8 สัญญาณการเป็นผู้นำที่ดี

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เป็นเรื่องยากมากที่จะมีลูกน้องสักคนกล้าพูดตรง ๆ ว่า…คุณเป็นหัวหน้าที่ดีหรือไม่ และถ้าไม่ดีควรปรับปรุงอะไรหรือพัฒนาตรงไหน ?

วันนี้มาชวนสังเกต 8 สัญญาณที่บ่งบอกว่าในฐานะหัวหน้า…คุณมาถูกทางแล้ว

1.ลูกน้องต้องการความช่วยเหลือจากคุณ – เมื่อเกิดปัญหาโดยเฉพาะเรื่องส่วนตัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง ลูกน้องไม่ลังเลที่จะมาขอความช่วยเหลือ เพราะเชื่อว่าคุณเปิดใจ และช่วยเขาได้

2.เปิดกว้าง – หมั่นหาโอกาสรับฟังไอเดียใหม่ ๆ ของลูกน้อง ชมเชยเมื่อพวกเขาพูดถึงหรือนำเสนอความคิดดี ๆ เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจ และอย่าลืมให้การสนับสนุนด้วย

3.มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ – หากพลาดพลั้งทำอะไรที่ไม่ถูกต้องลงไป ให้รีบแก้ไข ไม่ใช่มองข้าม โยนปัญหา หรือโทษคนอื่น ที่สำคัญ ความรับผิดชอบของหัวหน้าไม่ได้จำกัดอยู่แค่ทำผิดแล้วต้องยอมรับผิด เพราะบางทีความผิดพลาดไม่ได้เกิดจากตัวหัวหน้าโดยตรง แต่เป็นเพราะลูกทีม หรือผู้ใต้บังคับบัญชาทำพลาดไป ในฐานะหัวหน้าแม้ไม่ทำก็ต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

4.พร้อมสนับสนุน – ช่วยเหลือ และสนับสนุนให้ลูกน้องประสบความสำเร็จ แบ่งงานให้เหมาะสมทั้งในแง่ปริมาณ และความสามารถ ส่งเสริมให้ลูกทีมได้เติบโตในหน้าที่การงาน ไม่หวงลูกน้องเก่ง ๆ กอดไว้ไม่ยอมให้ไปไหน เพราะกลัวตัวเองต้องเหนื่อยมากขึ้น

5.ส่งเสริมให้เติบโตเป็น best version ของตัวเขาเอง – ไม่มองว่าทุกคนต้องเก่งเหมือนกัน ทำได้เหมือนกัน เพราะคนไม่ใช่หุ่นยนต์ แต่ละคนก็มีจุดเด่นคนละแบบ ในฐานะหัวหน้าต้องมองให้ออกว่าลูกน้องคนไหนมีศักยภาพด้านใด จากนั้นส่งเสริม และสนับสนุนให้เขาได้เติบโต และประสบความสำเร็จใน version ของเขา ไม่ใช่พยายามสร้างเขาให้เป็นเรา

6.หมั่นสำรวจตัวเอง – ผู้นำที่ดีต้องทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าแต่ละวันทำอะไรได้ดี และยังทำอะไรได้ไม่ดีพอ ควรพัฒนาปรับปรุงตนเองในด้านใด เปิดใจรับฟัง และพร้อมนำคำติชมมาแก้ไขปรับปรุงให้ตนเองดีขึ้น

7.ตั้งคำถาม – ไม่ใช่เพื่อจับผิด แต่เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา จะได้แก้ได้ตรงจุด

8.พูดอย่างตรงไปตรงมา – เมื่อลูกน้องทำผิด หัวหน้าที่ดีต้องกล้าตักเตือนอย่างตรงไปตรงมา อย่ากลัวว่าลูกน้องจะเสียใจ หรือไม่ชอบ อย่าพูดอ้อมค้อมเพียงเพื่อต้องการถนอมน้ำใจ ในทางกลับกันก็ไม่ใช่พูดจาก้าวร้าว หรือตำหนิแบบสาดเสียเทเสีย ต้องเรียนรู้ที่จะพูดให้ตรง แต่ไม่แรง

เพราะการเป็นผู้นำไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องหมั่นเพียรเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ