Market-think : ชิมก่อนปรุง

interview
interview
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการรับสมัครคนทำงาน

ซีอีโอบริษัทหนึ่งต้องการผู้บริหารระดับสูง

มีผู้สมัคร 3 คน

เขาใช้วิธีการสัมภาษณ์ด้วยการนัดคุยช่วงอาหารกลางวัน

ซีอีโอสั่งอาหารจานเดียวแบบกินง่าย ๆ อย่างก๋วยเตี๋ยวราดหน้า มากินเพื่อประหยัดเวลา

คุยไป กินไป

หลังจากสัมภาษณ์ครบ 3 คน เขาตัดสินใจเลือกคนที่ 2

หัวหน้าฝ่าย HR ถามซีอีโอว่าทำไมเลือกคนนี้ เพราะตอนที่เขาสัมภาษณ์เบื้องต้นรู้สึกว่าแต่ละคนความสามารถเท่าเทียมกัน

คำตอบของซีอีโอสั้น ๆ

“เขาชิมก่อนปรุง”

เป็น “เรื่องเล่า” นะครับ

แต่คมคายทีเดียว

ถ้าฟังคำตอบของซีอีโอแบบไม่คิดอะไรต่อ ก็เหมือนกับว่าซีอีโอคนนี้ไร้สาระมาก

แค่ “ชิม” อาหารก่อน “ปรุง” ก็ได้รับการคัดเลือกแล้ว

แต่หากอ่านความหมายระหว่างบรรทัด เรื่องนี้น่าสนใจมากครับ

บางทีการคุยกันครั้งนี้ ผู้บริหารแต่ละคนตอบคำถามได้ดีใกล้เคียงกัน จนไม่รู้ว่าจะเลือกใครดี

ซีอีโอก็ใช้วิธีการดูจากพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร

เพราะ “คำพูด” นั้น ใคร ๆ ก็พูดได้

พูดแล้วไม่ทำ

สัญญาแล้วไม่ทำตามสัญญา

เรื่องแบบนี้เราก็เห็นตัวอย่างชัด ๆ กันอยู่แล้ว

เราจึงไม่ควรตัดสินคนจากคำพูดหรือคำสัญญา

และสิ่งที่ดีกว่า “คำพูด” คือ “การกระทำ”

ซึ่งพอดูได้จาก “นิสัย”

ระยะเวลาสั้น ๆ ที่ซีอีโอคนนั้นสังเกตนิสัยของผู้สมัคร ก็คือ ช่วงการรับประทานอาหาร

ผู้สมัคร 2 คน พอก๋วยเตี๋ยวราดหน้ามาวางตรงหน้า เขาก็ตักเครื่องปรุง น้ำตาล น้ำปลา พริกน้ำส้ม ใส่จานทันที

โดยไม่ชิมก่อน

แต่อีกคนหนึ่งเขาชิมก่อน แล้วค่อยเติมเครื่องปรุงให้ได้รสตามที่ต้องการ

ถ้าตีความในมุมของการบริหารงาน

2 คนแรกน่าจะเป็นคนที่ “พูด” มากกว่า “ฟัง”

ลูกน้องยังไม่ทันอธิบายงานให้จบว่าทำถึงไหน จะทำอะไรต่อไป มีปัญหาอะไรบ้าง

พี่ท่านก็วิจารณ์เลย สั่งเลยว่าเขาต้องการอะไร

เหมือนใส่ “เครื่องปรุง” โดยไม่ “ชิม” ก่อน

หรืออีกมุมหนึ่ง แทนที่จะเข้าไปศึกษางานก่อน หาจุดแข็ง จุดอ่อนของทีมงาน แล้วค่อยตัดสินใจ

คู่นี้คงจะลุยเลย ไม่สนใจหาข้อมูลก่อน

ในขณะที่คนที่ “ชิมก่อนปรุง”

น่าจะเป็นคนที่ “ฟัง” ก่อนจะ “พูด”

ศึกษางานก่อนจะสั่งการ

ซีอีโอคนนั้นจึงเลือกคนที่ 2

ย้ำอีกครั้งว่า เรื่องนี้เป็น “เรื่องเล่า”

ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

แต่เป็นเรื่องที่มีมุมคิดน่าตีความ

ซึ่งอาจไม่เป็นจริงตามนี้ก็ได้

แต่ผมขอแนะนำว่า ครั้งหน้าถ้าหัวหน้าชวนไปกินข้าว

ให้คุณ “ชิมก่อนปรุง”

เพราะเรื่องนี้จริงหรือไม่จริงไม่มีใครรู้

แต่หากบังเอิญหัวหน้าดันอ่านบทความชิ้นนี้แล้วเขาเชื่อขึ้นมา

เราจะได้ปลอดภัย