Market-think : มองแบบ “คนนอก”

เศรษฐา ทวีสิน
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

วันก่อน ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในงานดินเนอร์ทอล์กของ “ประชาชาติธุรกิจ”

เป็นครั้งแรกที่คุณเศรษฐาเปิดใจหลังการเลือกตั้ง

พรรคเพื่อไทยที่คาดหมายกันว่าจะเป็นพรรคอันดับหนึ่ง และตั้งเป้าหมายถึงขั้นแลนด์สไลด์ กลับพ่ายแพ้ให้กับพรรคก้าวไกล

ประเด็นที่ผมสนใจ คือ คุณเศรษฐาสรุปบทเรียนอย่างไร

คนที่คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจมายาวนาน เคยผ่านวิกฤติมาหลายครั้งและสามารถนำพา “แสนสิริ” องค์กรที่เต็มไปด้วย “คนรุ่นใหม่” ประสบความสำเร็จ

เขามอง “ความพ่ายแพ้” ครั้งนี้อย่างไร

ในขณะเดียวกัน คุณเศรษฐาเพิ่งก้าวเข้าสู่สนามการเมือง ไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมการเมืองแบบเดิม ๆ

มุมมองของเขาจึงไม่ใช่แบบ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่อยู่ในวงการมายาวนาน

แต่เป็นมุมมองของ “คนใหม่” ที่ไม่ติดกับกรอบเดิม

ผมนึกถึงผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เคยบอกว่า เวลารับคนใหม่เข้ามาทำงาน ถ้าเกิดปัญหาเดินสะดุดอะไรขึ้นมา ให้ตั้งคำถามว่า “คนใหม่” ซุ่มซ่าม

หรือ “คนเก่า” วางของเกะกะ

เพราะการที่ “คนเก่า” ไม่คิดว่าระบบหรือโครงสร้างเดิมมีปัญหา อาจเป็นเพราะเขาคุ้นชินกับระบบและคนเดิม ๆ

เรื่องหนึ่งเคยเซ็นชื่อ 4-5 คน และกว่าจะตัดสินใจใช้เวลาเป็นสัปดาห์

คนเก่าคุ้นกับระบบนี้มานาน จึงไม่ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเซ็นตั้งหลายคนและใช้เวลานานขนาดนี้

แต่ “คนใหม่” จะสงสัยและตั้งคำถาม

คุณเศรษฐาเพิ่งเข้าสู่แวดวงการเมืองกับพรรคการเมืองที่อายุนานกว่า 20 ปี

องค์กรที่เก่าแก่จะสั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

มี “ท่าไม้ตาย” ที่ใช้เป็นประจำ

ยิ่งชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง ย่อมไม่มีใครตั้งคำถามกับกระบวนท่าที่เคยใช้ ว่ายังเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันหรือไม่

การเลือกตั้งครั้งนี้ คุณเศรษฐาก็เดินตามกระบวนท่าเดิมของพรรคเพื่อไทยที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน

แต่ทันทีที่ผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคของคนหนุ่มสาวใช้กระบวนท่าที่แตกต่าง และระบบการหาเสียงแบบใหม่

คุณเศรษฐาเรียกว่านี่คือ wake up call ที่ดังมาก ๆ สำหรับพรรคเพื่อไทย

เขาตั้งคำถามว่า การตั้งเวทีปราศรัยขนาดใหญ่ถึง 150 เวที มีผู้คนมาฟังจำนวนมาก ๆ ยังเป็นวิธีการที่เหมาะสมไหม

หรือว่ามีวิธีการอื่นที่ดีกว่า

เวทีปราศรัยยังมีแบบเดิม แต่ลดจำนวนลง

และให้ความสำคัญกับรูปแบบอื่นบ้างดีไหม

เขาบอกว่า พรรคเพื่อไทยมีวิธีคิดในการแก้ปัญหาประเทศชาติแบบค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง และนำเสนอนโยบายด้านปากท้องเป็นหลัก

เพราะคิดว่าชาวบ้านยากจนมานาน ต้องการให้เศรษฐกิจดี

และพรรคเพื่อไทยมีเครดิตในเรื่องนี้

ในขณะที่พรรคก้าวไกล เสนอแนวคิดแบบ “พลิกฝ่ามือ” เปลี่ยนโครงสร้าง

คุณเศรษฐาสรุปว่า ช่วง 9 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้ทำให้ชาวบ้านโกรธแค้นมากและเริ่มชินกับการใช้จ่ายที่ไม่คล่องตัว

“คนต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ”

สำหรับผมประเด็นนี้คือเรื่องที่น่ากลัวมาก

ลองนึกภาพชาวบ้านที่ยากจน แต่ยอมปฏิเสธเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย และเลือกการรื้อโครงสร้างของพรรคก้าวไกล

พลังความไม่พอใจของชาวบ้านต้องสูงมาก ๆ

และถ้าใครไปทำลาย “ความหวัง” ของเขา

คุณกำลังท้าทายกับ “สึนามิ” การเมือง

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คุณเศรษฐาตั้งคำถามว่า การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างรวดเร็วภายในเวลาคืนเดียวของพรรคก้าวไกลในกรณี “#มีกรณ์ ไม่มีกู”

พรรคเพื่อไทยทำได้ไหม

และถ้าจะทำต้องใช้เวลาตัดสินใจนานเท่าไร

การสรุปบทเรียนที่ดี เราต้องไม่เริ่มต้นด้วยการชี้นิ้วไปที่คนอื่น

โทษคู่ต่อสู้ เพื่อทำให้เราไม่ผิด

บทเรียนที่มีค่าที่สุด คือ การชี้นิ้วเข้าหาตัวเอง

มองข้อบกพร่องของเรา

สรุปบทเรียนแบบนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง

คุณเศรษฐาบอกว่า นับจากนี้เป็นต้นไป เขาจะเข้าไปลุยแบบเต็มตัว

จะรีแบรนด์พรรคเพื่อไทย และปรับวิธีคิดใหม่

ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ประสบการณ์ใน “แสนสิริ” ที่เขาทำงานกับ “คนรุ่นใหม่” น่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคเพื่อไทย

และการเลือกตั้งครั้งหน้าคงสนุกมาก

เพราะคุณเศรษฐาประกาศชัดเจน

“ผมไม่ชอบความพ่ายแพ้”

คำพูดไม่เท่าไร

แต่สายตาของคุณเศรษฐาตอนที่พูดประโยคนี้

รู้เลยว่าเขาเอาจริง