พลังทางบวก

dust
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

เพิ่งได้คุยกับคุณตัน ภาสกรนที เมื่อวันก่อน

เขาเพิ่งลงเครื่องบินที่เชียงใหม่ พอลงปั๊บ ลูกน้องบอกว่าให้ใส่ “หน้ากาก” ด้วย เพราะวันนั้นเชียงใหม่ติดอันดับ 1 เมืองที่มี PM 2.5 มากที่สุดในโลก

ตอนหลังคุณตันไปเชียงใหม่บ่อย เพราะลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่นี่หลายแห่ง

รู้ฤทธิ์เดชของ PM 2.5 ดีมาก

ช่วงเย็นเขาไปกินข้าวกับข้าราชการระดับสูงคนหนึ่ง และคุยกันเรื่องเจ้าฝุ่นพิษ

ข้าราชการคนนั้นเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ดาวเทียมสามารถจับจุดความร้อน หรือ “ฮอตสปอต” ได้ทุกพื้นที่

ที่ไหนมีการเผาป่าหรือไฟป่าจะรู้ได้ทันที

และมีสถิติด้วยว่า ปีที่แล้ววันนี้มีจุดความร้อนเกิดขึ้นกี่จุดที่จังหวัดนี้

ละเอียดถึงระดับหมู่บ้านเลย

คุณตันฟัง-ฟัง-ฟัง แล้วก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมา

เขามองว่าการแก้ปัญหานั้นน่าจะทำทั้ง 2 ทาง คือ การลงโทษและการให้รางวัล

การจับกุมหรือลงโทษทางกฎหมายก็ต้องมี เพื่อให้คนเกรงกลัวไม่กล้าเผา

แต่การให้รางวัลแก่คนที่ทำดี ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจ หรือ “พลังทางบวก” ทางหนึ่งที่น่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเผาป่าได้เช่นกัน

ตอนนี้ทางจังหวัดเชียงใหม่มีการให้รางวัล 10,000 บาท สำหรับคนที่แจ้งเบาะแสจนสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ ก็ถือเป็นการใช้ “แรงจูงใจ” แบบหนึ่ง

ใช้ “บวก” จัดการ “ลบ”

แต่คุณตันคิดแบบภาคเอกชนที่คล่องตัวกว่า

เขาคิดโจทย์ง่าย ๆ ว่า ถ้าทุกหมู่บ้านช่วยกันดูแลพื้นที่ของตัวเอง รณรงค์ไม่ให้คนเผาป่า

หรือเจอไฟป่าที่ไหนก็ช่วยกันดับไฟ

ปัญหาเรื่องฝุ่นพิษที่เกิดจากในจังหวัดเชียงใหม่ก็น่าจะลดลงบ้าง

แม้มีคนบอกว่าท้องฟ้าไม่มีเส้นแบ่งจังหวัด

ถ้ามีคนเผาป่าที่จังหวัดอื่น หรือประเทศอื่น ลมพัดเข้ามา เชียงใหม่ก็เจอฝุ่นพิษเหมือนกัน

แต่คุณตันคิดว่า อะไรที่ควบคุมไม่ได้ เราแก้ไขไม่ได้ก็ช่างมัน

ทำในสิ่งที่เราทำได้ก่อน

เขาจึงคิดแคมเปญเพิ่มแรงจูงใจให้คนควบคุมการเผาป่า หรือช่วยดับไฟป่าขึ้นมา

หมู่บ้านไหนดูแลพื้นที่จนสามารถลดจุดเผาไหม้ลงได้ 80% เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว

รับ “คำขอบคุณ” เป็น “เงินสด” ไปเลย 100,000 บาท

เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม-30 เมษายน

เขาเริ่มต้นที่ 2 อำเภอก่อน คือ อำเภอแม่ริม และหางดง รวมทั้งหมด 69 หมู่บ้าน

ถือเป็นโครงการนำร่องก่อนในปีนี้

เพราะระยะเวลาเตรียมการน้อยมาก

พอคิดได้ก็ประสานกับทางจังหวัด และชวนผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านมาร่วมโครงการนี้ด้วยกัน

ถ้ามองเป็นเกมก็ถือว่าเป็น “เกมทางบวก” ที่ดีมาก

กติกาง่าย ๆ คือ ทุกหมู่บ้านแข่งกันดับไฟ ใครดับได้ถึง 80% ก็รับรางวัลเงินแสนไปเลย

เป็นการแข่งกับตัวเอง

คือแข่งกับสถิติเก่าเมื่อปีที่แล้วของตัวเอง

การเลือกระดับหมู่บ้านนั้นดีตรงที่พื้นที่ไม่กว้างนัก คนรู้จักกันหมด บอกให้ช่วยกันได้ง่าย

เพราะทุกคนก็รักหมู่บ้านตัวเอง ไม่อยากให้มีใครสร้างฝุ่นพิษในพื้นที่อยู่แล้ว

ส่วนเงินรางวัล 1 แสนบาทก็เป็น “แรงจูงใจ” ที่เหมาะสม เพราะสามารถเอาไปพัฒนาหมู่บ้านได้เลย

นึกเล่น ๆ ว่าถ้าเกมนี้ได้ผล สามารถลด “จุดเผาไหม้” ได้ถึง 80% ในปีนี้

ปีหน้าก็สามารถขยายผลไปทั้งจังหวัดได้

แต่คุณตันคนเดียวคงจะไม่ไหว

เพราะเชียงใหม่มีทั้งหมด 25 อำเภอ 2,066 หมู่บ้าน

หมู่บ้านละแสน ก็ 206 ล้านบาท

โครงการนี้ถือเป็น “ต้นแบบ” ของ “พลังทางบวก” จะได้ผลหรือไม่ได้ผล สิ้นเดือนเมษายนก็รู้

ถ้าได้ผลก็น่านำไปพัฒนาต่อ

เพราะจริง ๆ แล้วเรื่อง PM 2.5 เป็นปัญหาใหญ่มากของ “เชียงใหม่” ที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว

แต่ “เชียงใหม่” มีชื่อติดอันดับ 1 ของเมืองที่มี PM 2.5 สูงสุดในโลก ในบางวัน

นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวก็ต้องคิดมากหน่อย

ฤดูท่องเที่ยวของเชียงใหม่ คือ ช่วงฤดูหนาว ปีใหม่ และสงกรานต์

ถ้าปล่อยให้ปัญหา PM 2.5 กลายเป็นปัญหาประจำฤดูกาล

มันจะทำลายการท่องเที่ยวของเชียงใหม่พังยับเยิน