Market-think : ท่องเที่ยว

ภูเก็ต
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

วันก่อน ได้คุยกับน้อง 2 คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่ในภูเก็ต

คนหนึ่งเป็นเจ้าของโรงแรม อีกคนหนึ่งทำธุรกิจส่งอาหารให้โรงแรมที่ภูเก็ต

ถามว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวภูเก็ตเป็นอย่างไรบ้าง

ทั้งคู่บอกว่าดีมาก

อัตราเข้าพักของโรงแรมกลับสู่สถานการณ์ปกติแล้ว

โรงแรมทุกแห่งสั่งอาหารเพิ่มขึ้นเยอะมาก

ที่สำคัญ ขายห้องพักได้ราคาสูงขึ้น

ส่วนหนึ่งเพราะค่าเงินบาทอ่อน เมื่อคำนวณค่าห้องพักจากดอลลาร์เป็นบาทแล้วราคาสูงขึ้น

เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาแล้ว

เพราะตอนครึ่งปีแรกของปี 2562 ก่อนจะเกิดโควิด รายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 17% ของ GDP

กทม. เป็นอันดับที่ 1

“ภูเก็ต” เป็นอันดับที่ 2

รัฐบาลใช้ “ภูเก็ต” เป็นแซนด์บอกซ์ทดลองการเปิดประเทศหลังโควิด

ดังนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มเข้าภูเก็ตจึงเป็นข่าวดีของการท่องเที่ยวไทย

เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ เราต้องการรายได้เข้าประเทศ

ที่ผ่านมาการลงทุนจากต่างชาติไม่ค่อยเท่าไร

ในขณะที่การส่งออกดีมาก ส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินบาทอ่อนเป็นใจ ทำให้ช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงโควิด

ส่วนการท่องเที่ยวนั้นได้รับผลกระทบจาก “โควิด” ตรง ๆ

เพราะคนไม่กล้าเดินทางท่องเที่ยว ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ก็ปิดประเทศ ไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา

แต่พอสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทุกคนก็เฝ้ารอว่าเมื่อไรนักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมา

เพราะในทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเป็นรายได้ที่พลิกกลับได้เร็วที่สุด

ที่สำคัญกระจายไปทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง

ไม่กระจุกตัวเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เงินจะสะพัดอย่างรวดเร็ว

ภาพของนักท่องเที่ยวเต็มสนามบินสุวรรณภูมิจึงเป็นข่าวดีของประเทศไทย

เช่นเดียวกับยอดจองห้องพักโรงแรมที่ภูเก็ต

การท่องเที่ยวเป็น “ความหวัง” เดียวของเศรษฐกิจไทย ที่จะสู้กับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก

โลกจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้

แต่ถ้านักท่องเที่ยวยังเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทยคงได้รับผลกระทบน้อยหน่อย

เมื่อเป็น “ความหวัง” ของหมู่บ้าน รัฐบาลจึงน่าจะโฟกัสที่การท่องเที่ยวอย่างจริงจัง

น่าจะมี “วอร์รูม” เรื่องการท่องเที่ยว

มีอุปสรรคตรงไหนจะได้แก้ไขได้โดยเร็ว

อย่างเช่น ข่าวเรื่องนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นอยากมาเที่ยวไทย แต่ไม่มีตั๋วเครื่องบินขากลับ

เพราะคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นเยอะมาก

เรื่องแบบนี้ควรจะเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน

เพราะเป็น “Good Problem”

การบินไทย หรือสายการบินต่าง ๆ จะเพิ่มเที่ยวบินได้อย่างไร

จะต้องเช่าเครื่องบินหรือต้องทำอะไรก็รีบทำ

มีปัญหาเรื่องเงินทุนก็ต้องเข้าไปอัดฉีด

เพราะสายการบินคือพาหนะที่นำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ

เป็น “จุดเริ่มต้น” ของรายได้
มีปัญหาเรื่องความแออัดที่สนามบินก็ต้องเร่งแก้โดยด่วน

อย่าปล่อยปัญหาให้เป็นเรื่องปกติ

เมื่อจะต้องเหยียบคันเร่งเรื่องการท่องเที่ยว เราก็ต้องควรให้น้ำหนักกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

แต่ขอร้องรัฐบาลว่า อย่าตั้งวอร์รูมเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่เทอะทะ แบบที่ทำเป็นประจำ

ขอเป็นคณะเล็ก ๆ ที่บริหารจัดการแก้ปัญหาได้เร็ว

ผมนึกถึงปรัชญาของคุณเทียม โชควัฒนา ของสหพัฒน์

เร็ว-ช้า-หนัก-เบา

อะไรเร็วควรเร็ว

อะไรช้าควรช้า

อะไรหนักควรหนัก

อะไรเบาควรเบา

เรื่องการท่องเที่ยว เป็นเรื่องที่ควรเร็ว

และให้น้ำหนักเป็นพิเศษครับ