอในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ให้ยาเคมีบำบัดสูตร AC ที่หน่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลตำรวจ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05

ข้อเสนอแนะการวิจัย 1) แพทย์และพยาบาลควรให้ข้อมูลกับผู้ป่วยก่อนการรักษาด้วยเคมีบำบัด ทั้งยาเคมีบำบัดที่ได้รับ รวมถึงโอกาสที่จะเกิดผมร่วงจากสูตรยาเคมีบำบัดนั้น ๆ การรับทราบข้อมูลว่าจะเกิดอะไรขึ้นอาจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความกลัวน้อยลงจากภาวะผมร่วงได้

2) หน่วยเคมีบำบัดควรจัดทำคู่มือในการดูแลตนเองหลังเกิดภาวะผมร่วงจากเคมีบำบัดให้กับผู้ป่วย และการสอนการดูแลตนเองเพื่ออำนวยความสะดวกในการรับมือและปรับตัวกับผมร่วงเนื่องจากเคมีบำบัด เนื่องจากภาวะผมร่วงมักจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยกลับไปอยู่ที่บ้านแล้ว

3) หน่วยเคมีบำบัดควรส่งเสริมแรงสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วย ได้แก่ สามี ครอบครัว หรือญาติพี่น้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยให้มีความรู้สึกอบอุ่น มีกำลังใจในการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และพร้อมจะจัดการกับภาวะผมร่วงเพื่อการดำเนินชีวิตต่อไป

4) พยาบาลควรมีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำและคำปรึกษาถึงการจัดการภาวะผมร่วง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหารือเกี่ยวกับปัญหาใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวันได้ 5) พยาบาลควรแนะนำถึงจุดบริการหน่วยเคมีบำบัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจากภาวะผมร่วง และจัดทำป้ายจุดบริการให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ป่วยใช้บริการวิกผม หมวก ผ้าคลุมผมอย่างทั่วถึง

เอกสารอ้างอิง-ปิยะวดี นิลเสน. (2562), คู่มือการดูแลตนเอง สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด “สูตรเอ ซี (AC regimen)” คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สมถวิล ลูกรักษ์, แม้นมนา จิระจรัส, สุวรรณี สิริเลิศตระกูล และจิตประภา คนมั่น (2556), คู่มือการดูแลตนเองขณะได้รับยาเคมีบำบัด, ศูนย์มะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, โสรัจญา สุริยันต์ (2558), ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัด : แบบจําลอง เชิงสาเหตุ, วารสารการพยาบาลและการดูแลสุขภาพ, 33(4), 131-140. https://he01.tcithaijo.org/index.php/jnat-ned/article/view/49016/40704 Yamane, T. (1973), Statistics : An introductory analysis (3rd ed.), Harper and Row Publications.